อะโวคาโดนำเข้า..คลื่นกระทบลูกใหม่อะโวคาโดไทย

อะโวคาโด เป็นไม้ผลเขตร้อน แหล่งผลิตใหญ่ของโลกอยู่ในประเทศแถบอเมริกากลาง อเมริกาใต้ และแอฟริกา โดยประเทศเม็กซิโกมีปริมาณผลผลิตมากที่สุด รองลงมาคือ โคลัมเบีย 2.39 และ 0.876 ล้านตัน ตามลำดับ (ข้อมูลปี 2563)

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันผู้บริโภครู้จักพันธุ์ รู้จักวิธีการบริโภคอะโวคาโดมากขึ้น ทำให้มีการปลูกมากขึ้นทั้งบนพื้นที่สูงและพื้นที่ราบ พันธุ์ดีที่มีการปลูก ได้แก่ ปีเตอร์สัน (Peterson) บูท 7 (Booth 7) บูท 8 (Booth 8) บัคคาเนียร์ (Buccaneer) พิงค์เคอร์ตัน (Pinkerton) แฮส (Hass) โดยจะมีผลผลิตจำหน่ายตั้งแต่กลางปีจนถึงสิ้นปี รวมถึงพันธุ์พื้นเมืองซึ่งได้จากการเพาะเมล็ดที่ไม่ทราบพ่อแม่พันธุ์ที่ชัดเจน 

avocados 882635 960 720
อะโวคาโด

สำหรับการนำเข้าผลผลิตอะโวคาโด ที่ผ่านมาในช่วงปี 2562-2564 ประเทศไทยมีการนำเข้ามูลค่าเฉลี่ย 300 ล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่มาจากนิวซีแลนด์ ปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 1,200 ตัน มูลค่า 200 ล้านบาทต่อปี และจากเปรู เฉลี่ย 70 ล้านบาทต่อปี พันธุ์ที่นำเข้าคือ พันธุ์แฮส โดยจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า modern trade ซึ่งมีราคาขายปลีกค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับราคาพันธุ์แฮสที่ผลิตในประเทศ จึงไม่ส่งผลกระทบต่ออะโวคาโดไทยมากนัก

อย่างไรก็ตามพบว่า มีการนำเข้าอะโวคาโดจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม พม่า ลาว เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม มีการนำเข้าตั้งแต่ปี 2563 และมีการนำเข้ามากขึ้นทุกปี พันธุ์ที่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคคนไทย เช่น A034 บัคคาเนียร์ บูท 7 บูท 8 แฮส และสายพันธุ์อื่น ซึ่งมาจากเมือง Lam Dong, Dak Lak ที่เป็นแหล่งปลูกสำคัญของเวียดนาม โดยพ่อค้าคนกลางจะรวบรวมผลผลิต คัดแยกสายพันธุ์ และขนส่งโดยใช้รถยนต์ปกติ (ไม่ใช่รถห้องเย็น) บรรจุในตะกร้าพลาสติก น้ำหนักประมาณ 20-25 กิโลกรัม ผ่านด่านพรมแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดจันทบุรีเข้าสู่ตลาดไท ก่อนกระจายไปยังตลาดระดับอื่นในประเทศไทย ราคาขายส่ง ณ ตลาดไท เฉลี่ย 30-50 บาทต่อกิโลกรัมขึ้นกับสายพันธุ์ ฤดูกาลที่มีผลผลิตนำเข้า 10-11 เดือน คือช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน เรียกได้ว่ามีอะโวคาโดจากเวียดนามเข้าสู่ไทยเกือบจะตลอดทั้งปี

ขณะที่อะโวคาโดจากพม่ามีการนำเข้าพันธุ์พื้นเมืองหรือที่เรียกว่าพันธุ์ตองจี และพันธุ์แฮส โดยบรรจุใส่กล่องกระดาษ น้ำหนักเฉลี่ย 20 กิโลกรัมต่อกล่อง ขนส่งด้วยรถยนต์ผ่านช่องทางอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม ราคาขายส่งพันธุ์แฮสจากพม่า ณ ตลาดไท ประมาณ 60-70 บาทต่อกิโลกรัม (สำรวจเดือน ธ.ค.2565) ขณะที่ราคาพันธุ์พื้นเมือง เฉลี่ย 20-40 บาทต่อกิโลกรัม

จากข้อมูลการนำเข้าอะโวคาโดจาก 2 ประเทศเพื่อนบ้าน มีการนำเข้าในปริมาณมากและมีช่วงเวลาที่ตรงกับผลผลิตของไทย อีกทั้งมีราคาที่ใกล้เคียงหรือต่ำกว่า จึงส่งผลกระทบต่อผลผลิตอะโวคาโดของไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้นในอนาคตอันใกล้นี้ เกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโดของไทยอาจได้รับผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาของสินค้าที่มาจากต่างประเทศมากขึ้น การปรับตัวและเตรียมพร้อมเป็นสิ่งจำเป็น การสู้ด้วยคุณภาพของผลผลิตจะเป็นทางเลือกทางรอดของอะโวคาโดไทย ทั้งการเลือกปลูกสายพันธุ์ที่มีคุณภาพดีและเป็นที่ยอมรับ การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่แก่จัด การศึกษาต้นทุนการผลิตเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการทำการตลาด ตลอดจนการหาช่องทางตลาดอื่นเพื่อเพิ่มโอกาสและเพิ่มมูลค่า จึงเป็นสิ่งที่เกษตรกรไทยต้องปรับตัวและเรียนรู้ 

สำหรับเทคนิคการปลูก อะโวคาโด ต้องเริ่มจาก

1ต้นกล้า

ต้องเตรียมต้นกล้าให้พร้อม มีความสมบูรณ์ แข็งแรง หากเป็นต้นกล้าที่เตรียมเองต้องเลือกพันธุ์ที่จะใช้เป็นต้นตอ เช่น พันธุ์ Booth 7 ที่มีเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดสูง(98.59%)และต้นเจริญเติบโตดี หรืออาจเลือกใช้พันธุ์ที่ทนต่อเชื้อไฟทอปธอรา (Phytophthora spp.) ที่เป็นเชื้อสาเหตุของโรครากเน่าของอะโวคาโด เช่น พันธุ์ Reed, Topa-Topa, Duke 7, Dusa หรือใช้พันธุ์พื้นเมืองซึ่งมีระบบรากที่แข็งแรง ก็สามารถนำมาใช้เป็นต้นตอได้ เมล็ดที่นำมาเพาะควรมาจากผลที่แก่และเก็บจากบนต้น ไม่ควรใช้เมล็ดที่หล่นจากต้น จากนั้นเปลี่ยนพันธุ์เป็นพันธุ์ดีตามที่ต้องการ แต่หากซื้อต้นกล้าจากแหล่งขายทั่วไปต้องซื้อจากแหล่งผลิตที่มีความน่าเชื่อถือ ถูกต้องตามพันธุ์ ต้นแข็งแรง และหากต้นกล้าอยู่ในถุงเพาะเลี้ยงขนาดเล็กนาน ควรย้ายกล้าลงในถุงขนาดใหญ่ ซึ่งการปลูกด้วยต้นกล้าอายุ 1-2 ปี ต้นมีโอกาสรอดในแปลงสูงเนื่องจากมีระบบรากที่เจริญดีและรอยต่อที่เปลี่ยนพันธุ์ประสานกันดีแล้ว ทำให้ต้นแข็งแรงและพร้อมปลูกในแปลง

2. ก่อนปลูก

         

อะโวคาโดเป็นพืชที่ชอบดินที่มีการระบายน้ำดี ไม่ชอบสภาพพื้นที่ที่มีน้ำขังหรือชื้นแฉะ เนื่องจากระบบรากอ่อนแอต่อเชื้อไฟทอปธอรา ดังนั้น พื้นที่ปลูกต้องเป็นที่โล่ง แดดดี ไม่อยู่ใต้ร่มไม้ หรือเป็นที่ต่ำน้ำท่วมขัง หากเป็นพื้นที่ราบควรปลูกแบบยกแปลง ควรเตรียมหลุมปลูกขนาด 80x80x80 เซนติเมตร (กว้างxยาวxลึก) เตรียมวัสดุผสมโดยใช้ดินผสมปุ๋ยคอกและวัสดุอื่น ๆ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ แกลบดำ คลุกเคล้าให้เข้ากัน อัตราส่วนดิน:ปุ๋ยคอก:วัสดุอื่นๆ 1:1:1 และถ้าดินมีสภาพเป็นกรด ควรใส่โดโลไมท์ผสมเข้าไปด้วย สำหรับพื้นที่เป็นเนินหรือบนดอยพื้นที่สูง เมื่อเตรียมหลุมปลูกแล้ว ให้เตรียมวัสดุปลูกตามอัตราส่วนเพื่อเป็นคลังอาหารของต้นอะโวคาโด พูนวัสดุผสมให้มีความสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตรจากระดับพื้นดิน บนหลุมปลูกที่เตรียมไว้

3ปลูก

ปลูกต้นอะโวคาโดบนเนินดินผสมนั้นโดยให้โคนต้นอยู่ระดับดิน ไม่ลึกจนดินฝังโคนต้นหรือรากของต้นกล้าลอย และให้รอยต่อระหว่างต้นตอและต้นพันธุ์อยู่เหนือระดับดิน กลบดินรอบโคนต้นให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม คลุมบริเวณโคนต้นด้วยวัสดุ เช่น ฟาง แกลบ เศษหญ้าแห้ง เพื่อรักษาความชื้นของดินและป้องกันวัชพืช ควรค้ำต้นโดยใช้ไม้ปักค้ำเพื่อพยุงต้นกล้าแต่ให้ปักเฉียง 45 องศา เนื่องจากหากปักตรงชิดลำต้น ปลายไม้อาจบาดราก ให้รากเป็นแผลจะเป็นช่องทางให้เชื้อโรคเข้าสู่ลำต้น และเมื่อถึงฤดูแล้งปลวกจะมากินไม้ค้ำและรากต้นอะโวคาโดที่อยู่ติดกันได้

         

ช่วงปลูก สามารถปลูกได้ตลอดปีหากสามารถให้น้ำได้ แต่หากเป็นพื้นที่สูงซึ่งไม่มีน้ำควรปลูกช่วงต้นฤดูฝนเพราะจะมีน้ำสำหรับต้นที่ปลูกใหม่ แต่ไม่ควรปลูกกลางฤดูฝนเนื่องจากฝนตกชุก น้ำอาจท่วมขังต้นอะโวคาโดที่ปลูกใหม่ นอกจากนี้ ต้นหญ้า/วัชพืชในแปลงมักโตเร็วและขึ้นปกคลุมต้นอะโวคาโดทำให้ต้นโตช้าหรือตายได้ หรือปลูกช่วงปลายฝนต้นหนาวซึ่งดินยังมีความชื้นและปริมาณฝนไม่มากเหมือนเช่นฤดูฝน จะทำให้ต้นสามารถตั้งตัวได้เร็วขึ้น

4 หลังปลูก

 

ต้องพรางแสงให้ต้นอะโวคาโดตั้งแต่หลังปลูกนาน 1 เดือน และควรให้น้ำสม่ำเสมอ ให้พอชื้นแต่ไม่แฉะ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนแรก เพื่อให้ต้นเจริญเติบโตและมีรากแผ่กระจายได้เร็ว นอกจากนี้ ควรกำจัดวัชพืชรอบโคนต้นโดยใช้มีดตัด ห้ามถากหรือถางวัชพืชบริเวณโคนต้นโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้รากต้นอะโวคาโดฉีกขาด เป็นแผล ให้เชื้อโรคเข้าไปทำลายต้นได้

         

การปลูกอะโวคาโดนั้นไม่ยาก แต่มีรายละเอียดที่ต้องระวังโดยเฉพาะระบบรากของอะโวกาโด หากผ่านในช่วง 1-2 ปีแรกหลังปลูกไปได้ อะโวคาโดก็สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดีได้

ที่มา :สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ( องค์การมหาชน)