กรมประมง จับมือภาคเอกชน..จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “การเพาะเลี้ยงม้าน้ำเพื่อเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง” เสริมศักยภาพการเพาะเลี้ยงและแปรรูป ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน พร้อมสร้างเครือข่ายเพื่อเร่งขยายกำลังการผลิตสู่การเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ ตอบสนองความต้องการของตลาด และลดการจับจากธรรมชาติสอดคล้องกับอนุสัญญาไซเตส หวังเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถทางการแข่งขันให้เกษตรกรไทย
นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การเพาะเลี้ยงม้าน้ำเพื่อเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง” ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2568 ณ บารารีสอร์ท และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล จังหวัดสตูล ว่า..กรมประมงมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสำหรับทดแทนการจับจากธรรมชาติ ซึ่งนับวันมีปริมาณลดน้อยลง โดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ตามนโยบายของนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ซึ่งได้สนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับสินค้าภาคประมงทั้งในและต่างประเทศ พร้อมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรไทย
“ม้าน้ำ” (Sea horse) จัดเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของรูปร่างและพฤติกรรมที่แตกต่างจากสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ จึงทำให้เป็นที่ต้องการสูงทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ โดยนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์น้ำสวยงาม และนำมาบริโภคโดยมีความเชื่อว่ามีสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกายและรักษาโรคต่าง ๆ ได้รวมทั้งนำมาทำเป็นสินค้าที่ระลึกหรือเครื่องประดับ เช่น เข็มกลัด และพวงกุญแจ เป็นต้น โดยม้าน้ำถูกจัดให้เป็นสัตว์น้ำในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญาไซเตส คือ อนุญาตให้ทำการค้าได้ และต้องอยู่ในความควบคุมหรือจำกัดปริมาณ เพื่อไม่ให้มีผลเสียหายหรือจำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็วจนใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากม้าน้ำเป็นสัตว์น้ำพลอยจับได้จากเครื่องมือการทำประมง อีกทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติลดลงรวมถึงความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ การจับม้าน้ำจากธรรมชาติมาเพื่อทำการค้าจึงส่งผลกระทบต่อประชากรม้าน้ำในธรรมชาติที่เสี่ยงลดลง
กรมประมง จึงได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการผลักดันม้าน้ำสู่การส่งออกเชิงพาณิชย์ จัดการอบรม หลักสูตร “การเพาะเลี้ยงม้าน้ำเพื่อเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง” ขึ้น ให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 5 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต และสตูล รวมทั้งสิ้น 40 ราย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้เพาะเลี้ยงม้าน้ำให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของตลาด ลดการจับจากธรรมชาติ และผลักดันให้เป็นสินค้าสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง เป็นอาชีพทางเลือกให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สามารถสร้างอาชีพและสร้างรายได้ที่มั่นคง รวมถึงเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าและเพิ่มโอกาสในการส่งออกม้าน้ำไปยังประเทศเป้าหมาย ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ซึ่งยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง
สำหรับเนื้อหาการฝึกอบรม ประกอบด้วย 1.หลักการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ และการแปรรูปม้าน้ำให้เป็นสัตว์น้ำมูลค่าสูง ซึ่งปัจจุบันกรมประมงสามารถเพาะเลี้ยง ม้าน้ำได้ 3 ชนิด ได้แก่ ม้าน้ำหนาม ม้าน้ำดำ และม้าน้ำสามจุด 2.กฎหมายที่เกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออกม้าน้ำ และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 3.การขนส่งและการตลาดเพื่อการจำหน่ายและส่งออกม้าน้ำ โดยมีผู้เชี่ยวชาญทั้งในส่วนของกรมประมงและภาคเอกชนร่วมให้ความรู้อย่างเข้มข้น พร้อมลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล จังหวัดสตูล เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพได้จริง และขยายผลความสำเร็จการเพาะเลี้ยงสู่เครือข่ายเกษตรกรรายอื่น ๆ ต่อไป
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของเกษตรกรไทยจะสามารถผลักดันให้เกิดการขยายกำลังการผลิตม้าน้ำในเชิงพาณิชย์ได้ในไม่ช้า ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาจากการจับในธรรมชาติ และรองรับความต้องการของตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่องได้มากขึ้น ส่งผลให้ “ม้าน้ำ” ขึ้นแท่นเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูงทางเลือกใหม่ของเกษตรกรไทยในอนาคต