
วันที่ 20 พฤษภาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันผึ้งโลก” (World Bee Day) โดยสหประชาชาติเพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของผึ้งต่อระบบนิเวศและความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ วันผึ้งโลก จึงเป็นโอกาสที่ดีในการตระหนักถึงความสำคัญของผึ้งต่อระบบนิเวศและความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ เป็นโอกาสให้ทุกคนเข้าใจบทบาทและความสำคัญของผึ้ง ในการขับเคลื่อนระบบนิเวศ และสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยปี 2025 FAO ได้กำหนดธีมวันผึ้งโลก คือ inspired by nature to nourish us all(ผึ้ง ผู้ก่อกำเนิดธรรมชาติ เพื่อหล่อเลี้ยงทุกสรรพสิ่ง)

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการจัดการทรัพยากรทางการเกษตรสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ขับเคลื่อนนโยบาย ดังกล่าวและมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนในระบบเกษตรกรรมและอาหาร และความสมดุลของระบบนิเวศของโลก มุ่งเน้นการรักษาสมดุลทางธรรมชาติ โดยเฉพาะแมลงเศรษฐกิจ เช่น ผึ้งและแมลงผสมเกสรอื่นๆ ซึ่งจากงานวิจัยหลายสถาบันยืนยันว่ากว่า 75% ของพืชที่มนุษย์ใช้เป็นอาหารจำเป็นต้องอาศัยผึ้งและแมลงผสมเกสรอื่น ๆ ในกระบวนการผสมเกสร เพื่อให้พืชออกดอก ติดผล และสามารถขยายพันธุ์ได้ โดยเฉพาะพืชที่มีดอกแยกเพศ หรือพืชที่ต้องการการถ่ายเกสรระหว่างต้น เช่น สละ ต้องการผึ้งช่วยผสมเกสรระหว่างดอกเพศผู้และเพศเมีย ลำไย ช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตและคุณภาพของผล รวมถึงกาแฟ ช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพได้ถึง 40% หากไม่มีผึ้ง การผลิตอาหารจะลดลงอย่างมาก รวมถึงบทบาทในการช่วยเพิ่มคุณภาพของผลผลิต เช่น ทำให้ผลไม้มีรูปทรงสวย น้ำหนักมากขึ้น และสม่ำเสมอมากกว่าการผสมเกสรด้วยลมเพียงอย่างเดียว รวมถึงสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ ผึ้งช่วยให้พืชป่าและพืชที่ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจสามารถแพร่พันธุ์ได้ ทำให้สัตว์อื่น ๆ ที่อาศัยพืชเหล่านั้นเพื่อเป็นอาหารหรือที่อยู่อาศัยยังคงอยู่ในระบบนิเวศ

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรมส่งเสริมการเกษตรมีการส่งเสริมการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ ได้แก่ ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ชันโรง จิ้งหรีด และครั่ง รวมถึงอาชีพการเลี้ยงผึ้งยังช่วยสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรที่ทำสวนผลไม้ หรือพืชอื่นๆเนื่องจากผึ้งช่วยผสมเกสร ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร ให้ความรู้เกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น ใช้แมลงช่วยผสมเกสร ชีววิทยาของผึ้งพันธุ์ อุปกรณ์ในการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ การจัดการการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ การจัดการสุขอนามัยและการป้องกันกำจัดศัตรูผึ้ง การจัดการผลผลิตและการตลาด การสร้างมูลค่า การเตรียมความพร้อมเข้าสู่มาตรฐาน GAP รวมถึงศึกษาการใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆ ผลกระทบและการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพภูมิอากาศ ผ่านโครงการต่างๆของกรมส่งเสริมการเกษตร เช่น โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่เพื่อปรับเพิ่มผลผลิตภาพการผลิต เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 6,380 ราย ในพื้นที่ 44 จังหวัด และกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแมลงเศรษฐกิจในพื้นที่ 35 จังหวัด เกษตรกรเข้าร่วมโครงการกว่า 700 ราย และเตรียมพร้อมเข้าสู่การยกระดับเกษตรสินค้าเกษตรมูลค่าสูงอีกด้วย

อุตสาหกรรมน้ำผึ้งเกี่ยวข้องกับการผลิตและการขายน้ำผึ้ง รวมถึงผลิตภัณฑ์จากผึ้งอื่นๆ เช่น ขี้ผึ้ง โพรโพลิสและนมผึ้ง อุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเนื่องจากความต้องการสารให้ความหวานจากธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นและประโยชน์ต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับน้ำผึ้ง จากรายงานของกรมศุลกากร ปี 2567 ประเทศไทยมีการส่งออกน้ำผึ้ง จำนวน 11,779.96 ตัน คิดเป็นมูลค่า 914.74 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการส่งออก ไขผึ้งและไขที่ได้จากแมลงอื่นๆ จำนวน 110.84 ตัน คิดเป็นมูลค่า 25.09 ล้านบาท

ซึ่งประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิตน้ำผึ้งที่มีศักยภาพอีกแห่งหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงผึ้ง และสามารถผลิตผลิตภัณฑ์จากผึ้งได้ตลอดปี โดยไทยได้ถูกจัดลำดับให้เป็นแหล่งผลิตน้ำผึ้งที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และมีศักยภาพมากพอในการผลิต เพื่อจำหน่ายในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ น้ำผึ้งจึงถือเป็นหนึ่งในสินค้าทางการเกษตร เป็นสินค้าสำคัญในการส่งออกและนำเข้า และสร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยมีการผลิตน้ำผึ้งหลัก ๆ ได้แก่ น้ำผึ้งดอกลำไย มีรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ มีรสที่หวานกำลังพอดี ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของประเทศคู่ค้าและเป็นสินค้าที่มีราคาสูง ซึ่งไทยก็ยังเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตน้ำผึ้งดอกลำไยเพียงไม่กี่แห่งในโลกอีกด้วย น้ำผึ้งป่า ได้มาจากการเลี้ยงด้วยดอกสะเดา และดอกสาบเสือ มีรสชาติหวานต้นขมปลาย มีกลิ่นหอม แต่สีจะไม่เข้มเท่าน้ำผึ้งดอกลำไย และ น้ำผึ้งดอกลิ้นจี่และดอกทานตะวัน มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว มีสีน้ำตาลเหลืองและมีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ โดยแหล่งเลี้ยงผึ้งสำคัญของไทยจะอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศ อาทิ เชียงใหม่ ลำพูนและลำปาง ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของประเทศและใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้คุณค่าทางโภชนาการของ น้ำผึ้ง 100 กรัม ให้พลังงาน 303 แคลอรี และสารประกอบหลักสำคัญคือ กลูโคสและฟรุกโตส เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ที่ร่างกายสามารถดูดซึมนำไปใช้ประโยชน์และเผาผลาญได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น สารฟลาโวนอยด์ ที่มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการอักเสบทั้งแบบปกติและเรื้อรัง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งก็เผชิญกับความท้าทายต่างๆ เช่น การขยายตัวของเมือง การใช้สารเคมีทางการเกษตร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรผึ้งและผลผลิตน้ำผึ้งได้ การสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งอย่างยั่งยืนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงการผลักดันอุตสาหกรรมน้ำผึ้งเข้าสู่การผลิตตามมาตรฐานสากล และการทำให้น้ำผึ้งเป็น น้ำผึ้งเอกลักษณ์ specialty ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศอีกด้วย การปกป้องผึ้งจึงไม่ใช่เพียงการปกป้องแมลงชนิดหนึ่ง แต่คือการปกป้องโลกทั้งใบ.