เที่ยวบินผลไม้หนุน ‘ทุเรียนไทย’ สดใหม่ส่งถึง ‘กุ้ยโจว’ ในไม่กี่ชั่วโมง

ราชาแห่งผลไม้อย่าง “ทุเรียน” เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมากด้วยรสชาติอร่อยเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งผู้บริโภคในมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนสามารถรับประทานทุเรียนสดจากไทยได้อย่างสะดวกด้วยความช่วยเหลือจากเครือข่ายเส้นทางบินขนส่งสินค้าที่พัฒนาดีขึ้น

69999774410 1



เมื่อไม่นานนี้ มีเที่ยวบินขนส่งทุเรียนสดจากไทย 18 ตัน เดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงท่าอากาศยานนานาชาติกุ้ยหยาง หลงต้งเป่า ในเมืองกุ้ยหยางของมณฑลกุ้ยโจว โดยทุเรียนสดชุดนี้ถูกขนย้ายสู่พื้นที่ตรวจสอบด้วยรถบรรทุกหลังจากเครื่องบินลงจอดได้ 3 นาที และขนส่งสู่ตลาดผู้บริโภคท้องถิ่นทันทีหลังจากผ่านพิธีการศุลกากร

CbkthzH007021 20250504

การพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกุ้ยโจวกับไทยอย่างต่อเนื่องช่วยให้ทุเรียนไทยหลั่งไหลสู่ตลาดกุ้ยโจวโดยตรง โดยมีท่าอากาศยานฯ เป็นศูนย์กลางการบินที่รับรองการขยายเส้นทางบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเส้นทางบินขนส่งสินค้ากุ้ยหยาง-กรุงเทพฯ ที่เปิดให้บริการเดือนเมษายนที่ผ่านมา

เส้นทางบินขนส่งสินค้ากุ้ยหยาง-กรุงเทพฯ ใช้เวลาบินราว 3 ชั่วโมง ทำการบิน 3 เที่ยวต่อสัปดาห์ ซึ่งจะเพิ่มความถี่หลังจากเดือนพฤษภาคม และแต่ละเที่ยวบินขนส่งทุเรียนไทยราว 18 ตัน โดยนี่สะท้อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกุ้ยโจวกับประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าปริมาณทุเรียนนำเข้าจากไทยตรงสู่กุ้ยโจวในปีนี้จะอยู่ที่ราว 500 ตัน เมื่อนับถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเกือบ 40 ล้านหยวน (ราว 183 ล้านบาท)

บริษัทค้าขายผลไม้รายใหญ่ในท้องถิ่นมณฑลกุ้ยโจวเผยว่าการเปิด “เที่ยวบินผลไม้” นี้เป็นประโยชน์กับผู้ค้าอย่างมาก เมื่อก่อนต้องนำเข้าทุเรียนไทยผ่านด่านในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) และอื่นๆ ซึ่งการขนส่งทางบกและทางทะเลใช้เวลานาน แต่เที่ยวบินนี้เร็วกว่าการขนส่งทางบก 3-5 วัน และเร็วกว่าทางเรือ 7-10 วัน

ท่าอากาศยานฯ จะวางแผนเพิ่มเส้นทางบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการนำเข้าผลไม้เมืองร้อน เช่น มังคุด ชมพู่ และน้อยหน่า จากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไทยนำสู่การเพิ่มพูนความหลากหลายของ”ตะกร้าผลไม้” ในมือผู้บริโภคชาวกุ้ยโจว.

ข้อมูลสถิติศุลกากรกุ้ยหยางระบุว่าการนำเข้าผลไม้ของกุ้ยโจวในปี 2024 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 470 ล้านหยวน (ราว 2.15 พันล้านบาท) และคาดว่าปริมาณการค้าผลไม้ระหว่างกุ้ยโจวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2025 จะสูงเกิน 50,000 ตัน

(แฟ้มภาพซินหัว : ร้านจำหน่ายผลไม้แห่งหนึ่งในเมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน จำหน่ายทุเรียนที่ขนส่งทางอากาศมาจากไทย)

S 12935229