นายสุนทร มีจำนงค์ อายุ ๗๐ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๙๒ หมู่ที่ ๒๔ ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
การศึกษา ประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนกุดประทายวิทยาคม
ผลงานดีเด่น
ความคิดริเริ่มและความพยายามฟันฝ่า อุปสรรคในการสร้างผลงาน
๑. มีความคิดริเริ่ม “ฝากเงินไว้กับต้นไม้” ลักษณะนิสัยเป็นคนที่ชอบปลูกต้นไม้ จึงมองการออมเงินกับต้นไม้เพื่อเป็นมรดกแก่ลูกหลานเริ่มแรกได้ปลูกยูคาลิปตัสเนื้อที่ ๓๐๐ ไร่ ลงทุนการปลูก ๖๔๐,๐๐๐ บาท ในอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อต้นไม้โตจึงขายที่ดินพร้อมต้นยูคาลิปตัส ในราคา ๙ ล้านบาทและได้ย้ายถิ่นฐาน ไปซื้อที่ดินที่อำเภอเดชอุดม เพื่อปลูกสวนป่าแบบวนเกษตร แบบผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ ระหว่างไม้ป่า พืชเกษตร/ปศุสัตว์ โดยแบ่งพื้นที่ปลูกไม้โตเร็ว เช่น ยูคาลิปตัส และไม้โตช้า เช่น สัก ประดู่ พะยูง ยางนา เป็นต้น เพื่อเป็นการออมเงินกับต้นไม้ เมื่อไม้เติบโตได้ขนาดที่เหมาะสมสามารถขายเป็นรายได้ และช่วยลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเกษตรที่ราคาไม่แน่นอน
๒. มีแนวคิด “ขายแล้วซื้อ”รายได้จากการขายไม้ จะบริหารจัดการโดยแบ่งเงิน จำนวน ๖๐% เพื่อซื้อที่ดินหรือเช่าที่ดินเพิ่มสำหรับขยายพื้นที่ปลูกสวนป่า
๓. พื้นที่สวนป่ามีการแบ่งเป็นพื้นที่สวนป่าเพื่อการอนุรักษ์ และสวนป่าเพื่อเศรษฐกิจ โดยไม้โตเร็วจะวางแผนระยะยาวในการปลูก มีการบริหารจัดการ โดยการแบ่งตัดขายช่วงที่ราคาสูงมีความต้องการของตลาดและตัดแบบรอบหมุนเวียน
๔. เลือกชนิดไม้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ พื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความแห้งแล้ง จึงเหมาะต่อการปลูกยูคาลิปตัสในการทำสวนป่า ซึ่งเป็นไม้โตเร็วที่ทนต่อสภาพแห้งแล้ง และสามารถแตกหน่อได้ดีโดยไม่ต้องปลูกใหม่ ตัดฟันใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่อายุ ๓-๕ ปี มีการจัดการง่าย สร้างรายได้ไว ลงทุนน้อย ผลกำไรดี
๕. สภาพอากาศในฤดูแล้ง จะแล้งจัด ขาดน้ำใช้ในสวนป่า จึงปรับสภาพพื้นที่โดยการขุดสระไว้ในแปลงสวนป่า เพื่อกักเก็บน้ำโดยทำธนาคารน้ำบนดิน มีการวางระบบน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำโดยไม่ใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องสูบน้ำ และขุดบ่อจำนวน ๗ บ่อ รอบสวนป่า เพื่อรักษาความชุ่มชื้น
๖. มีการปลูกกล้วยเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้ไม้ป่าและเป็นแนวกันไฟเปียกในช่วงฤดูแล้ง
ผลงานและความสำเร็จของผลงานทั้งปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนระยะเวลาที่ปฏิบัติงานและความยั่งยืนในอาชีพ
๑. สวนป่าแบบผสมผสานไม้มีค่าเพื่อการอนุรักษ์และสวนป่าเศรษฐกิจไม้โตเร็ว ชนิดไม้ป่าที่ปลูก ได้แก่ สัก พะยูง ประดู่ ยางนา ตะเคียน มีการเติบโตดี ไม่มีโรค และแมลงรบกวน เกษตรกรมีการจัดการสวนป่าอย่างเป็นระบบ
๒. เกิดการสร้างรายได้จากการปลูกสวนป่าแบ่งเป็น ๓ ระยะ ๑) ระยะสั้น อายุสวนป่า ๕ ปี รายได้จากการขายไม้โตเร็ว ใช้ทำชิ้นไม้สับ เยื่อกระดาษ ๒) ระยะกลาง อายุสวนป่า ๖-๑๐ ปี รายได้จากการขายไม้ โตเร็ว ใช้เป็นไม้นั่งร้าน ไม้นิ้ว ไม้แปรรูป ๓) ระยะยาวรายได้จากไม้มีค่าโตช้าที่ปลูกเพื่อเป็นเงินออม
๓. ส่งต่อความสำเร็จความยั่งยืนอาชีพปลูกสวนป่าจากพ่อสู่ลูก โดยการเพิ่มมูลค่าไม้สวนป่า ได้แก่ สัก พะยูง ประดู่ มะขาม ขนุน โดยใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลอัตโนมัติที่ทำงานได้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อทำการผลิตชิ้นส่วนวัสดุให้ได้ขนาดและรูปทรงตามที่ต้องการด้วยการกลึง (CNC) เป็นผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก ๓ มิติโดยนำไม้พะยูง ไม้ขนุน มาแกะสลักเป็นท้าวเวสสุวรรณขนาด ๒.๕ x ๒.๕ x ๗.๕ ซม. ขายชิ้นงานละ ๑๙๙ บาท ทำการตลาดโดยจำหน่ายช่องทางออนไลน์
รายได้และผลผลิตจากสวนป่า
๑. รายได้จากการตัดไม้ยูคาลิปตัสขาย
-ปี ๒๕๕๗ มีรายได้ ๒,๘๐๐,๐๐๐ บาท
-ปี ๒๕๖๒ มีรายได้ ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท
-ปี ๒๕๖๗ มีรายได้ ๘๐๐,๐๐๐ บาท รวมรายได้เป็นเงิน ๔,๙๐๐,๐๐๐ บาท
๒. รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไม้
ผลิตภัณฑ์ไม้และงานไม้แกะสลัก ๓ มิติมีรายได้เฉลี่ย ๓๕๐,๐๐๐ บาท/ปี ยอดขายเฉลี่ยต่อเดือน ๘๐ – ๑๐๐ ชิ้น
ความเป็นผู้นำและการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในด้านต่าง ๆ
๑. อดีตประธานสหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน อำเภอเดชอุดม ในช่วงปี ๒๕๔๔-๒๕๖๐ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสหกรณ์สวนป่าภาคเอกชนเดชอุดม
๒. เป็นเกษตรกรต้นแบบและวิทยากรให้ความรู้เรื่องการทำสวนป่า สหกรณ์สวนป่าในชุมชน และถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับประโยชน์จากการปลูกสวนป่าทางสถานีวิทยุคำสมบูรณ์ FM๙๙
๓. เป็นประธานชมรมหัวใจเดียว จังหวัดอุบลราชธานีและอดีตประธานชมรมเสี่ยวเมืองอุบลราชธานี
๔. บริจาคทรัพย์เพื่อสมทบจัดซื้อที่ดิน ก่อสร้างฝายและสนับสนุนไม้ยูคาลิปตัส เสาปูน ในการก่อสร้างสะพานดอนปู่ตา อำเภอเดชอุดม
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๑. ปลูกสวนป่าแบบวนเกษตร และแบบผสมผสาน ทำให้เพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศในพื้นที่รวมทั้งทำให้ดินมีความชุ่มชื้น และธาตุอาหารเพิ่มขึ้น
๒. แบ่งพื้นที่บางส่วนเป็นสวนป่าเพื่อการอนุรักษ์โดยเป็นการปลูกป่าพื้นบ้านอาหารชุมชน และเป็นที่อยู่ของสัตว์ท้องถิ่นด้วย
๓. มีการทำระบบน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำโดยไม่ใช้พลังงาน และมีการขุดบ่อน้ำเพื่อนำน้ำมาใช้หน้าแล้งลดการใช้น้ำจากชุมชน