นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุมู่หลาน ทำให้เกิดวิกฤติน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกำลังขยายมาในพื้นที่ภาคกลางส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพื้นที่การเกษตร ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้เร่งดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรลูกค้า โดยมอบหมายให้พนักงานในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจลูกค้าและนำถุงยังชีพไปมอบเพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้น
รวมถึงสำรวจข้อมูลความเสียหายและผลกระทบจากอุทกภัย โดยกรอบการดำเนินงานที่จะเข้าไปดูแลกรณีได้รับความเสียหาย ธ.ก.ส. จะผ่อนผันการชำระหนี้ออกไปไม่เกิน 12 เดือน โดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ และสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 เมื่อดำเนินการสำรวจพื้นที่การเกษตรแล้วพบว่า มีความเสียหายเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ ธ.ก.ส. จะเร่งประสานงานส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชดเชยความเสียหายโดยเร็วต่อไป
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายจำเป็นฉุกเฉิน เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น อัตราดอกเบี้ย 0% 6 เดือน เดือนที่ 7 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR คือ 6.50% วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 (ปัจจุบัน MRR = 6.50)
จึงขอให้เกษตรกรอย่ากังวลในช่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดย ธ.ก.ส. พร้อมเข้าไปดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และขอให้โปรดระมัดระวังมิจฉาชีพที่มักจะใช้โอกาสจากความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรเข้ามาหลอกลวง โดยแอบอ้างใช้สัญลักษณ์โลโก้ ธ.ก.ส.เพื่อสร้างความเข้าใจผิด ให้เข้ามากู้เงิน หรือหลอกให้โอนค่าธรรมเนียม เพื่อแลกกับการใช้บริการสินเชื่อ หรือโอนค่าประกันภัยจาก ธ.ก.ส. ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ไม่มีนโยบายจ่ายสินเชื่อผ่านสื่อโซเซียลหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอสินเชื่อได้ที่ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สำหรับอิทธิพลของ” พายุมู่หลาน” ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก และพิษณุโลก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย และอุดรธานี
สำหรับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีวัตถุประสงค์ให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร สำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรืออาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร
ธ.ก.ส. ก้าวสู่ทศวรรษที่ 6 ด้วยการเป็นศูนย์กลางทางการเงินภาคเกษตรและภาคชนบท มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ใช้กระบวนการสหกรณ์และผู้ประกอบการ เป็นแกนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตรไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าภาคการผลิตแบบบูรณาการ พร้อมทั้งยกระดับเกษตรกรและทายาทเป็น Smart Farmer ให้ความสำคัญกับนโยบาย Go Green สนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในการให้บริการ ผ่านช่องทางเทคโนโลยีเพื่อรองรับ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และพฤติกรรมตามความต้องการของลูกค้า ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรและเพิ่มขีดความสามารถบุคลากร เพื่อร่วมขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ ไปสู่เป้าหมายในการสร้าง
-Better Life สร้างคุณภาพชีวิตของคนในชนบทให้ดีขึ้น
-Better Community สร้างชุมชนไทยให้เข้มแข็งขึ้น
-Better Pride สร้างความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรให้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้เพื่อมุ่งมั่นยกระดับชีวิตเกษตรกรไทย สู่สังคมที่ภาคภูมิ
ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรายย่อยและให้บริการสินเชื่อที่หลากหลาย