วันที่ 10 พฤษภาคม 2568 เวลา 11.00 น. นายราเชน ศิลปะรายะ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็นช่วงกำลังเปลี่ยนฤดูกาลระหว่างฤดูร้อนไปเป็นฤดูฝน ทำให้เกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรมและเขตชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ประกาศว่าในช่วงวันที่ 9–12 พฤษภาคม 2568 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นโดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และฝนตกหนักบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่น ๆ จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียดนามและทะเลจีนใต้ ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวจึงได้สั่งการให้หน่วยยับยั้งลูกเห็บและสถานีเรดาร์ฝนหลวงทุกภูมิภาค ติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่องทุกวันเพื่อวางแผนปฏิบัติการบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บให้กับพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบ
นายราเชน กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวานนี้ (9 พฤษภาคม 2568) จากการติดตามสภาพอากาศพบว่า มีพื้นที่เสี่ยงเกิดฝนตกหนัก พายุฝนฟ้าคะนอง และมีลูกเห็บตก บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย และจังหวัดพิษณุโลก หน่วยยับยั้งลูกเห็บจังหวัดพิษณุโลกจึงได้วางแผนปฏิบัติการบินด้วยเครื่องบินแบบปรับความดัน Super King Air บินปฏิบัติการเวลา 13.30 น. ที่ระดับความสูง 21,000 ฟุต และใช้สารฝนหลวงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ ซึ่งหลังปฏิบัติการพบว่า ไม่พบลูกเห็บบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ อีก 4 หน่วยยับยั้งลูกเห็บ ได้แก่ หน่วยฯ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา และอุดรธานี ยังได้มีการติดตามสภาพอากาศและปฏิบัติการบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บในวันที่ 1, 6, 7 และ 8 พฤษภาคม 2568 ผลปฏิบัติการพบว่า ไม่พบรายงานลูกเห็บตกในช่วงเวลาเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น และอำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภูอีกด้วย
สำหรับการปฏิบัติการบรรเทาและยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะใช้เครื่องบิน Super King Air ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และเครื่องบิน Alpha Jet ของกองทัพอากาศนำสารฝนหลวงซิลเวอร์ไอโอไดด์ไปเร่งกระบวนการทางธรรมชาติทำให้ผลึกน้ำแข็งเปลี่ยนสถานะเป็นเม็ดน้ำละลายตกลงมาเป็นน้ำฝน ซึ่งจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรลงได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนและฝนตกหนักที่จะเกิดขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ไม่ควรอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงเตรียมการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรและสัตว์เลี้ยง