ประมงโชว์ผลงานวิจัยใหม่ 143 เรื่องจัดเต็มประชุมวิชาการออนไลน์

กรมประมง จัดการประชุมวิชาการประมง ประจำปี 2565 ภายใต้หัวข้อ “วิจัยการประมงสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG” ระหว่างวันที่ 18 – 21 กรกฎาคม 2565 เปิดคลังโชว์สุดยอดผลงานวิจัย นวัตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยในปีนี้มีนักวิจัยจากทางภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงนักวิจัยอิสระ ได้นำเสนอผลงานสู่สาธารณชนทั้งภาคบรรยายและโปสเตอร์ รวม 143 เรื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็น อันจะนำไปสู่แนวทางการพัฒนางานวิจัยด้านการประมงให้มีคุณภาพและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป 

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงานประชุมวิชาการประมง ประจำปี 2565 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องประชุมพะยูน อาคารจุฬาภรณ์ว่ากรมประมงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลงานวิจัย และนวัตกรรมใหม่ ๆ ทุกสาขาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปประยุกต์ใช้สำหรับการพัฒนาภาคการประมงของประเทศให้ก้าวหน้าในทุกมิติ 

อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าประมงเพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงวิถีความเป็นอยู่ของผู้เกี่ยวข้องในภาคการประมง เพื่อให้การประกอบอาชีพเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง 

24213868 18E6 4A6B BFAB 0925B0E82E24

สำหรับการประชุมวิชาการ ประจำปี 2565 กรมประมงได้จัดประชุมวิชาการขึ้นในรูปแบบออนไลน์ภายใต้หัวข้อ “วิจัยการประมงสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG” โดยมุ่งเน้นการสร้างสรรผลงานวิจัยที่สร้างความสมดุลให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตไปควบคู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีการทำประมงให้ทันสมัยและใช้ทรัพยากรประมงอย่างคุ้มค่านำสิ่งเหลือใช้ทางการประมงกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดและไม่ก่อให้เกิดมลพิษ 

ภายในงานแบ่งผลงานวิจัยออกเป็น 9 สาขา ประกอบด้วย สาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด สาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สาขาการประมงทะเล สาขาอาหารสัตว์น้ำ สาขาโรคสัตว์น้ำ สาขาพันธุกรรมสัตว์น้ำ สาขาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ สาขาการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมประมง และสาขาเศรษฐกิจ สังคม และต่างประเทศ  มีผลงานวิจัยทั้งหมด 143 เรื่อง แบ่งเป็นการนำเสนอภาคบรรยาย 85 เรื่อง และโปสเตอร์ 58 เรื่อง  

480447DB 3200 4D48 9330 00A0CB9B3433

โดยมีหัวข้องานวิจัยที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การพัฒนาแพลตฟอร์มปลาแห่งสยามเพื่อเป็นศูนย์กลางตลาดอิเล็กทรอนิกส์และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับปลาสวยงาม ศึกษาการใช้เทคโนโลยีควบคุมระบบเติมอากาศอัจฉริยะและพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดต้นทุนการผลิตกุ้งขาวแวนนาไมแบบพัฒนา การสกัดคอลลาเจนจากเกล็ดปลานวลจันทร์ทะเล การผลิตแม่พันธุ์ Superfemale (WW) ในปลาหมอ ฯลฯ 

นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “วิจัยการประมงสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG” โดยนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการพัฒนางานวิจัยในเชิงเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานการนำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เพื่อพัฒนาภาคการประมงให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารและสร้างรายได้ นำไปสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมตามแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อน

B4EF9AFA 82FC 4615 BFD7 09D40F116F69

การพัฒนาประเทศไทย ด้วยโมเดล BCG พ.ศ.2565 ในสาขาเกษตรภาคการประมงเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2564 เห็นชอบให้มีการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG และเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป  

โดยในส่วนของกรมประมงนับเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนและขับเคลื่อนให้การดำเนินงานในภาคการประมงเดินไปสู่การเติบโตอย่างสมดุลและมีเสถียรภาพ รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น รวมถึงไปการอนุรักษ์ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน 

828C80D9 CD1B 466E B9D1 4C5AD167754E
F745D3EE 3047 48F2 8811 66D1EA772970

อธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับการประชุมวิชาการปีนี้ กรมประมงได้ปรับรูปแบบการจัดงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาเผยแพร่ผลงานวิจัยให้มีรูปแบบที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยได้ถ่ายทอดสดผ่านระบบ ZOOM Meeting และ YouTube Channel สถานีประมงต้นแบบ 

และ Facebook : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง ซึ่งจากรายงานพบว่าการจัดประชุมวิชาการประจำปี 2565 ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ให้ความสนใจ อาทิ บุคลากรกรมประมง คณาจารย์นักวิจัย เกษตรกรชาวประมง ผู้ประกอบการภาคประมง นักศึกษา บุคลากรจากภาคเอกชน และประชาชนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมงานประชุมอย่างเป็นทางการกว่า 800 คน