‘ยูเอ็น-กัมพูชา’กระตุ้นเพิ่มการลงทุน หนุนความมั่นคงทางอาหาร

แถลงการณ์ร่วมจากรัฐบาลกัมพูชา องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ และโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องการลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านระบบอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อรับรองความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ รวมถึงรับมือกับอุปสรรคและวิกฤตต่างๆ

การเรียกร้องข้างต้นมีขึ้นเนื่องในวันอาหารโลก (World Food Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 16 ต.ค. ขณะกัมพูชาเริ่มดำเนินงานตามแผนงานระดับชาติด้านระบบอาหารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030

โอม คิมเซอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรป่าไม้และประมงของกัมพูชา ระบุว่า กัมพูชาจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานอาหาร เพื่อการมีอาหารที่มีคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการสำหรับชาวกัมพูชาทุกคน ผ่านการลงทุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และระบบดิจิทัล

AC6FBAD2 C55E 4025 93F8 453B3EBBAF29

ด้าน อันโตนิโอ เชียโวเน เจ้าหน้าที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติประจำกัมพูชา ระบุว่า ระบบเกษตร-อาหารเชื่อมโยงกับชีวิตและเศรษฐกิจในหลากหลายด้าน อาทิ การเกษตรทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และสุขภาพ รวมถึงมีศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่เท่าเทียมและมั่งคั่งยิ่งขึ้น

เชียโวเน ระบุว่า ระบบอาหารที่ยั่งยืนจะสร้างประโยชน์แก่ทุกฝ่าย รวมถึงประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุดโดยคนกลุ่มเปราะบางและผู้ผลิตรายย่อยต้องได้รับการสนับสนุน เพราะสามารถเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนผ่านระบบอาหาร และกลายเป็นฟันเฟืองที่แข็งขันและเท่าเทียมของการพัฒนาที่ยั่งยืน

AD6A2486 4004 43F8 BB6A 9591AC898C93

รายงานตลาดฉบับล่าสุดของโครงการอาหารโลก ระบุว่าปัจจุบันราคาข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของกัมพูชายังคงค่อนข้างคงที่ ทว่าราคาอาหารนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยราคาน้ำมันพืชเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.7 ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

มีการคาดการณ์ว่าการผลิตข้าวเปลือกจะอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งบ่งชี้ว่า กัมพูชาจะไม่ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารที่รุนแรง อย่างไรก็ดี วิกฤต 5 ประการในปัจจุบัน ได้แก่ อาหาร อาหารสัตว์ เชื้อเพลิง ปุ๋ยและเงินทุน ก่อให้เกิดภัยคุกคามใหม่ต่อระบบอาหาร

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว (XinhuaThai)