โดรน กับการใช้งานเกษตรพื้นที่สูงช่วยเกษตรกร เพิ่มคุณภาพการผลิต

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของวช. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความสำเร็จจากการใช้งานเทคโนโลยีและนวัตกรรม ณ โครงการร้อยใจรักษ์ จังหวัดเชียงใหม่ จาก “โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนระบบอัตโนมัติเพื่อประยุกต์ใช้งานการพัฒนาพื้นที่สูง ในการสำรวจพื้นที่ การเกษตร การขนส่งสิ่งของ และการป้องกันการเกิดไฟป่า” โดยมี นายณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการและประธานสายปฏิบัติการพัฒนามูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ให้การต้อนรับ และนำผู้นำเกษตรกรในพื้นที่เกษตรพื้นที่สูง ของโครงการร้อยใจรักษ์ ร่วมนำเสนอการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโดรนในการเพิ่มคุณภาพการผลิตของพืชผลประเภทต่างๆ

326137982 631550208732337 9222627379842696134 n
โดรนเพื่อการเกษตรพื้นที่สูง

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้สนับสนุนให้สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ นำเทคโนโลยีโดรนระบบอัตโนมัติเพื่อประยุกต์ใช้งานในการพัฒนาพื้นที่สูง มาช่วยระบบการผลิตตามโจทย์ความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์ ที่มีพื้นที่การเกษตรในพื้นที่สูงหลายหมื่นไร่ ซึ่งมีความต้องการเทคโนโลยีในด้านการให้ปุ๋ย การใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคพืช โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ได้แก่ การให้ความรู้ในด้านเทคโนโลยี การมีสถานีควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร การฝึกผู้นำเกษตรกรและเกษตรกรเป็นนักบินโดรนการเกษตร การจัดระบบการใช้โดรนที่ครอบคลุมความต้องการและความเหมาะสมของพื้นที่ ระบบการบริหารงานของกลุ่มเกษตรกรพื้นที่สูงการดูแลและซ่อมบำรุงเทคโนโลยีโดรน ทั้งนี้ การดำเนินการใช่ช่วงปีที่ผ่านมา เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างความยั่งยืนในการเกษตรพื้นที่สูง และได้รับการตอบรับในเทคโนโลยีและประสิทธิภาพที่เกิดขึ้น

326163185 1608463479574771 6992878587700243101 n
โดรนเพื่อการเกษตรพื้นที่สูง

นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ในการดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนระบบอัตโนมัติเพื่อประยุกต์ใช้งานการพัฒนาพื้นที่สูง (การสำรวจ การเกษตร และการป้องกันอุบัติภัย) ซึ่งโครงการนี้ได้นำเทคโนโลยีโดรนระบบอัตโนมัติ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้นำเกษตรกรและเกษตรกรในพื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์ ในการพัฒนาแปลงเกษตรพื้นที่สูง ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินการในช่วง 1-2 ปีของโครงการ สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการผลิต การเข้าถึงพื้นที่เกษตรที่สูงที่ครอบคลุมพื้นที่ในระยะเวลาที่รวดเร็ว การลดต้นทุนในการทำงานทั้งเรื่องปุ๋ยและ เคมีภัณฑ์ พร้อมด้วยการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลการตอบรับการใช้เทคโนโลยีของเจ้าหน้าที่และเกษตรกรเป็นไปอย่างดียิ่ง

326118509 3036011953358971 7187624192256838832 n
โดรนเพื่อการเกษตรพื้นที่สูง

ในกลุ่มการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโดรนเพื่อเกษตรพื้นที่สูง ได้ร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนระหว่างการตรวจเยี่ยม อาทิ

-นายทรงวิทย์ แก้วมหานิล เจ้าหน้าที่ฝ่าย GIS มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ได้ใช้โดรนถ่ายภาพ งานแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ การจัดทำผังภาพเทคโนโลยีมุมสูง การจัดการภาพถ่ายมุมสูง ได้แก่ การทำแผนที่ การถ่ายภาพป่าพื้นที่ทำกิน และการจัดการพื้นที่ ซึ่งการใช้โดรนบินขึ้นไปถ่ายภาพ จะทำให้มีภาพที่ใช้ในการทำงานและวางแผนที่เห็นพื้นที่ได้ชัดเจน ทำให้เวลาวางแผน สามารถจัดวางคนและจัดผังรายละเอียดได้ดีขึ้น

-นายสมบูรณ์ แสงจันทร์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม้ผลคุณภาพบ้านห้วยส้าน ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าขณะนี้ โครงการและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีทีมนักบินโดรนเกษตร ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้การฝึกบินโดรน สามารถบินโดรนเพื่อขึ้นใข้งานในเกษตรที่สูงได้เป็นอย่างดีจากการอบรมของสมาคมฯ ขณะนี้ปัญหาคือ ความต้องการใช้งานโดรนเพื่อการเกษตรในพื้นที่ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตามฤดูกาลของพืชผลการเกษตรแต่ละชนิด ที่ต้องการดูแลระบบการผลิตที่ต่อเนื่องตลอดปี ซึ่งเกษตรกรกรต้องการการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและการใช้โดรนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ได้ใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อประยุกต์ใช้งานโดยระบบ network 4G/5G ซึ่งพื้นที่การเกษตรอยู่ที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำเกษตรไร่ส้ม สวนมะม่วง จากการใช้โดรนเพื่อการเกษตรในช่วงปีที่ผ่านมา ช่วยลดต้นทุนสารเคมี จากที่เคยใช้ 1 ลิตรกับถังยา 200 ลิตร จะใช้ไม่เต็มพื้นที่ 1 ไร่ แต่เมื่อมาใช้โดรนฉีดพ่น ใช้เพียง 10-20 ซีซี ได้ต่อ 1 ไร่ ช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสสารเคมี ลดแรงงานการเดินฉีดพ่นในพื้นที่ และมีระยะเวลาทำงานที่รวดเร็วขึ้น

-นายอาเปียว หมื่อเต๊ะ มีพื้นที่การปลูกเสาวรสในตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าได้ใช้ประโยชน์จากโดรนในการพ่นยากำจัดศัตรูพืช โดยไม่ต้องสัมผัสสารเคมี โดรนฉีดพ่นได้ดีกว่าในต้นไม้ที่สูงและทั่วถึง ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่ายและต้นทุนการดูแลพืชผล เหลือเพียง 1ใน5 ของค่าใช้จ่ายเดิม

ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการฯครั้งนี้ วช.และคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล รับฟังความเห็น และรับชมการสาธิตการใช้งานโดรนระบบอัตโนมัติเพื่อการเกษตร โดยเจ้าหน้าที่โครงการ ผู้นำเกษตรกรและเกษตรผู้ใช้งานในพื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์