กรมวิชาการเกษตร เร่งสร้างศูนย์เรียนรู้ “อุปกรณ์ควบคุมภูมิอากาศอัจฉริยะในสวนทุเรียน” แก้ปัญหาความแปรปรวนภูมิอากาศส่งผลกระทบผลผลิตทุเรียน

S 251936787

นายรพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ ดร. ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งกำกับดูแลโครงการเกษตรอัจฉริยะ ลงพื้นที่ร่วมกับคณะทำงานและนักวิจัยที่เกี่ยวข้องในโครงการเกษตรอัจฉริยะ ในแปลงเกษตรกรที่ได้รับการรับรองการปฏิบัติทางเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (GAP) จากกรมวิชาการเกษตร ในจังหวัดระยอง เพื่อหาแนวทางในการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะที่พัฒนาโดยกรมวิชาการเกษตร มาขยายผลเพื่อแก้ไขปัญหาความแปรปรวนของภูมิอากาศในพื้นที่ปลูกทุเรียนหลักในภาคตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลผลิตจากโครงการเกษตรอัจฉริยะ กรมวิชาการเกษตร ในปี 2566 ซึ่งได้วิจัยพัฒนา“อุปกรณ์ควบคุมภูมิอากาศอัจฉริยะ (Smart Climate Controller)” แก้ไขปัญหาความแปรปรวนภูมิอากาศในสวนทุเรียน

S 251936793

ในฤดูกาลผลิต 2567 จากข้อมูลการตรวจรับรอง เพื่อออกใบรับรองสุขอนามัยพืชการส่งออกทุเรียน ของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ในฤดูกาลผลิต 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 พฤษภาคม 2567 มีการส่งออกจำนวน 1,173 ตู้/ซิปเมนท์  ปริมาณ 19,098.51ตัน มูลค่า 2,735.54 ล้านบาท ซึ่งผลกระทบของภูมิอากาศมีผลโดยตรงต่อปริมาณและคุณภาพของทุเรียน และทำให้ทุเรียนสุกแก่เร็วกว่าช่วงเวลาที่ได้กำหนดไว้ และคงเหลือผลผลิตหลังช่วงกลางเดือน พฤษภาคมอีกบางส่วนแต่ก็ไม่มาก  อาจทำให้ปริมาณผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรลดลง

S 251936791

ดร. ภัสชญภณ กล่าวว่า  จากการตรวจติดตามแปลงเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP นางรัฐอรอัญญ์  ชุมบุญยืนยง หมู่ 6 ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งได้รับการรับรอง GAP ทุเรียน 6 ไร่  มะพร้าว 11.25 ไร่ ฝรั่ง  3.25 ไร่ เงาะ 2.50 ไร่ และลำไย 4.50 ไร่   ในแปลงทุเรียนของเกษตรกรมีการพัฒนาติดตั้ง “อุปกรณ์ควบคุมภูมิอากาศอัจฉริยะ”ร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งเป็นระบบที่มีความสมบูรณ์ จึงมีผลทำให้ทุเรียนในฤดูการผลิต ปี 2567 มีการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตปกติ แม้จะมีสภาพภูมิอากาศแปรปรวนเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆในภาคตะวันออก เนื่องจากในสวนมีการบริหารจัดการน้ำ ปรับความชื้นในดิน ความชื้นสัมพัทธ์ และอุณหภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบจากความแปรปรวนของภูมิอากาศได้ดี คณะผู้วิจัยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาเปรียบเทียบ “อุปกรณ์ควบคุมภูมิอากาศอัจฉริยะ” แล้วพบว่าแนวทางและหลักการในการควบคุมภูมิอากาศ  คล้ายคลึงกับอุปกรณ์ที่พัฒนาโดยกรมวิชาการเกษตร  ซึ่งมีเป้าหมายในควบคุมการให้น้ำ  เพื่อให้ดินมีความชื้นที่เหมาะสมกับความต้องการของพืช  

S 251936792

โดยการควบคุมสภาพอากาศบริเวณใต้ทรงพุ่มของทุเรียนให้มีความแปรปรวนน้อย ซึ่งการควบคุมการให้น้ำจะมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสภาพอากาศใต้ทรงพุ่มของทุเรียน โดย ความชื้น: การให้น้ำอย่างเหมาะสมจะช่วยรักษาความชื้นในดิน และบริเวณใต้ทรงพุ่ม เพราะน้ำในดินมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างความชื้นในบรรยากาศ   ทำให้สภาพอากาศใต้ทรงพุ่มมีความชื้นเหมาะสมตามความต้องการของทุเรียน ส่วน อุณหภูมิ การควบคุมความชื้นที่เหมาะสม มีผลโดยตรงในการควบคุมอุณหภูมิในดินและอากาศใต้ทรงพุ่มของพืช โดยน้ำที่ได้รับจะช่วยลดอุณหภูมิในดินในช่วงเวลาที่มีแสงแดดร้อน นอกจากนี้ การคายน้ำ การดูดน้ำและสารละลายธาตุอาหารพืช เมื่อควบคุมความชื้นในดินและอุณหภูมิอากาศอยู่ในช่วงที่เหมาะสมได้ การคายน้ำ ดูดธาตุอาหารและการเปิดปิดของปากใบพืชก็จะได้ประสิทธิภาพผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตลดลง

S 251936790

“คณะผู้วิจัยที่เข้าร่วมการวิเคราะห์เปรียบเทียบเห็นตรงกันว่า “อุปกรณ์ควบคุมภูมิอากาศอัจฉริยะ” ในแปลงเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตรดังกล่าวมีความสมบูรณ์ เหมาะสมที่จะนำไปใช้แนะนำเป็นแปลงต้นแบบให้กับเกษตรกรที่สนใจรายอื่นๆนำไปปรับใช้  จึงได้มอบหมายให้ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี  ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระยอง  ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น และ กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร จัดทำศูนย์เรียนรู้ “อุปกรณ์ควบคุมภูมิอากาศอัจฉริยะในสวนทุเรียน” ในศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 60 วัน เพื่อขยายผลงานวิจัยกรมวิชาการเกษตรด้านเกษตรอัจฉริยะ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ปลูกทุเรียนได้นำไปขยายผลปรับปรุงระบบควบคุมภูมิอากาศภายในสวนตนเองเพื่อแก้ไขปัญหาโลกเดือดต่อไป” รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว

S 251936794
S 251936797