วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 – นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ในช่วงฤดูกาลผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก โดยได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเร่งระบายผลไม้ภายในประเทศและผลักดันการส่งออกอย่างเป็นระบบ
นางสาวแพทองธาร เปิดเผยว่า “รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาผลผลิตล้นตลาด โดยเฉพาะมะม่วง มังคุด เงาะ และทุเรียน จึงมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงยุติธรรม และภาคเอกชน เร่งดำเนินแผนรับซื้อผลไม้จากเกษตรกรในแหล่งผลิต พร้อมขยายการจำหน่ายในประเทศผ่าน 4 แนวทางสำคัญ ได้แก่ การรับซื้อเพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภค รับซื้อเพื่อกิจกรรม CSR รับซื้อเพื่อบริโภคในองค์กร รับซื้อโดยหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมราชทัณฑ์ เพื่อนำไปประกอบอาหาร
โดยวันนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน 9 กลุ่ม 27 ราย ในการรับซื้อผลไม้รวม 103,760 ตัน โดยมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมฯ สมาคมผู้ค้า-ส่งออกผลไม้ไทย และเอกชนรายใหญ่อย่าง บ.สหพัฒนพิบูล จำกัด บ.ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด รับซื้อผลไม้รวมปริมาณกว่า 55,500 ตัน ด้านห้างค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ รับซื้อผลไม้กว่า 34,450 ตัน ปั๊มน้ำมัน ตู้เต่าบิน ไปรษณีย์ไทย หน่วยงานรัฐและมูลนิธิต่าง ๆ อีกรวม 13,810 ตัน
รัฐบาลขอขอบคุณพันธมิตรภาคเอกชนที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ในปีนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ”นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีกิจกรรมกระตุ้นการบริโภคผลไม้ในประเทศ เพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้เกษตรกร ยกระดับราคาผลไม้ให้เหมาะสมอย่างทั่วถึงตลอดฤดูกาลโดยรณรงค์บริโภคผลไม้ผ่านสื่อโซเชียล โดย KOL ที่มีชื่อเสียง เพื่อขยายฐานผู้บริโภค รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริม เช่น การประกวดเมนูอาหารจากผลไม้สดและนวัตกรรม งาน Thai Fruits Festival ซึ่งคาดว่าจะช่วยระบายผลไม้ในประเทศได้กว่า 346,500 ตัน จากเป้าหมายรวม 730,000 ตัน
ในส่วนของมาตรการการส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศ ปี 2568 รัฐบาลตั้งเป้าการส่งออก ปริมาณ 4.13 ล้านตัน (+120,000 ตัน : +3%) มูลค่า 8,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+170 ล้านเหรียญสหรัฐฯ : +2%) หรือ 308,000 ล้านบาท (+2,200 ล้านบาท : +2%) โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างประเทศจีน รัฐบาลได้มีมาตรการด้านการสร้างความเชื่อมั่นผลผลิต โดยรัฐบาลเร่งผลักดันการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP และตั้งศูนย์ “Set Zero” เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพผลไม้ไทย รวมถึงจัดตั้ง War Room เพื่อขับเคลื่อนการส่งออกอย่างเร่งด่วน พร้อมจัดชุดเฉพาะกิจเจรจากับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งล่าสุดสำนักงานศุลกากรจีน (GACC) ได้ประกาศลดระดับการสุ่มตรวจสาร BY2 สำหรับทุเรียนไทยที่มีระบบจัดการดี มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม ถือเป็นผลสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ สำหรับตลาดต่างประเทศ รัฐบาลวางกลยุทธ์เจาะ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มตลาดศักยภาพ 7 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร กลุ่มตลาดส่งเสริมภาพลักษณ์ 2 ภูมิภาค คือ ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ผลไม้ไทย กลุ่มตลาดที่สะดวกต่อการขนส่ง 4 ประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งสามารถขยายการส่งออกผ่านระบบโลจิสติกส์ที่มีต้นทุนต่ำ
นอกจากนี้ ภาครัฐจะดำเนินการส่งเสริมการขายผลไม้ไทยในต่างประเทศ ผ่านการร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (Trade Fairs) และการส่งเสริมการขายในต่างประเทศ (Trade Promotion) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและขยายตลาดผลไม้ไทยให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
“ผลไม้ไทยคือสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นเอกลักษณ์ รัฐบาลจะเดินหน้าเต็มที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกรไทยได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมและมั่นคง” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของ มาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2568 โดยมีเป้าหมาย : 950,000 ตัน ประกอบด้วย 7 มาตรการ 25 แผนงาน
1. มาตรการสร้างความเชื่อมั่นผลผลิต 4 แผนงาน
2. มาตรการส่งเสริมตลาดในประเทศ 8 แผนงาน เป้าหมาย 730,000 ตัน
3. มาตรการส่งเสริมการแปรรูปและปรับพื้นที่เกษตรให้เหมาะสม 2 แผนงาน เป้าหมาย 220,000 ตัน
4. มาตรการส่งเสริมตลาดต่างประเทศ 4 แผนงาน
5. มาตรการยกระดับสินค้าผลไม้ไทย 3 แผนงาน
6. มาตรการแก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวกการค้า 2 แผนงาน
7. มาตรการกฎหมาย 2 แผนงาน