กรมหม่อนไหมจับมือ ม.เกษตรศาสตร์ สร้างมูลค่าเศษเหลือใช้จากไหมไทยหลากรูปแบบ เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์

นายประกอบ เผ่าพงศ์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กรมหม่อนไหมโดยสำนักวิจัยและพัฒนาหม่อนไหมร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโครงการพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์จากเศษผ้าไหม และสิ่งเหลือใช้จากการผลิตผ้าไหม (Upcycling Thai Silk Scarps) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความเหมาะสมกับเศษผ้าไหม ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าไหมให้เข้ากับนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ จัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าไหมที่เพิ่มมูลค่า และเผยแพร่ผลงานการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าไหมเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ นักออกแบบ และผู้สนใจทั่วไป สามารถนำไปต่อยอดเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์

651100000796 1
ประกอบ เผ่าพงศ์ อธิบดีกรมหม่อนไหม

การดำเนินงานในโครงการดังกล่าว เป็นการสร้างมูลค่าเศษเหลือใช้จากไหมไทย เพื่อให้สามารถนำมาประดิษฐ์เป็นชิ้นงานที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยรวบรวมเศษผ้าไหมเหลือใช้จากการตัดเย็บจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา และได้รับความอนุเคราะห์เศษเส้นไหมเหลือใช้จากบริษัท จุลไหมไทย จำกัด และทดลองทำแบบร่างและต้นแบบของผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าไหม ร่วมกับนิสิตสาขาวิชานวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงบูรณาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 15 รูปแบบ

ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายศักดิ์สิทธิ์ ปิติพงศ์สุนทร ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่าย CSR Project ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) พร้อมทีมงาน ประเมินรูปแบบที่มีความน่าสนใจ เหมาะสมและเป็นไปได้ที่สุดในการพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์

651100000803
สร้างมูลค่าเศษเหลือใช้จากไหมไทย

โดยผลงานที่เหมาะสมในการพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์มีจำนวน 5 รูปแบบ

ได้แก่ 1. Eco on Earth เป็นกระเป๋าผลิตจากวัสดุเส้นไหมผสมผสานกับพลาสติกชีวภาพ เพื่อให้เกิดความแข็งแรง แปลกใหม่ อีกทั้งยังสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

2. Mong-Kol เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในภาคอีสานและสามารถนำมา ใช้ในงานมงคล อีกทั้งคุณสมบัติการสะท้อนแสงเป็นเงางามผสมผสานกับวิธีการพับแบบ origami เพื่อให้เกิดการเข้าถึงได้ง่าย และความเป็นสมัยใหม่ ที่ยังคงความศักดิ์สิทธิ์ให้กับโต๊ะหมู่บูชาได้

3. Nang-Mai เป็นการนำเศษไหมที่มีความแวววาวเป็นเลื่อมนำมาสร้างพื้นผิว ขด ดัด ผูกและใส่ลวดมาประกอบสายยางเพื่อเพิ่มมูลค่า ทั้งยังคงเป็นการรักษาความสวยงามของเศษไหมและเกิดความแข็งแรงทนทานสามารถเข้าสู่กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์

4. เศษ 3 สี เป็นการนำเอาขยะพลาสติกผสมผสานเศษผ้าไหมสามารถนำมา upcycle ได้มากขึ้น จากแรงบันดาลในของความเชื่อจิตวิญญาณและการเสียสละไหมเพื่อรังสรรค์เป็นผืนผ้า อีกทั้งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมควบคู่ด้วยมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ไว้ใช้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ และ 5. Silk-Sa เป็นการ นำเส้นไหมและกระดาษ มารีไซเคิล

โดยมีแนวคิดจากลวดลายของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัว มาสร้างสรรค์ผลงานเพื่อแสดงบทบาทใหม่ๆ ของเส้นไหมเพื่อส่งเสริมคุณสมบัติความแข็งแรงให้กับกระดาษ มีความทนทานและฉีกขาดได้ยากขึ้นพร้อมเลือกใช้สีให้เหมาะสมกับผลงานให้สื่อสิ่งต่าง ๆ ได้

ทั้งนี้ ได้มีการนำผลงานต้นแบบดังกล่าวเข้าร่วมจัดแสดงในงาน Sustainability Expo 2022 ซึ่งเป็นงานมหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ในแนวคิดสมดุลที่ดีเพื่อโลกที่ดีกว่า (Good Balance, Better World) เมื่อวันที่ 26 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ผู้สนใจต่อยอดผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาหม่อนไหม กรมหม่อนไหม โทรศัพท์ 0 2558 7924-6 ต่อ 7229 หรือ 7220