ผู้เลี้ยง “นกกรงหัวจุก” และสัตว์ป่าคุ้มครอง รู้ยัง รัฐลดขั้นตอนแจ้งครอบครอง

รองโฆษกรัฐบาลเผยผู้เลี้ยง “นกกรงหัวจุก” และสัตว์ป่าคุ้มครอง รู้ยัง กรมอุทยานลดขั้นตอนแจ้งครอบครองสัตว์ป่า

วันที่ 4 ธ.ค. 65 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า  ตามที่ได้มีข้อเสนอจากภาคประชาชนในพื้นที่อยากให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาการผ่อนคลายการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง “นกกรงหัวจุก” ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น อีกทั้งมีการจัดการแข่งขันเสียงร้องในหลายภูมิภาค รวมถึงมีการเพาะเลี้ยงในกรงจำนวนมาก จนถือได้ว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่ง

%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%82%E0%B8%99
นกกรงหัวจุก

ทั้งนี้ จากการรับฟังความเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทางกรมอุทยานฯเห็นว่า ยังมีความจำเป็นที่ต้องคง “นกกรงหัวจุก” ให้อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองต่อไป อย่างไรก็ตาม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้สั่งการให้กรมอุทยานฯ ยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนในเรื่องการขออนุญาตค้าและครอบครองสัตว์ป่าและซากสัตว์ป่าคุ้มครองทุกชนิดให้มีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเดิมผู้แจ้งครอบครองจะต้องดำเนินการยื่นเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ด้วยตนเอง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ ทำให้การออกใบอนุญาตล่าช้า 

ขณะนี้ กรมอุทยานฯได้ปรับลดขั้นตอนการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งลดการใช้เอกสารหลักฐานในการยื่นให้เหลือตามความจำเป็นเท่านั้น ทั้งหมดนี้เพื่อยกระดับคุณภาพการบริการประชาชน โดยการยื่นขออนุญาต ให้ส่งเอกสารได้ทางไปรษณีย์ หรือขนส่งเอกชน หรือยื่นด้วยตนเองได้ที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ต่างจังหวัด ยื่นได้ที่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 หรือสาขาทุกสาขา นอกจากนี้กรมฯ กำลังดำเนินการเพิ่มช่องทางเพื่อให้ประชาชนยื่นคำขอผ่านระบบออนไลน์ได้อีกด้วย

สำหรับผู้ที่ซื้อสัตว์ป่าที่ได้จากการเพาะพันธุ์และนำไปครอบครอง ให้ยื่นขออนุญาตครอบครองสัตว์ป่าฯ โดยใช้เอกสาร ประกอบด้วย สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน คำขอรับใบอนุญาต หลักฐานการได้มาซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ ภาพถ่ายสถานที่ครอบครองสัตว์ป่า และภาพถ่ายชนิดของสัตว์ป่าที่มีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่า กรณีหากมีเหตุอันควรสงสัย เช่น ชนิด จำนวน เครื่องหมาย เจ้าหน้าที่อาจลงพื้นที่ตรวจสอบหรือตรวจสอบข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ต่อไป ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่หมายเลข 0 2579 4621 หรือ 0 2579 6666 ต่อ 1632

“จึงขอแจ้งให้ประชาชนที่ครอบครองนกกรงหัวจุก หรือสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดอื่น ๆ ดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้องเพื่อจะได้ไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี ทางกรมอุทยานฯได้ปรับลดขั้นตอน และลดการใช้เอกสาร ให้เหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและรวดเร็วแก่ประชาชน และระยะต่อไปจะเพิ่มการให้บริการในระบบออนไลน์ด้วย” นางสาวรัชดา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นกปรอดหัวโขน หรือ นกปรอดหัวจุก หรือที่นิยมเรียกกันว่า นกกรงหัวจุก เป็นนกที่อยู่ในวงศ์นกปรอด ซึ่งอยู่ด้วยกันทั้งหมด 109 ชนิด สำหรับในประเทศไทยพบได้ 36 ชนิด

นกปรอดหัวโขนเป็นนกขนาดเล็ก ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 20 เซนติเมตร มีสีสันสวยงามและเสียงร้องไพเราะ ที่แก้มและคอจนถึงหน้าอกจะมีสีขาวและมีสีแดงเป็นเส้นอยู่ข้างหูลงมาถึงหน้าอกเหมือนเป็นเส้นแบ่งขนสีขาวกับสีดำที่มีอยู่ทั่วทั้งตัวขนส่วนหัวจะร่วมกัน เป็นเหมือนหน่อตั้งอยู่บนหัวสูงขึ้นไปเหมือนหัวโขน อันเป็นที่มาของชื่อ ใต้ท้องมีขนสีขาว พบกระจายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงเอเชียตะวันออก พบได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ตั้งแต่ยอดเขาสูง ป่าที่ราบต่ำ จนถึงทุ่งหญ้า ชายป่า และเขตที่ใกล้กับชุมนุมมนุษย์


นกปรอดหัวโขนหรือนกกรงหัวจุก เป็นที่นิยมในแง่ที่เป็นสัตว์เลี้ยง ที่เลี้ยงเพื่อฟังเสียงร้องอันไพเราะ และเพื่อการแข่งขันเสียงร้อง เช่นเดียวกับนกเขาชวา (Geopelia striata) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ติดกับมาเลเซีย คือ นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา ซึ่งการเลี้ยงนกชนิดนี้เป็นเหมือนหนึ่งในวัฒนธรรมและวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนที่นั่น นกปรอดหัวโขนหากได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง สามารถมีอายุยืนนานได้ถึง 11 ปี และนกตัวใดที่มีเสียงร้องไพเราะและได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดแข่งขัน อาจมีสนนราคาถึงหลักล้านบาท

ปัจจุบัน นกปรอดหัวโขนหรือนกกรงหัวจุก เป็นสัตว์ที่มีรายชื่ออยู่ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่มีความพยายามของผู้ที่นิยมเลี้ยงผลักดันให้เป็นสัตว์ที่เลี้ยงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งประเด็นนี้มีทั้งผู้ที่เห็นและคัดค้านเนื่องจากจนถึงปัจจุบัน นกปรอดหัวโขน ที่เลี้ยงไว้เกือบทั้งหมดมาจากการจับจากธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงอย่างที่อ้างกัน ซึ่งการจับนกจากธรรมชาติเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นกชนิดนี้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในภาคใต้ของประเทศไทย