ม.มหิดลสร้างสรรค์และพัฒนาเครื่องกำจัดขยะอินทรีย์จากวัสดุเหลือทิ้ง 

ม.มหิดล สร้างสรรค์และพัฒนาเครื่องกำจัดขยะอินทรีย์จากวัสดุเหลือทิ้ง สู้วิกฤติ COVID-19 และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด ทำให้ประชาชนต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อ ซึ่งปัญหาเรื้อรังของทุกชุมชนในช่วงหน้าฝน หนีไม่พ้นเรื่องการกำจัดขยะอินทรีย์

อาจารย์ ดร.นรินทร์ บุญตานนท์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม(Center and Technology Development for Environmental Innovation – REi) คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ค้นพบทางออกสำหรับปัญหาการกำจัดขยะอินทรีย์ของครัวเรือน 

โดยได้ประดิษฐ์ “เครื่องกำจัดขยะอินทรีย์ภายในครัวเรือนเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม” ได้กล่าวถึงธรรมชาติของการย่อยสลายขยะอินทรีย์ มีความแตกต่างกันตามลักษณะของขยะแต่ละประเภท ซึ่งปัญหาขยะ ณ บางจุดทิ้งส่งกลิ่น เนื่องจากเกิดการตกค้าง รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ยังคงขาดความรู้เรื่องการจัดการกับขยะอย่างเหมาะสม

ทางเลือกสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ จากการรู้วิธีการจัดการกับขยะอินทรีย์ คือ “การตัดตอน” ปัญหาการตกค้างของขยะของอินทรีย์ ด้วยเครื่องกำจัดขยะภายในครัวเรือน จาก “วัสดุเหลือทิ้ง” ที่นอกจากจะเป็นการนำทรัพยากรกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ยังสามารถช่วยในการย่อยสลายภายในระยะเวลาก่อนที่ขยะจะแปรสภาพส่งกลิ่น

“วัสดุเหลือทิ้ง” ที่ อาจารย์ ดร.นรินทร์ บุญตานนท์ เลือกนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องกำจัดขยะอินทรีย์ภายในครัวเรือน ได้แก่ ถังแก๊สรถยนต์ และถังหุงต้ม ที่สามารถหาได้ทั่วไปตามครัวเรือน และร้านขายของเก่า โดยได้นำมาติดอุปกรณ์ที่จะสามารถเติมออกซิเจนให้กับขยะ เพื่อลดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ จากการย่อยสลายของเชื้อจุลินทรีย์ในขยะ รวมทั้งได้ติดตั้งเครื่องตั้งเวลา (Timer) เพื่อให้กระบวนการย่อยสลายเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องตามเวลาที่กำหนด

8DD0043A 18EE 4F71 9C95 E42945CB6807

ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการกำจัดขยะอินทรีย์ คือ วัสดุที่จะช่วยดูดซับความชื้นจากขยะ เพื่อให้กระบวนการย่อยสลายตามที่ผู้ประดิษฐ์ได้ออกแบบไว้เป็นไปโดยสมบูรณ์ ซึ่งนอกจากจะสามารถใช้ “ขี้เลื่อย” ที่ผ่านการทดลองแล้วพบว่าได้ผลดีที่สุดแล้ว ยังสามารถใช้ “ก้อนเชื้อเห็ด” ที่หมดอายุแล้ว หรือจะใช้ “ขุยมะพร้าว” ผสมกับ “ทางมะพร้าวสับ” ตลอดจนใบไม้แห้งบดละเอียด ในอัตราส่วนขยะ 1 ส่วน ต่อวัสดุดูดซับ 1 ส่วน ก็ย่อมสามารถนำมาใช้ได้

อาจารย์ ดร.นรินทร์ บุญตานนท์ อธิบายว่า ผลงานที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้เป็นเครื่องช่วยในการย่อยสลายขยะไม่ใช่เครื่องทำปุ๋ย โดยสามารถใช้ได้กับขยะอินทรีย์ในลักษณะที่เป็นกาก ทั้งดิบและสุก ไม่ว่าจะเป็นเศษผัก หรือผลไม้ หรือก้างปลา ซึ่งหากมาในลักษณะที่เป็นน้ำ ควรมีการกรองเอาน้ำออกก่อน หรือถ้าเป็นขยะอินทรีย์ชิ้นใหญ่ เช่นกระดูกสัตว์อื่นๆ ก็สามารถใช้ได้หากสามารถทำให้เป็นชิ้นเล็กก่อน ซึ่งกระบวนการย่อยสลายอยู่ที่ภายใน 48 ชั่วโมง โดยผู้ใช้สามารถเติมขยะลงในเครื่องได้ โดยขี้เลื่อยหรือวัสดุดูดซับความชื้น สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะถึงเวลาจะต้องเปลี่ยนถ่ายภายในถังจากการเสื่อมสลายของวัสดุ

3FD80BE9 880E 4C94 BA03 048ED206CE70

จุดมุ่งหมายสำคัญของการสร้างสรรค์นวัตกรรม คือ การส่งเสริมแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ(Entrepreneur)ให้กับนักศึกษา ซึ่งจะได้เรียนรู้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต และพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ โดยไม่ได้มุ่งหวังที่ผลกำไรเป็นตัวตั้ง

อาจารย์ ดร.นรินทร์ บุญตานนท์ มองว่าในฐานะที่เป็นอาจารย์ที่สอนด้านสิ่งแวดล้อม การปลูกฝังเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ได้เกิดจากเพียงการสอน แต่เกิดจากการให้นักศึกษาได้ลงมือทำด้วยตัวเองเพื่อจะได้สามารถนำไปถ่ายทอด และขยายผลต่อไปได้ 

ซึ่งการจัดการกับขยะที่ยั่งยืนจะต้องจัดการที่ต้นทาง โดยที่ผ่านมาทีมวิจัยได้ออกแบบขนาดถังของเครื่องกำจัดขยะอินทรีย์ตามความต้องการของผู้ใช้ โดยได้มีการทดลองนำไปใช้อย่างเห็นผลแล้วในชุมชนตลอดจนตามโรงเรียนต่างๆ และได้พิสูจน์แล้วถึงประโยชน์ที่ตอบโจทย์สังคม จากการสามารถคว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น รางวัลระดับดี สาขาสังคมวิทยา ที่ผ่านมา

ก้าวต่อไป ทีมวิจัยเตรียมขยายผลเพื่อใช้จัดการกับอาหารภายในโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเหลวสำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่มักพบอุปสรรคในการนำไปกำจัด โดยอาจนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการจัดการกับอาหารเหลวสำหรับผู้ป่วยติดเตียงตามครัวเรือนได้ต่อไปอีกด้วย