กรมการค้าภายใน แจงข่าวชาวนาทวงส่วนต่างข้าวหอมมะลิ ยันคำนวณถูกต้องที่ราคาต่ำเหตุขายเกี่ยวสด

กรมการค้าภายในชี้แจงข่าวชาวนาที่ปลูกข้าวหอมมะลิ จังหวัดมหาสารคาม ทวงเงินส่วนต่างงวดที่ 7 ไม่ได้ตามที่ขายข้าวได้จริง เผยการคำนวณส่วนต่าง คิดจากข้าวแห้งความชื้นไม่เกิน 15% แต่ข้าวที่ชาวนานำไปขาย เป็นข้าวเกี่ยวสด จึงต้องหักน้ำหนัก และยังขึ้นกับคุณภาพด้วย ทำให้ราคาขายได้ต่ำกว่าที่คำนวณ ถือเป็นเรื่องปกติ

638739aaf231b
แจงชาวนาทวงส่วนต่างข้าว

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีชาวนาที่ปลูกข้าวหอมมะลิ จังหวัดมหาสารคาม ทวงเงินส่วนต่างงวด 7 ที่ประกาศราคาอ้างอิงข้าวหอมมะลิ ตันละ 14,100 บาท แต่ชาวนาขายได้จริง ตันละ 11,000 บาท ว่า กรมฯ ขอเรียนชี้แจงว่า ราคาประกันรายได้กำหนดราคาข้าวเปลือกหอมมะลิไว้ที่ตันละ 15,000 บาท ซึ่งเป็นมาตรฐานความชื้นไม่เกิน 15% หรือข้าวแห้ง ดังนั้น การกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง จึงต้องกำหนดราคาเป็นข้าวแห้งด้วยเช่นกัน โดยการพิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงของคณะอนุกรรมการ จะประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมชาวนา 3 สมาคม สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ใช้ราคาเฉลี่ยการรับซื้อที่แหล่งผลิตสำคัญจากการสำรวจของกรมการค้าภายใน โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัด และสมาคมโรงสีข้าวไทย เป็นราคาย้อนหลัง 7 วันทำการ ซึ่งจะสะท้อนราคาตลาดในช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวในแต่ละงวดมากที่สุด

ส่วนกรณีราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงงวดที่ 7 ข้าวแห้ง ราคาตันละ 14,110 บาท เมื่อเกษตรกรนำข้าวเปลือกเกี่ยวสดมาจำหน่าย จะมีน้ำหนักน้ำเข้ามาเพิ่มอีกประมาณ 225 กก. ซึ่งจะทำให้ข้าวเปลือก 1 ตัน (1,000 กก.) เมื่อตากหรืออบเป็นข้าวแห้งแล้ว จะมีน้ำหนักลดลงเหลือ 775 กก. หรือเป็นราคาข้าวสดที่ราคาตันละประมาณ 10,935.25 บาท (14.11 บาท/กก. x 775 กก.) แต่ข้าวที่เกษตรกรนำมาจำหน่ายแต่ละราย ยังจะขึ้นอยู่กับคุณภาพข้าวเปลือกที่เกษตรกรผลิตได้ด้วย

ทางด้านสถานการณ์การส่งออกข้าวในปีนี้ ปรับตัวดีขึ้นโดยส่งออกได้แล้วกว่า 6 ล้านตัน คาดว่าสิ้นปีจะส่งออกได้ตามเป้าหมาย 7.5 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาข้าวหอมมะลิความชื้นไม่เกิน 15% อยู่ที่ตันละ 14,400–15,000 บาท สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาตันละประมาณ 4,400 บาท ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 43%

อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้สั่งการพาณิชย์จังหวัดออกตรวจสอบการซื้อขายข้าวเปลือกในช่วงที่ออกสู่ตลาดมาก เพื่อให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรมจากการจำหน่าย หากพบเห็นการซื้อขายข้าวเปลือกโดยมีการหักความชื้นและสิ่งเจือปนอย่างไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569

นายอิศเรศ วานิชานนท์ รองเลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย และเจ้าของโรงสีขวัญข้าวอินเตอร์เทรด จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณข้าวเปลือกหอมมะลิ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 90% โดยออกมากในช่วงกลางเดือนพ.ย.2565 หรือช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวในงวดที่ 7 ซึ่งราคารับซื้อข้าวเปลือกเกี่ยวสดของโรงสีในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดใกล้เคียง ในช่วงดังกล่าวอยู่ที่ราคาประมาณตันละ 10,800–11,200 บาท และขณะนี้ราคาเริ่มมีการปรับตัวสูงขึ้นเป็นเฉลี่ยตันละ 11,500 บาท หรือคิดเป็นข้าวแห้งที่ตันละประมาณ 14,200–14,400 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพข้าวเปลือกของเกษตรกร โดยในปีนี้ภาพรวมถือว่าข้าวเปลือกหอมมะลิมีคุณภาพที่ดี และมีราคาสูงกว่าปีที่ผ่านมา ที่มีราคาข้าวสดอยู่ที่ตันละประมาณ 8,000–8,500 บาท จากผลกระทบด้านการส่งออกจากปัญหาโควิด–19 และด้านการขนส่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2555/66 หรือ “ประกันรายได้ข้าว” ปี 4 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด กว่า 4.68 ล้านครัวเรือน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) ได้เริ่มโอนเงินชดเชยส่วนต่างประกันราคาข้าวปี 2565/66 ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมาเป็นต้นไป

การโอนเงินชดเชยส่วนต่างประกันราคาข้าวปี 2565/66 ธ.ก.ส. จะใช้ราคาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างและการชดเชยส่วนต่างราคาให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/65 ประกาศในแต่ละงวดเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ภายใน 3 วันทำการ

ทั้งนี้หลักเกณฑ์การจ่ายเงินประกันราคาข้าว 65/66

ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน 

ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน 

ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน 

ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละ ไม่เกิน 25 ตัน 

ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน 

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า สำหรับการชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง สำหรับงวดที่ 7 ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 14,110.47 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 889.53 บาทต่อตัน โดยเกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยสูงสุด 12,453.42 บาท