รู้จัก.. เลี้ยงปลาด้วย”แพลงก์ตอน” แบบพอเพียง

การเริ่มต้นลงมือทำกิจกรรมทางการเกษตร ควรเริ่มต้นจากการตั้งคำถาม การวางแผน และรู้จักสิ่งที่กำลังจะลงมือทำและการลงมือเลี้ยงอะไรอย่าผลีผลาม สำหรับการเลี้ยงปลาด้วย”แพลงก์ตอน” ต้องเป็นการเลี้ยงปลาน้ำจืด เช่น ปลานิล

71524 1024x768 1

1.กฎการเลี้ยงปลา

1) บ่อปลาต้องสะอาด ปราศจากปลากินเนื้อทุกชนิด กรณีบ่อเก่าและมีปลาชนิดอื่นอาศัยอยู่ เช่น ปลาช่อน ปลาหมอ หากปล่อยลูกปลานิลลงไปทำให้ปลากินเนื้อ กินลูกปลานิลเสียหายหมด ดังนั้นการจะเลี้ยงปลากินผัก จำเป็นต้องสูบน้ำออกให้หมด ตากบ่อให้แห้ง เพื่อไม่ให้ปลากินเนื้อมีอยู่ในพื้นที่หรือหากสูบน้ำออกหมดแล้วและยังมีปลากินเนื้อซ่อนอยู่ให้นำน้ำเข้าไปให้มีน้ำสูงประมาณหนึ่งฝ่ามือ จากนั้นนำน้ำหมักชีวภาพใส่ลงไปในบ่อ และเร่งให้ปลาฟักไข่ออกมาเป็นตัว และปล่อยไว้ 15 วัน ให้สูบน้ำออกจากสระและเอาปลาออกอีกรอบหนึ่ง

2) การเลี้ยงปลากินพืชในบ่อขนาด 1 ไร่ ต้องมีจำนวนปลาไม่เกิน 5 พันตัว

capture 20240430 142836

3) การเลี้ยงปลานั้นน้ำในบ่อเลี้ยงต้องเป็นสีเขียวเสมอ (สีเขียวคือแพลงก์ตอนที่จะเป็นอาหารปลา)

4) น้ำในบ่อปลาต้องมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำอยู่ที่ PH 8 เสมอ

1 8
ปลานิล

5) การให้อาหารแต่ละช่วงมีความแตกต่างกัน เมื่อปลาอายุมากกว่า 5 เดือนไปแล้วต้องเปลี่ยนอาหารเป็นพืชสดหรือตากแห้ง เช่น ผักกะเฉดแห้ง มันสำปะหลังเส้นตากแห้ง

6) ตั้งเป้าหมายคือ การเลี้ยงปลาต้องได้ขนาด 3 ตัว/1 กิโลกรัม ในระยะเวลา 7 เดือน เพราะปลาจะมีขนาดกำลังดีเป็นที่ต้องการของตลาด

2.การเตรียมความพร้อมก่อนการเลี้ยงปลา

1) การเตรียมบ่อปลา บ่อปลาที่เป็นบ่อดิน ควรเป็นดินเหนียวหรือดินอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ดินทราย ดินลูกรังเพราะว่าดินทรายปนลูกรังเป็นดินที่ไม่หุ้มน้ำ พิจารณาด้วยว่าบ่อปลานั้นเก็บน้ำอยู่ไหมและอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือไม่

การทำบ่อปลาควรขุดให้มีความลึกประมาณ 1 เมตร กว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตร ระดับน้ำไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร หากต้องการทดสอบว่าบ่อที่ขุดนั้นกักเก็บน้ำได้หรือไม่ สามารถทำได้โดยการนำน้ำเข้าไป นำไม้ไปปักแล้วขีดเส้นไว้ ขังน้ำ ไว้เมื่อครบ 7 วันไปสังเกตดูว่าน้ำลดลงมากน้อยเพียงใด ถ้าน้ำลดลงประมาณหนึ่งฝ่ามือถือว่าเป็นบ่อที่ใช้ได้แต่หากน้ำ ลดลงไปประมาณ 1 ฟุต (30 เซนติเมตร) ถือว่าเป็นบ่อที่ใช้ไม่ได้เพราะเก็บน้ำไม่อยู่ ถ้าหากบ่อเป็นดินนาถือว่าใช้ได้และใช้เฉพาะบริเวณผิว ๆ เท่านั้น หากใช้แม็กโครขุดไม่สามารถใช้ได้เพราะข้างล่างนา ดินเป็นกรด ให้ใช้วิธีดันจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง ทั้งสี่ด้านดันออกไปเป็นคันดินและต้องวัดระดับด้วย ข้อดีก็คือ ถ้าหากปลาราคาตกก็เปลี่ยนมาทำนาต่อได้ปุ๋ยไม่ต้องใส่เพราะ ขี้ปลาเป็นปุ๋ยให้ข้าวและถือเป็นการปรับปรุงดินไปด้วย เลี้ยงในบ่อซีเมนต์โดยตรงไม่ได้เพราะบ่อซีเมนต์จะทำให้น้ำเป็นด่างมากเกินไปและด่างจะกัดตัวปลา ทำให้ปลาไม่โต ดังนั้นต้องทาสีบ่อปลาก่อนหรือเอาพลาสติกปูจึงจะเลี้ยงได้

2) การเตรียมน้ำเตรียมดิน

น้ำสำหรับการเลี้ยงปลา ด้วยปลาไม่ชอบน้ำฝนแต่ปลารักที่สุดคือน้ำคลอง เพราะว่าน้ำฝนเป็นน้ำอ่อน ในขณะที่ปลาชอบน้ำกระด้างที่มีค่า PH 7-8 การทำน้ำฝนให้เป็นน้ำกระด้างต้องกักเก็บไว้ในคลอง 10 วัน แร่ธาตุต่างๆ ในดินจะช่วยปรับให้เป็นน้ำกระด้าง ดังนั้นเวลาฝนตก น้ำฝนจะลอยอยู่ด้านบน เพราะฉะนั้นจะต้องสูบน้ำบริเวณผิวออกเพื่อน้ำที่เลี้ยงปลาไม่เป็นน้ำอ่อน (น้ำอ่อน คือน้ำที่ค่า PH ต่ำกว่า 7) น้ำที่ดีในการเลี้ยงปลาต้องน้ำเขียว (น้ำเขียวคือแพลงก์ตอน) ดินในบ่อและปากบ่อก่อนจะนำน้ำเข้าต้องตรวจดินก่อนว่าระดับความเป็นด่างเหมาะสมแล้วหรือยัง วิธีปรับน้ำและดินให้ได้ PH ที่ต้องการ คือเอาปูนขาวหรือขี้เถ้าจากถ่านประมาณ 10 กิโลกรัม ละลายน้ำและเทลงไปในบ่อ จากนั้นนำดินปากบ่อมาตรวจใหม่ โดยการตากดินให้แห้งก่อนจึงตรวจโดยให้มีค่า PH 7-8

3) เตรียมอาหารสำหรับปลา การจะเลี้ยงปลาแบบพอเพียงนั้นต้องเตรียมอาหารไว้ก่อนเพราะเป็นการลดต้นทุน อีกทั้งพืชที่ปลูกไว้ยังสามารถนำมาประกอบอาหารและขายเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกด้วย

-การปลูกมันสำปะหลังไว้รอบบ่อ ปลูกต้นแค ถั่วแระ ต้นมะรุมไว้ข้างบ่อดูทิศทางลมเล็กน้อยเพราะใบแก่เมื่อร่วงลงในบ่อจะเป็นอาหารให้ปลาได้

การทำน้ำเขียวหรือการสร้างแพลงก์ตอนอาหารให้ปลา โดยการใช้มูลสัตว์แห้ง 800 กิโลกรัม น้ำหมักชีวภาพ 400 ลิตร ผสมรวมกันแล้วนำไปเทลงในบ่อปลา หว่านให้ทั่วบ่อปลาแล้วปล่อยทิ้งไว้ภายใน 7 วัน น้ำจะเป็นสีเขียว เพราะในน้ำจะมีเชื้อคลอเรลล่าอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรที่จะให้อาหารและกระตุ้นมันขึ้นมา เมื่อทำน้น้ำเสร็จเรียบร้อยแล้วหลังจากนั้น 5 วัน จึงสามารถปล่อยลูกปลาลงไปได้

วิธีดูว่าน้ำเขียวเพียงพอสำหรับการเลี้ยงปลาหรือไม่ ให้ใช้มือจุ่มลงไปในบ่อลึกประมาณ25 เซนติเมตร หากมองไม่เห็นฝ่ามือแสดงว่าน้ำพร้อมที่จะเลี้ยงปลาได้แล้ว

ทั้งนี้ ความเขียวของน้ำอาจลดลงได้ตามสภาพแวดล้อม ต้องเพิ่มอาหารให้เชื้อคลอเรลล่าโดยการเติมวัสดุที่กล่าวไว้ลงไป แต่ใช้อัตราส่วนหารด้วย 5

-แบ่งพื้นที่ไว้บางส่วนในบ่อปลา โดยการเอามุ้งเขียวกั้นสำหรับปลูกผักกะเฉดไว้เป็นอาหารปลาในช่วงที่ปลาอายุ 6 -7 เดือน

3.ระยะเวลาการให้อาหาร

-การปล่อยปลาตลอด 5 เดือน ให้กินแพลงก์ตอนที่อยู่ในน้ำเขียวอย่างเดียว ไม่ต้องใช้โปรตีนเสริมอย่างอื่น
เพราะปริมาณโปรตีนที่ในแพลงก์ตอนเพียงพอแล้ว

-เมื่อเลี้ยงปลาได้เดือนที่ 6 และ 7 ให้ใช้พืชเสริมเพื่อเพิ่มคาร์โบไฮเดรต โดยใช้ผักกะเฉดสับตากแดดให้แห้ง จากนั้นชุบน้ำให้ปลากิน หรือใช้มันเส้น โดยการนำมันสำปะหลังมาสับตากแดดให้แห้งก่อนนำมาเลี้ยงปลาโดยให้นำไปแช่น้ำไว้ 2 คืน อัตราส่วนการให้อาหาร 5 กิโลกรัม/วัน เช้า 2.5 เย็น 2.5 กิโลกรัม/วัน

2-3 วัน ก่อนจับปลา ให้ปลากินมะพร้าวขูดจะทำให้ปลาตัวโตขึ้น

4 ประโยชน์ของการเลี้ยงแบบพอเพียง

-ประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะใช้วัตถุดิบที่สามารถทำได้เอง

-เพิ่มรายรับเพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารปลา

-ปลอดสารเคมีเพราะใช้วัตถุดิบตามธรรมชาติ

-เข้าใจในระบบนิเวศของธรรมชาติมากขึ้น สามารถนำไปปรับใช้และต่อยอดในเรื่องอื่นได้

ที่มาบทความ- ขวัญชัย รักษาพันธ์