GISTDA เผย ภาพถ่ายดาวเทียมหลายพื้นที่ใน 4 ลุ่มน้ำสำคัญได้รับผลกระทบน้ำท่วมขังกว่า 7.4 แสนไร่ พื้นที่ปลูกข้าวกว่า 2.6 แสนไร่

GISTDA ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่บางส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำมูล ด้วยดาวเทียม Radarsat-2 (เรดาร์แซท-2) ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2565 พบพื้นที่น้ำท่วมขังแล้วทั้งสิ้น 749,396 ไร่ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่บางส่วนของจังหวัด สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครนายก ปราจีนบุรี และ นครราชสีมา ในขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวโดยรวมได้รับผลกระทบแล้ว 260,558 ไร่

สถานการณ์ดังกล่าว GISTDA ได้ส่งข้อมูลภาพจากดาวเทียมดังกล่าวให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนในการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน และการติดตาม เพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป

n20220901 6216
ภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่น้ำท่วมขัง

สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขัง GISTDA ได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถตรวจสอบพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ http://flood.gistda.or.th.

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ฝน ระหว่าง 1 – 2 ก.ย. 65 ยังมีฝนและมีตกหนักบางพื้นที่ บริเวณภาคอีสานด้านตะวันออก ภาคตะวันออก ภาคใต้ ตามมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนที่พัดปกคลุมตามฤดูกาล ทิศทางลมในระดับล่างๆ มีความแปรปรวน ส่วนระดับบน (สูงจากพื้นดิน 5.5 กม.) มีลมฝ่ายตะวันออกพัดปกคลุม วิเคราะห์แผนที่อากาศเริ่มมีมวลอากาศเย็นแผ่ปกคลุมบริเวณประเทศจีน ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังอ่อน

ช่วงวันที่ 3 – 10 ก.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น เนื่องจากมีพายุ”หินหนามหน่อ” เคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะไต้หวัน ช่วยดึงดูดให้มรสุมแรงขึ้น และคาดว่าจะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ต้องติดตามและเฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากโดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย คลื่นลมมีกำลังแรงขึ้นด้วย

สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

และระหว่าง 4-6 กันยายน กรมอุตุนิยมคาดการณ์ว่าแต่ละภาคจะมีฝนตกดังนี้

ภาคเหนือ ฝนฟ้าคะนอง 60-70% ของพื้นที่ ฝนตกหนักบางแห่ง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนฟ้าคะนอง 60-70% ของพื้นที่ ฝนตกหนักบางแห่ง

ภาคตะวันออก ฝนฟ้าคะนอง 60-80% ของพื้นที่ ฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ฝนฟ้าคะนอง 60-70% ของพื้นที่ ฝนตกหนักบางแห่ง

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ฝนฟ้าคะนอง 60-80% ของพื้นที่ ฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ภาคกลาง ฝนฟ้าคะนอง 60-70% ของพื้นที่ ฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

กรุงเทพฯ และปริมณฑล ฝนฟ้าคะนอง 60-70% ของพื้นที่ ฝนตกหนักบางแห่ง