จุรินทร์ เปิดงาน “Agro FEX 2022” จัดแสดงสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหาร คาดสร้างเงินให้ประเทศไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

วันที่ 1 ธันวาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน“Agro FEX 2022”ซึ่งเป็นงานจัดแสดงสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหาร โดยความร่วมมือของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและเยี่ยมชมบูธและกิจกรรม Business Matching พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา(นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี) ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (นายเกรียงไกร เธียรนุกุล) ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนภาครัฐและเอกชน ที่เซ็นทรัลโคราช จ.นครราชสีมา

110962
เปิดงาน “Agro FEX 2022”

จุรินทร์ กล่าวว่า งานAgro FEX เป็นงานจัดแสดงสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารที่ใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดย 10 เดือนแรกปีนี้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารสร้างเงินให้ประเทศไปแล้ว 1.44 ล้านล้านบาท +12% สินค้าเกษตรดาวรุ่ง ได้แก่ ทุเรียนแช่แข็ง +52.7% ไอศครีม +28.9% ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป +28% สินค้าเกษตร อาหาร เกษตรแปรรูปยังมีอนาคตสำหรับประเทศไทย แต่ต้องยอมรับความจริงว่าเราต้องเจอแรงเสียดทานปัญหาหลายเรื่อง 1.โควิด 2.ภูมิรัฐศาสตร์ คือการรวมกลุ่มของประเทศยักษ์ใหญ่ในโลกแบ่งขั้วแบ่งค่าย ทางการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น RCEP และ อินโด-แปซิฟิก ซึ่งเราอยู่ทั้ง 2 กลุ่ม วันนี้ RCEP เป็น FTA ที่ใหญ่สุดในโลกโดยจีน แต่อินโด-แปซิฟิก กำลังเกิดขึ้นได้ชวนหลายประเทศและกำหนดแนวทางอยู่โดยสหรัฐฯ ซึ่งเงื่อนไขบางข้อแตกต่างกัน รัฐกับเอกชนต้องจับมือกันใกล้ชิดฟันฝ่าความท้าทายให้ได้ โดยสภาอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในนั้นที่ต้องให้คำตอบ

110955
เปิดงาน “Agro FEX 2022”

แต่ตนชัดเจนอย่างน้อยประเทศไทยต้องจับมือกับอาเซียน 10 ประเทศ จะได้รอดจากยักษ์ตัวใหญ่ ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน ตอนประชุมเอเปคหัวข้อที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องคือ เราต้องสร้างเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่ยั่งยืน ซึ่งมี 2 ด้าน ด้านดีทำให้การผลิต แปรรูป การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งแวดล้อมดี เป็น BCG Model ด้านลบ คำว่าอย่างยั่งยืนอนาคตจะแปลงเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า การจัดงาน Agro FEX ของสภาอุตสาหกรรมอีสานวันนี้ ตนสนับสนุนเห็นด้วยแต่อย่าลืมกับคำว่ายั่งยืนทั้งการผลิต การแปรรูป เพื่อเตรียมการในอนาคต

และนโยบายรัฐบาลประกันรายได้จะเป็นอีกหัวใจสำคัญ ช่วยให้เกษตรกรทั้งชาวนาชาวไร่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมันยางพาราและพืชผลเกษตรอื่น สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ยามที่ราคาพืชเกษตรเหล่านี้ตกต่ำจะมีเงินส่วนต่างช่วยชดเชยให้เกษตรกรยังชีพได้ ไม่ให้เลิกอาชีพเกษตรกร ไม่เช่นนั้นเราจะประสบปัญหาคล้ายหลายประเทศเกิดวิกฤติ ไม่มีอาหารต้องนำเข้าจากที่อื่น ประกันรายได้จะรักษาอาชีพนี้ให้เกษตรกรประกอบอาชีพต่อไปได้อย่างยั่งยืน เพื่อความมั่นคงทางอาหารไทยและของโลกต่อไป เพราะเราตั้งเป้าเป็นแหล่งผลิตอาหารเป็นครัวของโลกต่อไปในอนาคต

ในงานนี้มี 120 คูหา และมีการเจรจาจับคู่ 68 คู่ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีประเทศผู้นำเข้า 46 ราย จาก 16 ประเทศ ที่จะมาซื้อของในงานนี้ คาดว่าจะสามารถซื้อขายได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท และก่อนหน้านี้ตนได้พาฟิลิปปินส์มาเซ็นสัญญาซื้อมันสำปะหลัง 2,000,000 ตันที่โคราช จะมีส่วนช่วยให้ปีนี้ราคามันยังดีอยู่

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า งาน Agro FEX เป็นงานแสดงสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรม BCG เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป ถือเป็นงานที่เกี่ยวกับ BCG Model งานแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการในภาคอีสานร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มกับสินค้าเกษตร ลดการใช้ทรัพยากร ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระหว่างวันที่ 1-4 ธันวาคม 2565 ที่เซ็นทรัลโคราช

ทั้งนี้กลุ่มสินค้าเกษตรนอกจากเป็นสินค้าสำหรับบริโภค ยังเป็นสินค้าวัตถุดิบสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ซึ่งตลาดยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากหลายด้าน ได้แก่ 1)สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่คงระบาดอยู่ในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย 2) ด้านการผลิต สภาพอากาศ ภาวะภัยแล้ง รวมถึงโรคระบาดในพืชและสัตว์ที่อาจส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิต 3) สถานการณ์การแข็งค่าของค่าเงินบาทซึ่งจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในตลาดต่างประเทศ และ4) ปัจจัยจากการแข่งขันและปกป้องทางการค้า หลาย ๆ ประเทศต่างมุ่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยเน้นการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้นทั้งด้านการลงทุน ด้านการผลิตสินค้าเพื่อลดการนำเข้าซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคำ สั่งซื้อสินค้าเกษตรของไทย

อย่างไรก็ดี นอกจากปัจจัยด้านการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA แล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยให้สินค้าเกษตรของไทย สามารถรับมือกับความท้าทายด้านการส่งออกได้ดี คือการพัฒนาหรือผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน มีความสอดคล้องกับกฎระเบียบที่แต่ละประเทศกำหนด และมีความแตกต่างจากคู่แข่ง หรือตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายในแต่ละประเทศ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง