คำมั่นสัญญา…ฟื้นกุ้งไทย 400,000 ตัน 

เจาะกลางใจโดย..ขุนพิเรนทร์ 

ท่านอธิบดีกรมประมง เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ เป็นอธิบดีที่ “ขุนพิเรนทร์” ได้มีโอกาสติดตามและดูผลงานมาเป็นระยะ ก่อนที่ท่านจะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประมงด้วยซ้ำ

พอได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ “ขุนพิเรนทร์” ได้มีโอกาสพบท่านในวันแถลงนโยบาย คำถามแรกและคำถามเดียวที่ถามท่านคือ..2 ปี ในตำแหน่งอธิบดีกรมประมง (ท่านเกษียณ ปี 66) ความตั้งใจจะทำอะไรให้สำเร็จให้ได้❓

คำตอบของท่านอธิบดีในวันนั้น คือ..ผมจะฟื้นกุ้งไทยให้กลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิมให้ได้ เป้าหมาย400,000 ตัน จะต้องทำให้สำเร็จก่อนเกษียณ หรือ ทำให้สำเร็จในปี 2566

ขุนพิเรนทร์ รับฟังด้วยความตั้งใจและจดจำเรื่องนี้เข้าสู่โหมด “คำมั่นสัญญา”

“กุ้งไทย” เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เราเคยยืนหนึ่งของโลกในการส่งออกกุ้ง เราผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความสำเร็จและความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน การประกาศให้ไทยหวนกลับสู่สนามกุ้งโลกด้วยเป้าหมายผลิตกุ้งมากถึง 400,000 ตัน นับเป็นความกล้าหาญ และตั้งใจอย่างแน่วแน่

🎙มั่นใจแค่ไหนครับ…ว่าจะทำได้ ❓

ท่านอธิบดีตอบว่า..มั่นใจครับและต้องพยายามอย่างสุดความสามารถไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้…”

จากวันนั้น..จนถึงวันนี้ วันที่ข่าวเรื่องกุ้งหวนคืนสู่หน้าสื่ออย่างเผ็ดร้อน จากการที่กรมประมงอนุญาตให้มีการนำเข้ากุ้งสู่อุตสาหกรรมแปรรูปกุ้ง

คำถามของเกษตรผู้เลี้ยงกุ้ง ถือว่าแหลมคมอย่างยิ่ง นำกุ้งเข้ามาแล้วเกษตรกรจะเดือดร้อนหรือไม่จะทำให้ราคากุ้งตกต่ำหรือเปล่า และมีการควบคุมมาตรฐานการนำเข้าแค่ไหน

เรื่องนี้..นักวิชาการอิสระโยนระเบิดมาที่กรมประมง ปูดข่าวการนำเข้ากุ้งอินเดียและเอกวาดอร์ จนกรมประมงต้องออกมายอมรับว่า ได้อนุญาตให้มีการนำเข้ามาเพื่อแปรรูปและส่งออก มานานกว่า 5 เดือนเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ทั้งในแง่ของความรู้สึกของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง กุ้งไทยมีปริมาณน้อยมากจนต้องนำเข้ามาใช่หรือไม่ เราไม่มีศักยภาพขนาดนั้นเลยหรือ

ที่สำคัญคือคุณภาพของกุ้งจากอินเดียและเอกวาดอร์ ที่มีประวัติไม่สู้จะดีนักทั้งเรื่องของโรคและการถูกแบนจากต่างประเทศ 

แม้จะมีคำตอบจากกรมประมง “การอนุญาตให้ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปสามารถนำเข้ากุ้งทะเลจากเอกวาดอร์และอินเดีย ทางกรมประมงยืนยันว่าไม่กระทบต่อราคากุ้งในประเทศอย่างแน่นอนเพราะเป็นการอนุญาตให้เฉพาะช่วงเวลาที่ผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอการแปรรูปเท่านั้น

ส่วนเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ทางกรมได้ดำเนินการอย่างรัดกุม มีการประเมินระบบการควบคุมโรคของทั้ง 2 ประเทศ ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลแช่แข็งสำหรับการส่งออกมายังประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคข้ามพรมแดนอย่างเด็ดขาด”

วันนี้หินก้อนใหญ่ ถูกโยนออกมาพร้อมด้วย คำแถลงจากรองโฆษกรัฐบาล ดร.รัชดา ธนาดิเรก 

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพการผลิตกุ้งทะเลของเกษตรกร และพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ 

ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯได้กำหนดกลไกขับเคลื่อนการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลไทย ตั้งเป้า 4 แสนตันในปี 2566 ผ่านคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) และคณะทำงานแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งทะเล ระดับพื้นที่ครอบคลุม 35 จังหวัดที่มีการเลี้ยงกุ้งทะเล 

มุ่งเป้าเกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพและรายได้ รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องเติบโต และเมื่อเราสามารถเพิ่มผลผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมแปรรูป ก็ไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศอีกต่อไป”

ถึงตรงนี้..”ขุนพิเรนทร์” อดเป็นห่วงไม่ได้ ทุกอย่างวนกลับมาที่ “คำมั่นสัญญา” ที่ท่านอธิบดีต้องเร่งมือให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ฟื้นกุ้งทะเล 400,000 ตัน ไม่เช่นนั้นหากนำเข้าแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เกษตรกรจะตั้งคำถามตัวใหญ่ๆ  เกษตรกรเลี้ยงกุ้งอยู่ตรงไหน❓ดีไม่ดีคิดไปไกลว่าราชการเอื้อนายทุนแปรรูปกุ้ง‼️

กุ้งไทยครั้งนี้…หนักหนายิ่งนัก

กรมประมงถึงเวลาต้องวิ่งสู้ฟัดแล้วหละครับ