กรมทรัพย์สินทางปัญญาจับมือเชฟมิชลิน โปรโมตอาหารทำจากวัตถุดิบ GI

กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าโปรโมต “อาหาร” ที่ใช้วัตถุดิบ GI มาผลิตโดยเชฟมิชลิน ทั้งข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ หอมแดงศรีสะเกษ กระเทียมศรีสะเกษ และเนื้อโคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร คาดช่วยทำให้คนรู้จักสินค้า GI และช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ผลิตมากขึ้น แถมยังเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
         

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมร่วมมือกับมิชลินไกด์ประเทศไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทำการเปิดตัวอาหารที่ใช้วัตถุดิบได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากแหล่งผลิตในภาคอีสาน 4 สินค้า ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ หอมแดงศรีสะเกษ กระเทียมศรีสะเกษ และเนื้อโคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร ที่เชฟระดับมิชลิน คือ เชฟชาลี กาเดอร์ จากร้าน 100 Mahaseth (100 มหาเศรษฐ์) ร้านอาหารอีสานที่ได้รางวัลบิบ กูร์มองด์ จากมิชลินไกด์ประเทศไทย และเชฟเดวิด ฮาร์ตวิก จากร้าน IGNIV Bangkok ที่ได้รับรางวัลหนึ่งดาวมิชลิน ประจำปี 2565 ที่ได้ลงพื้นที่ไปคัดเลือกวัตถุดิบก่อนหน้านี้
       

1606896500 .jpg 644x362 1
ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์

  

“เชฟระดับมิชลินได้ลงพื้นที่ไปดูแหล่งผลิต แหล่งเพาะปลูก ก่อนหน้านี้ และได้ทำการคัดเลือกวัตถุดิบ เพื่อนำมาใช้ทำอาหาร และจะทำการเปิดตัวให้ทดลองชิม ในวันที่ 14 ธ.ค.2565 นี้ โดยมั่นใจว่าจะช่วยผลักดันให้สินค้า GI ที่เป็นวัตถุดิบทำอาหารเป็นที่รู้จักได้เพิ่มขึ้น และเพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิตได้มากขึ้น และยังจะส่งผลดีต่อสินค้า GI อื่น ๆ ที่จะเป็นที่ต้องการมาใช้ เพื่อเป็นวัตถุดิบทำอาหารมากขึ้น” นายวุฒิไกร กล่าว

638d57b3799ac
หอมแดงศรีสะเกษ กระเทียมศรีสะเกษ และเนื้อโคขุนโพนยางคำ สกลนคร

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสินค้า GI ไทย 136 รายการ จากทั้งหมด 171 รายการ เป็นสินค้าประเภทอาหารและผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ เป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนในแต่ละท้องถิ่น เมื่อนำมาผนวกกับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
         

นายวุฒิไกร กล่าวว่า สินค้า GI ประเภทอาหารและผลผลิตทางการเกษตร ล้วนเป็นสินค้าคุณภาพที่ขึ้นชื่อของจังหวัด มีกระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ก่อนส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากนำสินค้า GI มาต่อยอดเชิงพาณิชย์ในมิติอื่น ๆ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย จะยิ่งช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกรมฯ และหน่วยงานพันธมิตรจะเดินหน้าสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการ GI ไทยทั่วประเทศ เพื่อผลักดันสินค้าชุมชนสู่ตลาดโลกต่อไป 
         

สำหรับข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ มีปริมาณการผลิต 437,468 ตันต่อปี มูลค่า 6,343 ล้านบาท หอมแดงศรีสะเกษ มีปริมาณการผลิต 63,000 ตันต่อปี มูลค่า 2,292 ล้านบาท กระเทียมศรีสะเกษ มีปริมาณการผลิต 2,180 ตันต่อปี มูลค่า 218 ล้านบาท และเนื้อโคขุนโพนยางคำ มีปริมาณการผลิต 123 ตันต่อปี มูลค่า 30 ล้านบาท รวมสินค้าสินค้า GI ทั้ง 4 รายการ สร้างรายได้รวมกว่า 8,880 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มิชลินไกด์ คือ การจัดอันดับร้านอาหารโดยการให้ดาว ตั้งแต่ 1 ดาว, 2 ดาว และ 3 ดาว จากร้านอาหารที่นำเสนออาหารคุณภาพดีที่สุดโดยพิจารณาจากคุณภาพวัตถุดิบ, เทคนิคการปรุงอาหาร, รสชาติอาหาร, ความคิดสร้างสรรค์ และความเสมอต้นเสมอปลาย

ร้านอาหารที่ได้ 3 ดาว ถือเป็นสุดยอดร้านอาหาร ที่ควรค่าแก่การเดินทางไกลเพื่อไปชิมสักครั้ง

ร้านอาหารที่ได้ 2 ดาว คือ ร้านอาหารยอดเยี่ยม ที่ควรค่าแก่การขับรถออกนอกเส้นทางเพื่อแวะชิม

ร้านอาหารที่ได้ 1 ดาว คือ ร้านอาหารคุณภาพสูงที่ควรค่าแก่การหยุดแวะชิม

นอกจากจาก ดาวมิชลิน หรือ MICHELIN Star แล้ว ยังมีรางวัลลิล กูร์มองด์ ได้สัญลักษณ์บิเบนดัม ( Bibendum -ห่วงยางตัวสีขาว) ร้านอาหารที่ได้สัญลักษณ์นี้ คือ ร้านโปรดของผู้ตรวจสอบมิชลินที่เสิร์ฟอาหารคุณภาพดีในราคาไม่เกิน 1,000 บาท (อาหาร 3 คอร์สไม่รวมเครื่องดื่ม) 

และสุดท้ายคือ สัญลักษณ์ MICHELIN Plates (มิชลิน เพลท) คือร้านอาหารคุณภาพดีที่ใช้วัตถุดิบสดใหม่และปรุงอย่างพิถีพิถัน