นายกฯ ห่วง เด็ก-เยาวชน-ประชาชน กำชับ สธ.-ศธ.-มท. เร่งสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์และโทษของกัญชา/กัญชง

วันที่ 16 มิถุนายน 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สั่งการกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทยรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสื่อสาร ทำความเข้าใจกับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปถึง“การใช้กัญชา” ที่ถูกต้อง รวมไปถึงอันตรายและโทษของกัญชาหากถูกนำไปใช้ผิดวิธีหรือมากเกินความจำเป็น รวมทั้งการสนับสนุนให้สถานศึกษาทุกระดับเป็นพื้นที่ปลอดกัญชา

นายกรัฐมนตรียังย้ำถึงการปลดล็อกกัญชาเพื่อ 3 วัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ และเพื่อประโยชน์ทางด้านสุขภาพ และขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวในช่วงสูญญากาศทางกฎหมายระหว่างรอ ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ. .… ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการเร่งรัดในกรรมาธิการ โดย สธ. กำลังเร่งประชุมพิจารณาให้กัญชาเป็น “สมุนไพรควบคุม” ป้องกันการเข้าถึงของเยาวชน

275561217 509406427216690 7726016487940960343 n 2
ต้นกัญชา

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายกรัฐมนตรียังฝากขอความร่วมมือร้านค้า ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม ที่นำส่วนของ “กัญชา” มาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ต้องแจ้งข้อมูล ปริมาณการใช้ เพื่อให้ผู้บริโภครับทราบเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค หลีกเลี่ยงส่งกระทบต่อสุขภาพที่จะตามมา

ภายหลังที่กัญชาได้พ้นจากบัญชีจากเสพติดประเภทที่ 5 เป็นต้นมา ปรากฏในช่วงระยะเวลา 6 วันที่ผ่านมา มีการจดแจ้งในเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” เพื่อการปลูกมากถึง 37 ล้านครั้ง และมีผู้ได้รับการจดแจ้งแล้วกว่า 7 แสนรายแล้วอย่างไรก็ตาม “การปลดกัญชา” ออกจากการเป็นยาเสพติด มีเจตนารมณ์ที่สำคัญเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ โดยกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัยได้ออกข้อแนะนำใน “การใช้กัญชาและกัญชง” ให้ระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากบริโภคอย่างไม่เหมาะสม

และห้ามจำหน่ายแก่บุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กและเยาวชน สตรีมีครรภ์ มารดาที่ให้นมบุตร เพื่อคุ้มครองไม่ให้กลุ่มเปราะบางเหล่านี้เกิดผลข้างเคียง เด็กและเยาวชนที่มีโอกาสเสพติดมากกว่าผู้ใหญ่ และยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง ระดับสติปัญญา ขณะที่ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร สารสกัดจากกัญชาอาจส่งผลต่อเด็กในครรภ์หรือทารกได้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

เมื่อวานนี้ (15 มิ.ย. 65) กรุงเทพมหานครได้ออกประกาศ เรื่อง การเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจาก“การใช้กัญชา”หรือ “กัญชง” ในนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร มีเนื้อหาดังนี้

1.ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ “ปลอดกัญชาหรือกัญชง”

2.งดจำหน่ายอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชง ภายในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

3.ห้ามโฆษณาอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงภายในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

4.ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ภายในโรงเรียนสังกัด กรุงเทพมหานคร ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างแก่นักเรียนและกวดขัน ดูแลนักเรียนมิให้มีการบริโภคกัญชาหรือกัญชง

5.ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร มุ่งเน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ กัญชาหรือกัญชงและอันตรายจากกัญชาหรือกัญชงแก่นักเรียนด้วยการบูรณาการเข้ากับกลุ่มสาระการเรียนรู้ และกิจกรรมต่าง ๆ ในการเรียนการสอนทุกระดับ

6.ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครมีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย และจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมนักเรียนตามความถนัดหรือความสนใจ โดยสอดแทรกและเน้นย้ำเรื่องพิษภัยของกัญชาหรือกัญชง

7.ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ประชาสัมพันธ์ เรื่องโทษของการใช้กัญชาหรือกัญชงที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของนักเรียน

8.ประสานความร่วมมือ แจ้งนโยบายการเฝ้าระวังปัญหาฯ แก่ผู้ปกครองชุมชน รวมถึง ผู้ประกอบการร้านค้ารอบโรงเรียน เฝ้าระวังไม่ให้มีการจำหน่าย อาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชง

9.ให้ผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครประสานความร่วมมือกับสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักการศึกษา และสำนักงานเขตเพื่อบูรณาการการป้องกันและเฝ้าระวัง ปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิด