สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ปี 2568 “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาเวียง” อ.คำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร

“กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาเวียง” จัดตั้งเมื่อ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๐

สมาชิกแรกตั้ง ๕๔ ราย

สมาชิกปัจจุบัน ๑๑๒ ราย (อายุเฉลี่ย ๕๙ ปี)

ประธานกลุ่ม นางฉวี มงคลนำ

ที่ทำการกลุ่ม หมู่ที่ ๑๑ ตำบลกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร

ผลงานดีเด่น ความคิดริเริ่ม

บ้านนาเวียง เป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีอาชีพหลักคือการทำนา ด้วยภูมิประเทศที่เป็นที่ลุ่มและมีลำเซบายไหลผ่าน ทำให้ชุมชนต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี ส่งผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างโอกาสให้กับชุมชน กลุ่มสตรีในพื้นที่จึงรวมตัวกันจัดตั้ง “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาเวียง” ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้เสริมให้กับครัวเรือน เริ่มจากการระดมหุ้นเพื่อปลูกข้าวโพดฝักอ่อน

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อกลุ่มได้มีโอกาสศึกษาดูงานที่จังหวัดอุดรธานี ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ในการปรับเปลี่ยนกิจกรรมเป็นการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง สามารถ “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” จากปัญหานํ้าท่วมซํ้าซากในพื้นที่ ด้วยการใช้ประโยชน์จากดินทามโดยการปลูกถั่วลิสงในฤดูแล้งและต่อยอดไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

นอกจากนี้กลุ่มได้นำภูมิปัญญาและเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การเลือกใช้พันธุ์ถั่วลิสงไทนาน ๙ ซึ่งให้ผลผลิตคุณภาพสูงและเหมาะกับการแปรรูป การปลูกถั่วลิสงแบบยกร่อง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำและรักษาความชื้นของดินและการใช้เครื่องจักรในการแปรรูป เพื่อลดเวลาและต้นทุนการผลิต โดยยังคงคุณภาพและรสชาติของผลิตภัณฑ์ได้อย่างดี เป็นต้น

ปัจจุบันกลุ่มดําเนินกิจกรรมผลิตและแปรรูปถั่วลิสงแบบครบวงจร โดยเน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน พร้อมพัฒนาต่อยอดกิจกรรมกลุ่มมากกว่า ๗ กิจกรรม มีโรงเรือนแปรรูป ๒ แห่ง และมีผลิตภัณฑ์มากถึง ๑๐ ชนิด ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน เช่น อย. มผช. และ OTOP ระดับ ๕ ดาว เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับถั่วลิสงฝักสดได้ถึง ๖ เท่า นำไปสู่การสร้างงานและสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับคนในชุมชน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นและพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกอย่างยั่งยืน ภายใต้ตราสินค้า“ถั่วดินเวียงทอง” ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอ คำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร

ความสามารถในการบริหารและการจัดการสถาบัน

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาเวียงมีโครงสร้างการบริหารจัดการที่ชัดเจนและเข้มแข็ง โดยใช้รูปแบบการบริหารแบบกระจายอํานาจ ผ่านคณะกรรมการที่แบ่งหน้าที่รับผิดชอบอย่างเป็นระบบ ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายผลิต ฝ่ายตรวจสอบ ฝ่ายการตลาด กรรมการกิจกรรมกลุ่มย่อย และที่ปรึกษากลุ่ม สามารถกำกับดูแลการดำเนินงานของสมาชิกทั้ง ๑๑๒ ราย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของสมาชิกในการบริหารและตัดสินใจร่วมกันทุกขั้นตอนเพื่อให้การดำเนินงานของกลุ่มมีความสอดคล้องกับกิจกรรมของชุมชนตลอดห่วงโซ่การผลิต ภายใต้วิสัยทัศน์“มุ่งเน้นช่วยเหลือคนในชุมชน มากกว่าผลกําไร”

กลุ่มให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและตรวจสอบได้โดยมีระบบเอกสารที่เป็นปัจจุบัน และมีการชี้แจงข้อมูลทางการเงินและบัญชี ให้แก่สมาชิกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำไปวางแผนกำหนด แนวทาง และปรับปรุงการดำเนินกิจกรรม

นอกจากนี้ กลุ่มยังมีการคํานวณต้นทุนการผลิตก่อนกําหนดราคาและมีป้ายแสดงผลการดําเนินงานประจําปี เพื่อให้สมาชิกทุกคนรับทราบสถานะทางการเงินและผลประกอบการของกลุ่ม รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่นและสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน การสร้างเครือข่ายและขยายช่องทางการตลาด เพื่อให้กลุ่มมีความเข้มแข็งและสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยกลุ่มมีการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปี ดังนี้

  • คืนหุ้น ร้อยละ ๑๐
  • สมทบกองทุนกลุ่ม ร้อยละ ๑๐
  • เฉลี่ยคืนสมาชิกผู้มาปฏิบัติงาน ร้อยละ ๖๐
  • ค่าตอบแทนคณะกรรมการ ร้อยละ ๖
  • สวัสดิการสมาชิก ร้อยละ ๓
  • สาธารณประโยชน์ ร้อยละ ๑๐
  • เงินสำรองฉุกเฉินอื่นๆ ร้อยละ ๑

ปัจจุบัน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาเวียง เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการปลูกและแปรรูปถั่วลิสงที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และผู้ที่สนใจจากทั้งในและนอกจังหวัด รวมทั้งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง ให้กับองค์กรเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดยโสธร ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนโดยรอบ อีกทั้งกลุ่มยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือน การบริหารจัดการบ้านเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ การออมทรัพย์ และการจัดทําบัญชีครัวเรือน ซึ่งช่วยให้สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมีวินัยทางการเงิน อยู่ดีกินดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน

สมาชิกทุกคนตระหนักและเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างชัดเจน และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและตัดสินใจร่วมกับคณะกรรมการกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

-สมาชิกกลุ่มรับทราบเป้าหมายและทิศทางการดำเนินงานของกลุ่มอย่างทั่วถึง และมีส่วนร่วมในการประชุมร่วมกับคณะกรรมการกลุ่มในฝ่ายต่าง ๆ เพื่อร่วมกันวางแผน กำาหนดแนวทาง และตัดสินใจในการพัฒนากิจกรรมของกลุ่มเป็นประจำทุก ๓ เดือน

-สมาชิกกลุ่มมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาร่วมวางแผน แสดงความคิดเห็น และตัดสินใจในทุกขั้นตอนของการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม เช่น กิจกรรมรับซื้อถั่วลิสงฝักแห้งประจำปี ซึ่งสมาชิกกลุ่มมีส่วนร่วมในการวางแผนการผลิต การกำหนดราคากลางในการรับซื้อและการเปิดรับซื้อจากสมาชิกกลุ่มรวมถึงบุคคลในชุมชน

-สมาชิกกลุ่มและคณะกรรมการมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างชัดเจน มีการแบ่งหน้าที่และมอบหมายงานให้แก่สมาชิกตามความสมัครใจโดยสามารถบริหารจัดการกลุ่มและปฏิบัติหน้าที่แทนกันได้อย่างเหมาะสม

-สมาชิกกลุ่มมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มในทุกขั้นตอน โดยยึดหลักการ “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมดำเนินงาน ร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมรับผลประโยชน์” อย่างต่อเนื่อง