“เครื่องดื่มมะพร้าวรูปแบบใหม่” โอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมมะพร้าวไทยในจีน

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากการส่งออกมะพร้าวสดและน้ำมะพร้าวธรรมชาติของไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดจีนแล้ว ปัจจุบันอีกหนึ่งในโอกาสและเทรนด์ที่น่าจับตามองคือ “กลุ่มเครื่องดื่มมะพร้าวรวมไปถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวรูปแบบใหม่” ที่เข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคในตลาดเครื่องดื่มตลอดจนอาหารของจีน

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ณ นครซีอานจึงขอชี้ช่องทางโอกาสดังกล่าวให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยเปรียบเทียบจากการสำรวจตลาดในนครซีอาน พร้อมมุมมองจากผู้ประกอบการในพื้นที่นครซีอาน มณฑลส่านซี

1 1
ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวได้รับความนิยมในจีน

ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวยอดฮิตในจีน

ปัจจุบัน เครื่องดื่มมะพร้าวที่ปรากฏในจีนส่วนใหญ่ใช้นมมะพร้าวหรือน้ำมะพร้าวเป็นส่วนผสมหลัก โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ในตลาดจีนมีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมะพร้าวเปิดตัวมากกว่า 130 รายการ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เครื่องดื่มชารูปแบบใหม่อย่างแบรนด์ Hey Tea, Nayuki, Luckin Coffee, และแบรนด์อาหารฟาสต์ฟูดชื่อดังอย่าง KFC ก็ได้มีการเปิดตัวเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของมะพร้าวมากกว่า 20 รายการ โดยยกตัวอย่างเครื่องดื่มรสชาติมะพร้าวที่ได้รับความนิยมในตลาดจีน ซึ่งรวมถึงความนิยมในตลาดซีอาน

6
ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวได้รับความนิยมในจีน

ได้แก่ (1) มะพร้าวปั่นและมะพร้าวปั่นผสมผลไม้อื่น ๆ โดยใช้นมมะพร้าวและน้ำมะพร้าวเป็นส่วนผสมพื้นฐานร่วมกับผลไม้สด เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 แบรนด์ Hey Tea ได้เปิดเมนูใหม่ 2 รายการในซีรี่ส์ “Shengda Coconut (มะพร้าวสด)” ได้แก่ เมนู ShengDaYeye (生打椰椰) และมะพร้าวผสมมะม่วง YeyeMangmang (椰椰芒芒) โดยเครื่องดื่มของ Hey Tea เน้นรสธรรมชาติของมะพร้าวอ่อน ไร้น้ำตาล ไขมันต่ำ และสามารถดื่มได้ง่าย ซึ่งจากรายงานประจำปี 2563 ของ Hey Tea ที่พบว่า Hey Tea ใช้มะพร้าวสดไปมากกว่า 3,200 ตันต่อปี และเมนูเครื่องดื่มมะพร้าวอยู่ในอันดับที่ 5 ของยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ขายดีของ Hey Tea ปี 2563

8 768x770 1
ผลิตภัณฑ์มะพร้าวในจีน

2) กาแฟลาเต้มะพร้าว (Raw coconut latte:生椰拿铁) ของ Luckin Coffee ซึ่งเปิดตัวตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2564 สามารถจําหน่ายได้ถึง 100,000 แก้ว ภายในระยะเวลาเพียง 3 วันเท่านั้น และจากสถิติล่าสุดที่เมื่อเดือนเมษายน 2565 Luckin Coffee ได้ประกาศว่า กาแฟลาเต้มะพร้าวมียอดจำหน่ายถึง 100 ล้านแก้วต่อปี

(3) เครื่องดื่มมะพร้าวผสมกับชา (ในรูปแบบชานม) เมื่อเดือนตุลาคม 2564 Hey Tea ได้คิดค้นเมนูใหม่โดยผสานชาไทยร่วมกับนมมะพร้าว พร้อมตั้งชื่อน่ารัก ๆ ว่า “泰好喝了椰” หมายถึงอร่อยมาก (โดยเล่นคำการออกเสียงคำว่า “ไท่ 泰” หมายถึงประเทศไทย การออกเสียงเหมือนคำว่า “ไท่ 太” หมายถึง มาก ร่วมกับและคำว่า “เย  椰” หมายถึงมะพร้าว การออกเสียงเหมือนคำว่า “เย 耶” ซึ่งเป็นคำอุทานเพื่อแสดงถึงความอารมณ์ดีและเสริมความน่ารักด้วย) เมนูนี้จำหน่ายในบรรจุภัณฑ์มะพร้าวทั้งลูกด้วย ถึงแม้ว่าราคาจำหน่าย 59 หยวนต่อชุดแพงกว่าการจำหน่ายชานมมะพร้าวใส่ในแก้วปกติที่จำหน่ายในราคา 30 หยวน แต่ก็ยังคงมียอดจำหน่ายที่สูง เนื่องจากตรงต่อความต้องการของผู้บริโภควัยหนุ่มสาวที่นิยม upload รูปถ่ายลงในสื่อโซเชียล

นอกจากแบรนด์ Hey Tea แล้ว 22 ก.ค.65 ร้านเครื่องดื่มชาของท้องถิ่นมณฑลส่านซี ฉาฮั่วน่ง (Chahuanong :茶话弄) ก็มีการเปิดตัวเครื่องดื่มรูปแบบใหม่ที่มีส่วนผสมเป็นนมมะพร้าว เช่น เมนู Mitaoshuimoyunye (蜜桃水墨云椰) และ Guixiangshuimoyunye (瑰香水墨云椰) ซึ่งผสมนมมะพร้าวร่วมกับชาผลไม้และชาดอกไม้ แสดงให้เห็นว่า กระแสการนำนมมะพร้าวไปเพิ่มรสชาติใหม่ หรือทำเป็น functional drink กำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ในตลาดจีนตลอดจนในตลาดซีอานด้วย    

ตลาดเครื่องดื่มนมมะพร้าวสำเร็จรูปในจีน

นอกจากเครื่องดื่มรูปแบบใหม่ที่สามารถซื้อได้จากร้านเครื่องดื่มแล้ว “เครื่องดื่มสำเร็จรูปโดยใช้นมมะพร้าว” ก็ยังเป็นกระแสในกลุ่มวัยรุ่นชาวจีนด้วย โดยเฉพาะบริษัท Feinuo (菲诺) ที่เป็นบริษัทมุ่งเน้นการผลิตนมมะพร้าวของจีน และเป็น supplier ใหญ่ให้แก่ Luckin Coffee โดยหลังจากกาแฟลาเต้มะพร้าวได้ฮิตติดตลาดกาแฟแล้ว Feinuo ได้เริ่มผลิตนมมะพร้าวแบบมินิแพ็ค เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่อยากทำกาแฟมะพร้าวด้วยตนเอง ข้อมูลจาก TMall.com เดือนมิถุนายน 2564 ระบุว่านมมะพร้าวของ Feinuo มียอดจำหน่ายอันดับ 1 ในกลุ่มเครื่องดื่มโปรตีนที่ทำจากพืช (plant protein beverage) นอกจาก Feinuo แล้ว ยังมี 5 ผลิตภัณฑ์มะพร้าวแปรรูปที่ได้ล้วนแต่มียอดขายมากขึ้น ได้แก่  YeeTree (椰树) แบรนด์เก่าแก่จากมณฑลไหหลำ, YEGU (椰谷) แบรนด์ของมณฑลกวางตุ้ง, Coco100 (可可满分) แบรนด์นมมะพร้าวใหม่ของจีน ก็ได้หันมาจับตลาดการผลิตนมมะพร้าวเช่นกันตั้งแต่ปี 2563, NanGuo (南国) แบรนด์ของมณฑลไหหลำ โดยศูนย์ BIC นครซีอานขอแนะนำรูปแบบและราคาของแต่ละแบรนด์ดังนี้

เทรนด์เครื่องดื่มมะพร้าวในโซเชียลเน็ตเวิร์คของจีน

ทั้งนี้ เมื่อสืบค้นคำว่า “นมมะพร้าว” ในแอปพลิเคชันเสี่ยวหงซู (小红书) แพลตฟอร์มที่แบ่งปันวิถีชีวิตของวัยรุ่นชาวจีนซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้มากกว่า 100 ล้านคน มีโพสต์เกี่ยวกับนมมะพร้าวจากผู้ใช้มากกว่า 730,000 รายการ มีโพสต์เกี่ยวกับ “กลุ่มเครื่องดื่มมะพร้าว” มากกว่า 40,000 รายการ และเมื่อสืบค้นโดยใช้คำว่า “เครื่องดื่มไร้น้ำตาล ไขมันต่ำ” นมมะพร้าวก็ปรากฏขึ้นมาเป็นอันดับแรก ซึ่งแสดงให้เห็นว่านมมะพร้าวหรือกะทิของไทยก็สามารถนำไปเพิ่มรสชาติใหม่ หรือทำเป็น functional drink แบบไร้น้ำตาล ไขมันต่ำ แคลอรี่ต่ำ หรือนมมะพร้าวที่ใช้เป็นส่วนผสมในเมนูร้านเครื่องดื่มชากาแฟแนวใหม่ จะเป็นอีกหนึ่งสินค้าใหม่ที่สามารถเข้ามาบุกตลาดคนรักผลิตภัณฑ์สุขภาพระดับ high-end ในจีนได้ เนื่องด้วยมะพร้าวมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย และยังเป็นผลไม้ที่ไม่มีข้อจํากัดในเรื่องของฤดูกาล ประกอบกับมะพร้าวสามารถนําไปผสมเข้ากับวัตถุดิบต่างๆ ได้ง่าย

กลยุทธ์การตลาดในการประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มมะพร้าวในจีน

นอกจากนี้ แนวทางพิเศษในกลยุทธ์ทางการตลาดของเครื่องดื่มมะพร้าวรูปแบบใหม่ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญในความสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 Luckin Coffee ร่วมมือกับ Yeetree ในเมนูกาแฟนมมะพร้าว Yeyun Latte (椰云拿铁) ราคา 29 หยวนต่อแก้ว โดยจำหน่ายได้ถึง 660,000 แก้วในวันแรกของการเปิดตัว โดย Luckin Coffee แบรนด์ร้านกาแฟชื่อดังของจีนได้เลือกจับคู่แบรนด์น้ำมะพร้าว/นมมะพร้าวที่เก่าแก่ที่สุดในจีน ทำให้สามารถกระตุ้นความรู้สึกของผู้บริโภค ส่งผลให้เมนูกาแฟนมมะพร้าวประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง

นอกจากนี้ Hey Tea ก็มีกิจกรรมร่วมมือกับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงหลายครั้ง เมื่อวันที่ 4 กรกฏาคม 2565 ร่วมมือกับ Farmer Bob ในเมนูน้ำมะพร้าวรสมะนาว (夏日拧打椰) ราคา 16 หยวนต่อแก้ว โดยเมื่อซื้อ Hey Tea สองแก้ว ก็จะมีการแถมพวงกุญแจตุ๊กตา Farmer Bob หนึ่งตัว สามารถกระตุ้นความสนใจของคนหนุ่มสาวได้สำเร็จโดยผสมผสานสิ่งที่วัยรุ่นจีนให้ความสนใจกับเครื่องดื่มและในเดือนกันยายน 2565 ก็ยังได้ร่วมมือกับเกมส์ชื่อว่า Genshin impact (原神) ของจีน ในเมนู น้ำมะพร้าวผสมลำไย (龙眼椰) ราคา 19 หยวนต่อแก้ว ซึ่งการร่วมมือครั้งนี้คือการเลือกตัวละครในเกมส์ซึ่งเป็นนักเรียน สอดคล้องกับช่วงเวลาการเปิดเทอมใหม่ จะเห็นได้ว่าจุดสำคัญของกลยุทธ์การตลาดเครื่องดื่มคือการผสมผสานองค์ประกอบที่อยู่ในกระแส  ที่สามารถดึงดูดความสนใจผู้บริโภคหรือจับกลุ่มวัยรุ่นในช่วงเวลาใดช่วงหนึ่ง เช่น IP การ์ตูน ตัวละครโทรทัศน์หรือเกมส์ เป็นต้น

ความต้องการมะพร้าวนำเข้าในตลาดจีน

เมื่อพิจารณาจากอุปทานในตลาดจีนในปัจจุบัน จะพบว่า จีนยังต้องพึ่งพาการนําเข้ามะพร้าว ซึ่งสอดคล้องกับรายงานคาดการณ์การลงทุนอุตสาหกรรมน้ำมะพร้าวของจีนเชิงลึกปี ค.ศ. 2020 – 2025 ที่เผยว่า จีนมีปริมาณความต้องการมะพร้าวถึง 2,600 ล้านลูกต่อปี และมณฑลไหหลำ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตมะพร้าวที่สําคัญของจีนมีกำลังการผลิตเพียง 250 ล้านลูกต่อปี

นอกจากนี้ จีนยังมีความต้องการใช้มะพร้าวแปรรูปถึง 150 ล้านลูก เนื่องจากจีนมีความต้องการบริโภคมะพร้าวต่อปีเป็นจํานวนมาก แต่มีปริมาณผลผลิตเพียงร้อยละ 10 จีนจึงต้องพึ่งพาการนําเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภค สอดคล้องกับข้อมูลการนําเข้ามะพร้าวของจีนจากศุลกากรแห่งชาติจีนพบว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 จีนนำเข้ามะพร้าวทั้งลูกจากไทยไปแล้ว 382,539 ตัน ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.55 (YoY) รวมมูลค่า 2,169 ล้านหยวน หรือเกือบ 11,500 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.59 (YoY) โดยมะพร้าวไทยครองสัดส่วนร้อยละ 48.26 ของปริมาณการนำเข้ารวม และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.38 ในแง่มูลค่าการนำเข้ารวม โดยอินโดนีเซียร้อยละ 30.77% เวียดนามร้อยละ 20.59 เป็นคู่แข่งที่ต้องจับตามอง หากเปรียบเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน โดยในปี 2556 จีนได้นำเข้ามะพร้าวจากไทย 3,542 ตัน จากตัวเลขข้างต้น คงพิสูจน์ได้ว่า ในตลาดจีนมะพร้าวไทยมีอนาคตที่สดใสมากแค่ไหน

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ชี้ช่องโอกาสแก่ผู้ประกอบการมะพร้าวไทย

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน เห็นว่าโอกาสของมะพร้าวไทยในตลาดจีนยังสามารถเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่และมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมะพร้าวเป็นสินค้าที่หาได้ตลอดทั้งปี ต่างจากผลไม้ประเภทอื่นที่มีตามฤดูกาล การนำมะพร้าวมาผสมเครื่องดื่มสามารถจำหน่ายและตอบรับความนิยมของผู้บริโภคได้ตลอดทั้งปี สำหรับผู้ประกอบการสวนมะพร้าวคงสามารถมองหาโอกาสร่วมมือกับผู้ประกอบการผลิตนมมะพร้าวของจีนเพื่อร่วมมือในด้านการปลูกมะพร้าวเพื่อแปรรูป

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Feinuo มีการร่วมมือการปลูกมะพร้าวที่ประเทศไทย เวียดนามและมณฑลไหหลำรวมมากกว่า 38,000 หมู่หรือราว 15,573.77 ไร่ จึงได้มีกำลังในการสนับสนุนส่วนผสมหลักของเครื่องดื่มให่แก้ร้านกาแฟและร้านชาของจีนมากกว่า 8000 ร้าน สำหรับผู้ประกอบการผลิตสินค้ามะพร้าวแปรรูปอย่างน้ำมะพร้าว/นมมะพร้าวขวด/กล่อง ควรมองหาโอกาสร่วมมือกับร้านกาแฟ ร้านเครื่องดื่ม ร้านชาในจีน

ซึ่งข้อมูลจาก China Chain Store Association ที่พบว่า ณ สิ้นปี 2563 จีนมีร้านเครื่องดื่ม on-site ประมาณ 596,000 แห่งโดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 100,000 แห่งจากปี 2562 มี 427,000 แห่ง ในแต่ละมณฑล/เมืองก็มีร้านท้องถิ่นด้วย เช่น มณฑลส่านซี ร้านฉาฮั่วน่งก็เป็นร้านที่เป็นเอกลักษณ์ของมณฑลส่านซี โดยเน้นชาของมณฑลส่านซีในด้านรสชาติและเน้นวัฒนธรรมโบราณของนครซีอานทั้งในด้านการตกแต่งและการตั้งชื่อ ปัจจุบันมีสาขาในนครซีอานกว่า 99 แห่ง และนอกมณฑลส่านซี อาทิ กรุงปักกิ่ง เมืองเจิ้งโจว มีสาขากว่า 100 แห่ง หากสามารถผสานโอกาสในการนำชาส่านซีกับมะพร้าวไทย ตลอดจนผสมผสานวัฒนธรรมทั้งสองฝ่ายในด้านการประชาสัมพันธ์สินค้า น่าจะเป็นจุดเด่นที่สามารถดึงดูดวัยรุ่นท้องถิ่นได้ สำหรับผู้ประกอบการค้าปลีก ยังคงต้องการโอกาสขยายตลาดมะพร้าวในจีนหรือตลาดซีอาน สามารถพิจารณาแสวงหาช่องทางในการเจาะตลาด และพัฒนาผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยให้มีความหลากหลายและโดดเด่น เพื่อดึงดูดความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนที่มีความนิยมและชื่นชอบมะพร้าวของไทยอยู่แล้วให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาร่วมมือกับ KOL/ KOC ในการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยบนแพลตฟอร์ม โซเชียลมีเดียต่างๆ ของจีน รวมทั้งพิจารณาใช้วิธีการถ่ายทอดสด (Livestreaming) แนะนําสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยอดนิยม ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตามเทศกาลสำคัญต่างๆ ของจีน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคชาวจีนให้มากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยสามารถครองใจผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างยั่งยืนต่อไป

สถานการณ์ผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยในตลาดซีอาน

สำหรับสถานการณ์ผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยในตลาดซีอาน พบว่ามะพร้าวไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นและมีจําหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านจําหน่ายผลไม้ทั่วไป และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยรูปแบบของมะพร้าวไทยในตลาดซีอาน ส่วนใหญ่เป็นน้ำมะพร้าวบรรจุขวด/กล่องและมะพร้าวสดทั้งลูกแบบพร้อมรับประทาน โดยมีการเจาะรูสำหรับมะพร้าวลูก โดยพบว่า น้ำมะพร้าวบรรจุขวด/กล่องในซูเปอร์มาร์เก็ตนครซีอานมีราคาจําหน่ายขวด/กล่องละ 7 – 15 หยวน หรือประมาณ 37.1 – 79.5 บาท และราคาจำหน่ายมะพร้าวสดลูกละประมาณ 10 – 20 หยวน หรือประมาณ 50.5 – 106 บาท

ส่วนนมมะพร้าว ในปัจจุบัน ตลาดซีอานยังไม่มีการจำหน่ายนมมะพร้าวของไทย สามารถซื้อได้เพียงนมมะพร้าวแบรนด์จีน ถึงแม้บริษัทซีพีมีการจำหน่ายนมมะพร้าวแต่เป็นนมมะพร้าวที่ผลิตในมณฑลไหหลำ และได้ทราบจากคุณเมี่ยว เกาจง (Mr. Miao Gaozong) ผู้บริหารอาวุโสของบริษัทซีพีจีนด้านอาหารว่า ผู้บริโภคในซีอานชื่นชอบมะพร้าวสดของไทยมาก ในปี 2565 ซีพีส่านซีมีการนำเข้ามะพร้าวสดจากไทย 100,000 ลูก และจำหน่ายหมดในระยะเวลาสั้น เนื่องจากได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ปีนี้จึงนำเข้ามะพร้าวสดจากไทยไม่มาก แต่ความกระตือรือร้นของผู้บริโภคที่มีต่อมะพร้าวไทยไม่ได้จางหายไป เนื่องจากกระแส Raw Coconut Latte ของ Luckin Coffee ในปี 2564 เครื่องดื่มนมมะพร้าวจึงค่อย ๆ เข้าสู่การเปิดรับของผู้บริโภคตลาดซีอานด้วย

ทั้งนี้ นมมะพร้าวของซีพีที่ไม่ได้นำเข้าจากประเทศไทย แต่ผลิตในมณฑลไหหลำ มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีที่ก่อนหน้า ปัจจุบัน ซีพีจีนก็ยังกำลังพัฒนาสินค้าใหม่ น้ำมะพร้าว RU Coco (爱与可可) ด้วย คุณเมี่ยวฯ เชื่อว่า เนื่องด้วยแนวคิดการบริโภคที่มุ่งสู่การรักสุขภาพ เครื่องดื่มจากพืชบริสุทธิ์อย่างนมมะพร้าวมีโอกาสที่ดีในตลาดจีนที่มีกำลังการบริโภคเพียงพอ และยังเสริมว่า จากข้อมูลของซูเปอร์มาร์เก็ต CP Lotus ซีอานในปัจจุบันพบว่า กลุ่มผู้บริโภคหลักของน้ำมะพร้าวและนมมะพร้าวเป็นผู้บริโภคผู้หญิง

โอกาสของอุตสาหกรรมมะพร้าวไทยที่มาพร้อมกับความท้าทาย

แน่นอนว่าสินค้าใหม่ ๆ ของไทยที่จะเข้ามาเจาะตลาดผู้บริโภคชาวจีนในระยะเวลาสั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่แบรนด์สินค้าดั้งเดิมก็มีฐานผู้บริโภคที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ดังนั้น การเน้นคุณภาพและรสชาติที่ถูกปาก/บริโภคง่าย จึงถือเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาสินค้า ตลอดจนราคาที่จับต้องได้สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ล้วนเป็นปัจจัยการแข่งขันที่สำคัญ

ซึ่งจากการสังเกตของ  ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน พบว่าเครื่องดื่มมะพร้าวรูปแบบใหม่ของ Hey Tea ในปี 2565 มีราคาเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 15-19 หยวน ต่ำกว่าราคาเฉลี่ยของเครื่องดื่มในกลุ่มเดียวกันที่ก่อนหน้านี้ที่อยู่ระหว่าง 23-25 ​​หยวน ซึ่งอาจเกิดจากเหตุที่กลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคของเครื่องดื่มมะพร้าวรูปแบบใหม่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและในกลุ่มนี้ยังคงต้องพึ่งพาผู้ปกครองในเรื่องค่าครองชีพ จึงมีกำลังการบริโภคค่อนข้างจำกัด หากราคาจำหน่ายของเครื่องดื่มสูงเกินไปก็อาจไม่สอดคล้องกับกำลังซื้อ และลดทอนความน่าสนใจในตัวผลิตภัณฑ์ลงไป

นอกจากนี้ พบว่าความท้าทายที่ผ่านมาคือต้นทุนของสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังตลาดจีน อันประกอบจากต้นทุนของสินค้าเองและค่าขนส่ง ซึ่งในปี 2562-2565 ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจผลไม้ระหว่างไทย-จีน ล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มสูงขึ้นของต้นทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ที่นอกจากจะมีประกาศยกเลิกมาตรการกักตัวแก่ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 รัฐบาลจีนยังได้ประกาศจะยกเลิกมาตรการในการตรวจสอบป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศด้วย ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อผู้ประกอบการที่วางแผนจะขยายตลาดในจีนที่อาจสามารถลดต้นทุนการขนส่งได้

โดยสรุป  ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน เห็นว่าอุตสาหกรรมเครื่องดื่มมะพร้าวรูปแบบใหม่ที่เติบโตในตลาดจีนถือเป็นโอกาสใหม่ที่น่าจับตามองอย่างยิ่งของผู้ประกอบการมะพร้าวไทย ด้วยคุณประโยชน์ทางธรรมชาติและรสชาติของมะพร้าวที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคชาวจีนที่รักสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคหญิงและกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ของจีน ดังนั้น ในการทำการตลาดเครื่องดื่มมะพร้าว ผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณานำประเด็นข้างต้นไปปรับใช้กับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้ลอดคล้องกับกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย สร้างการรับรู้และสร้างแรงจูงใจให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคได้ดีขึ้นผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในตลาดจีน โดยร่วมมือกับแบรนด์อื่น ๆ หรือกลุ่ม KOLs ในประเทศจีนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2566 นี้ที่รัฐบาลจีนจะผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ต่าง ๆ ลง ก็เป็นโอกาสอันดียิ่งให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่อาจพิจารณาใช้โอกาสและข้อได้เปรียบต่าง ๆ ในปีนี้แสวงหาช่องทางและโอกาสในการเจาะตลาดผู้บริโภคชาวจีนต่อไป