“ทุเรียนไทยในจีน”…ความจริงจากทูตเกษตร…เจาะกลางใจ โดย “ขุนพิเรนทร์”

ความอยากรู้ทำให้เราเสาะหาข้อมูล เห็นจากโลกออนไลน์ไปเยอะแล้ว “ไอ้ขุน”จะกางข้อมูลของฝั่งรัฐมาให้ทราบกัน วันนี้..เอาแค่ 2 เดือนก่อน คือเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมที่พึ่งสรุปข้อมูลตัวเลขอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 

เดือนกันยายนมาแบบรวบรัด ราคาทุเรียน ณ ตลาดผลไม้เจียชิงประมาณกล่องละ 1,000 – 1,100 หยวน/6 ลูก (ประมาณ 16 กิโลกรัม/กล่อง) ซึ่งหลังจากทุเรียนเวียดนามสู่ตลาดจีนเป็นระยะเวลาครึ่งเดือน ไม่ได้ทำให้ราคาทุเรียนไทยลดลงอย่างที่คาดไว้ เนื่องจากราคาทุเรียนในตลาดหลายแห่งปรับตัวสูงขึ้น 

กันยายนทุเรียนเวียดนามที่เข้ามาในประเทศจีนเป็นทุเรียนหมอนทอง ซึ่งในความคิดเห็นของตลาดทุเรียนทองหมอนเวียดนามเมื่อเทียบกับทุเรียนปลายฤดูกาลของไทย ทุเรียนเวียดนามมีรสชาติและกลิ่นที่ไม่ได้ด้อยกว่าไทย ในขณะที่ทุเรียนก้านยาวของเวียดนามกำลังจะเข้าสู่ตลาดและได้รับความสนใจอย่างมาก คาดว่าราคาทุเรียนจะไม่ลดลงมากนัก

อ่านตรงนี้…ขีดเส้นใต้ไว้ก่อน #ทุเรียนเวียดนามมีรสชาติและกลิ่นที่ไม่ได้ด้อยกว่าไทย

…..

เดือนตุลาคม 2565 

1.สถานการณ์การค้าผลไม้ของตลาดเจียซิง เดือนตุลาคม 2565

1.1 จากสถิติของตลาดเจียชิงเดือนตุลาคม 2565 พบว่า ปริมาณการค้าผลไม้นำเข้าลดลง ร้อยละ 19.03 และมูลค่าการค้าลดลงร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

1.2 ในเดือนตุลาคม 2565 ผลไม้นำเข้าที่มีปริมาณการค้ามากที่สุด 3 อันดับแรก คือ แก้วมังกร ขนุน และทุเรียน เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ปริมาณการค้าแก้วมังกรนำเข้าลดลงร้อยละ 21.27 ปริมาณการจำหน่ายขนุนนำเข้าลดลงร้อยละ 0.38 แต่มูลค่าการค้าขนุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.28 โดยมีราคาเฉลี่ย 10.08 หยวน/กิโลกรัม ซึ่งสถานการณ์การค้าขนุนในตลาดไม่แตกต่างจากช่วงเวลาเดียวกันปี2564 สำหรับปริมาณการค้าทุเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.16 และเนื่องจากราคาผลไม้นำเข้าลดลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ปริมาณการค้าผลไม้บางชนิดเพิ่มขึ้น ปริมาณการค้าแอปเปิลเพิ่มขึ้นร้อยละ 81.66 มังคุดเพิ่มร้อยละ 77.65 สับปะรดเพิ่มขึ้นร้อยละ 70.82 ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.67

ทั้งนี้ สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ส่งกระทบและเกิดอุปสรรคต่อการนำเข้าผลไม้มายังประเทศจีน เนื่องจากด่านนำเข้าเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบสินค้า เกิดปัญหาสินค้าติดขัดหน้าด่าน เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการผ่านด่านนานขึ้นส่งผลให้คุณภาพสินค้าเสื่อมลง

2. สถานการณ์การค้าทุเรียนของตลาดเจียชิง เดือนตุลาคม 2565

  2.1 ในเดือนตุลาคม 2565 ตลาดเจียชิงมีปริมาณการค้าทุเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.16 โดยทุเรียนหมอนทองไทยคุณภาพต่ำราคาลดลงเหลือ 500 – 800 หยวน/กล่อง (ประมาณ 18 กิโลกรัม/ 6 ลูก) เนื่องจากช่วงนี้ในตลาดปริมาณการค้าเป็นจำนวนมากประมาณ 80 ตู้ต่อวัน ซึ่งหลังจากทุเรียนเวียดนามเข้าสู่ตลาดจีนมาเป็นระยะเวลา 2 เดือน ทำให้สถานการณ์ช่วงฤดูใบไม้ร่วงถึงฤดูหนาว (เดือนกันยายน – กุมภาพันธ์) เปลี่ยนไปจากเดิมมีทุเรียนจำนวนน้อย ปัจจุบันปริมาณทุเรียนที่จำหน่ายในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก

  2.2 สำหรับราคาทุเรียนหมอนทองไทย ณ ตลาดผลไม้เจียซิง หากเป็นทุเรียนหมอนทองคุณภาพดีจะมีราคาประมาณกล่องละ 700 – 900 หยวน/6 ลูก (ประมาณ 18 กิโลกรัม/กล่อง) แต่หากเป็นทุเรียนหมอนทองคุณภาพต่ำราคาลดลงเหลือ 500 หยวน/กล่อง ส่วนทุเรียนก้านยาวเวียดนามคุณภาพดีราคาประมาณ300 – 400 หยวน/ 3 ลูก ส่วนทุเรียนเวียดนามคุณภาพต่ำราคา 250 หยวน/ 3 ลูก 

แม้ว่าช่วงนี้จะไม่มีทุเรียนหมอนทองเวียดนามเข้าตลาด แต่มีทุเรียนก้านยาวจากเวียดนามเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีราคาต่ำกว่าทุเรียนหมอนทองไทย แม้ว่าคุณภาพจะสู้ทุเรียนไทยไม่ได้ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนหมอนทองของไทยด้วย 

นอกจากนี้ ช่วงนี้มีทุเรียนเข้ามาประเทศจีนจำนวนมาก แต่เนื่องจากทุเรียนราคาสูงทำให้ขายได้ยากทำให้ตลาดมีทุเรียนค้างใน stock เยอะ อีกทั้งตลาดสำคัญที่เมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง และเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนานถูกล็อคดาวน์เพราะสถานการณ์โควิดในพื้นที่ ทำให้การกระจายสินค้าทุเรียนได้รับผลกระทบผู้ประกอบการรายย่อยและกลางไม่สามารถจัดซื้อสินค้าข้ามภูมิภาคได้

  2.3 ตลาดเจียซิงเห็นว่า ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ราคาทุเรียนสูงเกินไปทำให้จำหน่ายได้ยากและมีความหวังที่จะให้ราคาทุเรียนลดต่ำลงเท่ากับช่วงปี 2561 หรือประมาณ 400 – 500 หยวน/กล่อง โดยราคาต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 300 หยวน/กล่อง และราคาสูงสุดประมาณ 600 หยวน/กล่อง ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลให้ราคาทุเรียนลดลดลง คือ ต้นทุนการรับซื้อลดต่ำลง สินค้าสามารถผ่านด่านนำเข้าได้อย่างรวดเร็ว และราคาค่าขนส่งลดลง

ความเห็นและข้อสังเกตของฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเชี่ยงไฮ้

ปัจจุบัน ตลาดทุเรียนในประเทศจีนมีผู้เล่นมากขึ้นนับตั้งแต่ทุเรียนเวียดนามสามารถเข้ามาจำหน่ายประเทศจีนอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงมากขึ้น

ซึ่งทุเรียนเป็นผลไม้ที่เน่าเสียง่ายผู้ประกอบการจึงต้องการเร่งจำหน่ายสินค้าออกไปโดยเร็วที่สุด หากทุเรียนมีราคาสูงจนเกินไปก็จะทำให้จำหน่ายได้ยาก เนื่องจากผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและราคาเป็นธรรมในช่วงนี้มีทุเรียนเข้ามาในตลาดจีนเป็นจำนวนมากแม้ว่าจะช่วงทุเรียนนอกฤดู 

แต่คาดว่าในปีหน้าตลาดทุเรียนในประเทศจีนจะมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงและดุเดือด เนื่องจากฤดูกาลของทุเรียนไทยและเวียดนามเป็นช่วงใกล้เคียงกันฝ่ายเกษตรฯ เห็นว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ตลาดทุเรียนที่จะมีการแข่งขันอย่างรุนแรง ซึ่งสินค้าที่จะเติบโตได้ดีในตลาดจีนเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ 

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพทุเรียนตลอดสายการผลิต สร้างจุดแข็งและพัฒนาทุเรียนไทยให้มีความพิเศษ แตกต่าง และโดดเด่น โดยอาจส่งเสริมทุเรียนสายพันธุ์อื่นที่น่าสนใจเพื่อให้ทุเรียนไทยสามารถครองตลาดจีนได้อย่างยั่งยืน 

นอกจากนี้ อาจจะใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อยึดอายุการเก็บรักษาทุเรียน หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แช่แข็งหรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า”

……

เดือนตุลาคมภาพรวมทางฝั่งทูตเกษตรว่ามาแบบนั้น ไอ้ขุนไม่คัดหรือตัดตอน อยากให้อ่านแบบเต็มๆและรับรู้สถานการณ์ร่วมกัน

ส่วนความเห็นและข้อสังเกตุจาก “ขุนพิเรนทร์”

วันนี้เราไม่ได้เป็นตัวเลือกตัวเดียวเหมือนเดิม อย่าหยิ่ง อย่าคิดว่ากูแน่ ภาษาราชการกับภาษาข่าวบอกเป็นนัยยะสำคัญ ทุเรียนไทย เวียดนาม คุณภาพไม่ต่างกัน เราเองเสียอีกที่ไม่มีแต้มต่อ อย่างเวียดนาม คือตัดแก่แล้วส่งเข้าจีนได้เลย อย่าลืมเวียดนามพึ่งส่งทุเรียนได้อย่างเป็นทางการ ฤดูกาลหน้าถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้หนักแน่ ตลาดทุเรียนจะเดือดสุดๆ

สิ่งที่จะทำให้เรายืนอยู่ในตลาดจีนได้คือรักษาคุณภาพทุเรียนของเราให้ดี คนกินแล้วจำ อย่าว่าแต่คนจีนที่เกลียดถ้าเจอทุเรียนอ่อน คนไทยก็ไม่เอา

ส่วนเรื่อง…คลิปที่คนไทยเจอทุเรียนในจีนพอซื้อมากินแล้วรสชาติไม่อร่อย และมีเกษตรกรไทยร้องให้ทางทูตดำเนินการตรวจสอบนั้น

คำตอบจะมีให้ทราบในเร็วๆนี้..

เบื้องต้นเป็นแผงเร่…โทรไปก็วางสายหนี

โปรดติดตามตอนต่อไป…