นายถาวร ทันใจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมกล่าวเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเริ่มต้นการจัดทำแผนแม่บทการพลิกโฉมระบบอาหารและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “National Inception Workshop : The Convergence Initiative” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤษภาคม 2568 โดยมี นายสเตฟานอส โฟทิอู ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานระบบอาหารแห่งสหประชาชาติ (Mr. Stefanos Fotiou : Director of the UN Food Systems Coordination Hub) นางมิคาเอลา ฟริแบร์ก-สตอรีย์ ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (Ms. Michaela Friberg-Storey : United Nations Resident Coordinator in Thailand) นายโรเบิร์ต ซิมป์สัน รองผู้แทนระดับภูมิภาค องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Mr. Robert Simpson : Deputy Regional Representative of the FAO Regional Office for Asia and the Pacific) และ ฯพณฯ นายเรมโก ฟาน ไวน์ฮาร์เดน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย (H.E. Mr. Remco van Wijngaarden : Ambassador of the Kingdom of the Netherlands) ร่วมกล่าวเปิดการประชุมฯ พร้อมด้วย ผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ โรงแรมอมารี กรุงเทพฯ ว่า สำหรับโครงการ The Convergence Initiative มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การปฏิรูประบบเกษตรและอาหารสอดคล้องกับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งสร้างความสามารถในการฟื้นตัวและความเข้มแข็งของระบบเกษตรและอาหารให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจ หรือสาธารณสุข อีกทั้งมีการกระจายรูปแบบการผลิตและลงทุนในเกษตรอัจฉริยะที่สามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศได้ (climate-smart agriculture)
นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาระบบอาหารที่มุ่งเน้นผู้คนที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและยึดหลักความยั่งยืน ทั้งนี้ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการบูรณาการประเด็นดังกล่าวเข้ากับนโยบายระดับชาติ โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางอาหาร และการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และ ความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมถึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการลดความซ้ำซ้อนของแผนงานและโครงการต่าง ๆ ระดับโลก พร้อมส่งเสริมการประสานงานเชิงนโยบายอย่างสอดคล้อง ภายใต้กรอบการดำเนินงานร่วมกัน
“ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การเปลี่ยนผ่านระบบอาหารอย่างเร่งด่วนและครอบคลุม โดยอาศัยเกษตรอัจฉริยะที่รับมือกับสภาพภูมิอากาศ และสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกรรายย่อย และพันธมิตรระดับสากล ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในความพยายามระดับโลก โดยมีการประยุกต์สองประเด็นสำคัญแห่งยุค ได้แก่ การปฏิรูประบบเกษตรและอาหาร และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องสำหรับโครงการนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เผชิญกับความท้าทายในระบบเกษตรและอาหารมีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมด้านการเกษตร การใช้ที่ดิน และกิจกรรมอื่น ๆ ในขณะเดียวกัน ระบบเหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม หรือการเสื่อมโทรมของที่ดิน ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร พร้อมทั้งเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย