“ชันโรง” ผึ้งจิ๋ว รายได้แจ่ม ราคาน้ำผึ้งสูง ถึงกิโลกรัมละ 1,500 บาท

“ใช่ผึ้งมั้ย” “เก็บน้ำผึ้งขายได้มั้ย” คำถามยอดนิยมที่ วสันต์ ภูผา เกษตรกรสวนผลไม้และผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงชันโรง ได้ยินเสมอจากผู้มาเยี่ยมชม “ศูนย์สาธิตการเพาะเลี้ยงชันโรง(ผึ้งจิ๋ว)”ซึ่งตั้งอยู่พื้นที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม แต่กว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่อง “ชันโรง” และมีศูนย์สาธิตเพาะเลี้ยงผึ้งจิ๋วแห่งใหญ่นี้ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องจิ๋ว ๆ

จาก “ผึ้ง” สู่ “ชันโรง” ตอบโจทย์สวนผลไม้

เช่นเดียวกับเกษตรกรทั่วไปที่ต้องการให้สวนผลไม้ตนเองมีผลผลิตเพิ่ม เมื่อรู้ว่าสวนลิ้นจี่ในพื้นที่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการเลี้ยง “ผึ้ง” ช่วยผสมเกสร วสันต์ ไม่รีรอที่จะเรียนรู้และลงทุนร่วมครึ่งล้านบาทเลี้ยงผึ้งในพื้นที่ของตน แต่กลับไม่เป็นดังที่คาดหวัง ด้วยพฤติกรรมของผึ้งที่จะผสมพันธุ์บนอากาศ จึงกลายเป็นอาหารอันโอชะของนกประจำถิ่นอย่าง “นกจาบคา”

แม้สูญเงินจำนวนมากไปแล้ว แต่ด้วยความต้องการเพิ่มผลผลิตให้สวนผลไม้ตนเอง วสันต์ ย้อนนึกถึงแมลงผสมเกสรอีกชนิดหนึ่งที่คุ้นเคยมาแต่เด็ก

DSC 0243 1024x683 1
ชันโรง

“รู้ว่า ชันโรง เป็นแมลงผสมเกสร ก็ไปแคะรังชันโรงที่อยู่ใต้เตียงนอนได้มา 4 รัง เอามาใส่รังที่เหลือจากการเลี้ยงผึ้ง ผ่านไป 6 เดือนจำนวนเพิ่มขึ้นเต็มรัง ก็ลองแยกรังเอง”

แม้จะรู้ว่า ชันโรง เป็นแมลงผสมเกสรตระกูลเดียวกับผึ้ง เพียงแต่ไม่มีเหล็กไน แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิต การหาอาหาร หรือแม้แต่การผสมพันธุ์ ก็เป็นเรื่องใหม่ที่ วสันต์ ต้องเรียนรู้และทำความรู้จักกับผึ้งจิ๋วชนิดนี้ถึง 3 ปี

“นางพญาชันโรงกลางคืนจะไม่นอน จะไข่ในรังตลอด ชันโรง จะหาอาหารในรัศมี 300 เมตร ออกผสมเกสรตอนเช้าประมาณ 6 โมง ถ้าหน้าหนาวจะออก 7 โมง แต่ละตัวบินออกไปผสมเกสรวันละไม่น้อยกว่า 16 เที่ยว ถ้าแดดดี อากาศดี จะออกบินมากกว่านั้นแล้วจะกลับเข้ารังตอนมืด ที่สำคัญ ชันโรง ไม่เลือกชนิดดอกไม้และไม่ทิ้งรัง”

จากการสังเกตพฤติกรรมอย่างใกล้ชิดชนิดที่ว่าคลุกอยู่กับ “ชันโรง” ทั้งวันทั้งคืน คุณวสันต์ พบว่า อาหารหลักของ “ชันโรง” เป็นเกสรดอกไม้ 80% ขณะที่กินน้ำหวานเพียง 20% และนั่นได้ตอบโจทย์ความต้องการเพิ่มผลผลิตในสวนมะพร้าว ส้มโอ และลิ้นจี่ของ วสันต์ อย่างชัดเจน และผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นไปตามที่หวัง

“ชันโรงเป็นแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติ ตามบ้านเรือนไทยก็มี คนสมัยก่อนไม่ชอบ ชันโรง เพราะว่ามันดุ จะกัดแต่ไม่มีเหล็กไนนะ และยางจากชันโรงจะเลอะเทอะตามบ้าน แต่ปัจจุบันคนเริ่มหันมาเลี้ยงเพื่อผสมเกสร”

เมื่อ “ผึ้งจิ๋ว” สร้างรายได้

เริ่มต้นจากความต้องการเพิ่มผลผลิตในสวนให้ตัวเองขยายสู่การทำธุรกิจเพาะเลี้ยง “ชันโรง” โดยให้บริการเช่า “รังชันโรง “ และจำหน่าย รังชันโรง รวมถึงต่อยอดผลพลอยได้จาก รังชันโรง เป็นผลิตภัณฑ์ กลุ่มลูกค้าหลักที่มาใช้บริการเช่ารังชันโรงเพื่อช่วยผสมเกสรเป็นเกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้ ซึ่งยอมเสียค่าเช่ารังหลักหมื่นต่อรอบการผสมเกสร เพื่อแลกกับผลผลิตที่มีคุณภาพและรายได้ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

“เคยมีเจ้าของสวนมะม่วงเช่ารังไป 100 รัง 10 วัน ค่าเช่ารังละ 30 บาท/รัง/วัน จากผลผลิตที่เคยได้ 3 แสนบาท เพิ่มขึ้นเป็นล้านบาท ผลผลิตสูญเสียน้อยลง คุณภาพดีพร้อมส่งออกได้ หรือสวนเงาะเดิมได้ 7-8 แสน แต่พอใช้ชันโรง ได้ 4 ล้านบาท”

เริ่มต้นจากความต้องการเพิ่มผลผลิตในสวนให้ตัวเองขยายสู่การทำธุรกิจเพาะเลี้ยงชันโรง โดยให้บริการเช่ารังชันโรงและจำหน่ายรังชันโรง รวมถึงต่อยอดผลพลอยได้จากรังชันโรงเป็นผลิตภัณฑ์ กลุ่มลูกค้าหลักที่มาใช้บริการเช่ารังชันโรงเพื่อช่วยผสมเกสรเป็น

เกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้ ซึ่งยอมเสียค่าเช่ารังหลักหมื่นต่อรอบการผสมเกสร เพื่อแลกกับผลผลิตที่มีคุณภาพและรายได้ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

“เคยมีเจ้าของสวนมะม่วงเช่ารังไป 100 รัง 10 วัน ค่าเช่ารังละ 30 บาท/รัง/วัน จากผลผลิตที่เคยได้ 3 แสนบาท เพิ่มขึ้นเป็นล้านบาท ผลผลิตสูญเสียน้อยลง คุณภาพดีพร้อมส่งออกได้ หรือสวนเงาะเดิมได้ 7-8 แสน แต่พอใช้ ชันโรง ได้ 4 ล้านบาท”

วสันต์ จะทำสัญญากับผู้เช่าในเรื่องการดูแลและรักษา รังชันโรง หาก ชันโรง ตายจากการฉีดยาฆ่าแมลงหรือรังชันโรงหาย ผู้เช่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มรังละ 2,000 บาท นอกจากการให้เช่ารังแล้ว หากเกษตรกรต้องการซื้อ รังชันโรง วสันต์ จะขายให้ในราคา 1,500 บาท/รัง

“ถ้าอย่างเขาเช่ารัง ผมจะไปวางตำแหน่งรังให้ โดยคำนวณจากพื้นที่สวน หาจุดกึ่งกลางแปลง แล้วกระจายวาง รังชันโรง ไปแต่ละด้าน ซึ่งเจ้าของสวนจะต้องไม่เคลื่อนย้ายตำแหน่งของ รังชันโรง ที่วางให้ เพราะ ชันโรง จะจำทางเข้ารังไม่ได้ และจะส่งผลต่อผลผลิตของสวน โดยทั่วไปถ้าเป็นสวนที่ปลูกผลไม้เต็มพื้นที่ จะใช้ รังชันโรง ไม่ต่ำกว่า 10 ลัง/ไร่ ส่วนคนที่ซื้อขาด ต้องเป็นพื้นที่ที่มีอาหารให้ ชันโรง ตลอด เพราะถ้าเป็นสวนที่มีผลไม้ติดดอกครั้งเดียวต่อปี ชันโรง จะขาดอาหารและตาย”

นอกจากรายได้จากการให้บริการเช่ารังแล้ว ผลผลิตที่เกิดขึ้น รังชันโรง ไม่ว่าจะเป็น น้ำผึ้งและชัน (propolis) เป็นผลพลอยได้ที่ วสันต์ ได้นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายภายใต้ตราสินค้า “ภูผา” ไม่ว่าจะเป็น น้ำผึ้ง สบู่ และยาหม่อง

น้ำผึ้งชันโรง รสชาติจะออกเปรี้ยวและมีกลิ่นตามผลไม้ที่ ชันโรง ไปผสมเกสร และด้วยปริมาณน้ำผึ้งที่ได้แต่ละครั้งไม่มาก เนื่องจาก ชันโรง กินน้ำหวานเพียง 20% บวกกับงานวิจัยที่พบสารสำคัญในน้ำผึ้งชันโรง ทำให้ราคาของน้ำผึ้งชันโรงสูงถึงกิโลกรัมละ 1,500 บาท

นอกจากนี้ชันของ ชันโรง มีสารประกอบฟลาโวนอยด์ (flavonoid) และสารต้านอนุมูลอิสระต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ยับยั้งการอักเสบได้ดี

“ผมเน้นให้เกษตรกรนำ ชันโรง ไปเพิ่มผลผลิตในแปลง น้ำผึ้งหรือชันเป็นแค่ผลพลอยได้ อย่างเกษตรกรที่ซื้อรังไป ถ้าจะแปรรูปด้วย ผมก็ให้ความรู้หมด ไปทำขายสร้างแบรนด์ของตัวเองได้ หรือจะส่งเป็นวัตถุดิบมาให้ผม ผมก็รับซื้อหมด”

“อนุรักษ์” ด้วย “ใจรัก”

เมื่อได้เรียนรู้ รู้จัก ผึ้งจิ๋ว อย่างใกล้ชิดกลายเป็นความผูกพันที่เกิดขึ้น คุณค่าที่มีอยู่ในตัวแมลงผสมเกสรชนิดนี้ทำให้ วสันต์ศึกษาสายพันธุ์ต่าง ๆ ของ ชันโรง และพยายามรวบรวมสายพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศไทยให้มากที่สุด รวมถึงค้นคว้าหาวิธีแยกขยายรังด้วยตัวเอง

“ทั่วโลกมีประมาณ 140 สายพันธุ์ ในประเทศไทยเหลือไม่ถึง 40 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีความต่างกันบ้างที่ขนาดและความชอบอาหาร อย่างสายพันธุ์ที่ตัวใหญ่จะเน้นเก็บน้ำหวาน เช่น พันธุ์ปากแตร พันธุ์อิตาม่า สายพันธุ์ตัวเล็กผสมเกสร เช่น พันธุ์ขนเงิน พันธุ์หลังลาย และยังมีพันธุ์สวยงามที่เลี้ยงไว้ดูเล่น อย่างพันธุ์คิชกูฎ”

เมื่อ วสันต์ ได้รับ ชันโรง สายพันธุ์ต่าง ๆ จากชาวบ้านหรือเกษตรกรแล้ว เขาจะเขียนไว้หน้ารังว่าเป็นพันธุ์อะไร ได้มาจากที่ไหน เมื่อไหร่ หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสายพันธุ์นั้น และทดลองเพาะเลี้ยงขยาย เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์เหมือนอดีต

“ชันโรง เป็นแมลงผสมเกสรที่พบได้ตามธรรมชาติ มีโอกาสที่จะสูญพันธุ์ได้ เหมือนอย่างพันธุ์สิรินธร ที่ปัจจุบันไม่พบแล้ว”

มองอนาคตเพาะเลี้ยง “ชันโรง”

เกือบครึ่งชีวิตนับแต่เริ่มทำความรู้จัก ชันโรง อย่างจริงจัง จนขยายสู่การทำธุรกิจเพาะเลี้ยง ชันโรง และถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน ชันโรง คนหนึ่งของประเทศก็ว่าได้ วสันต์ มองว่ายังมีเรื่องที่ต้องศึกษาเรียนรู้ต่ออีก โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงขยายนางพญาชันโรง วสันต์ ได้เรียนรู้และฝึกฝนเทคนิคการเพาะเลี้ยง นางพญาชันโรง กี่งธรรมชาติจาก รศ.ดร.สมนึก บุญเกิด และคุณพุทธวัฒน์ แสงสุริโยทัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาจาก สวทช. จะทำให้สามารถเพาะเลี้ยงขยาย นางพญาชันโรง ได้เร็วขึ้นกว่าตามธรรมชาติและได้จำนวนมาก

นอกจากนี้ วสันต์ ยังมองถึงการแปรรูปผลผลิตจาก ชันโรง เป็นผลิตภัณฑ์อื่นเพิ่มขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้

“จะเพาะเลี้ยง ชันโรง ต่อไปเรื่อย ๆ ให้เกษตรกรเอาไปใช้เพิ่มผลผลิต ใครเอาไปเลี้ยงได้เอาไป ช่วยขยายพันธุ์ จะได้ไม่สูญพันธุ์ ถ้าคนที่สนใจจะเพาะเลี้ยง ชันโรง เป็นอาชีพ ความรู้ก็ต้องมี แต่สิ่งสำคัญสุดคือ ต้องใจรัก”

แม้ทุกวันนี้ “ชันโรง” หรือ ผึ้งจิ๋ว จะเพิ่มผลผลิตให้กับสวนผลไม้ของ วสันต์ ต่อยอดสร้างเป็นธุรกิจและอาชีพเพาะเลี้ยงชันโรง สร้างรายได้ไม่น้อยให้กับครอบครัว แต่มากกว่าเงินทองที่ได้รับ วสันต์ บอกทิ้งท้ายว่า “ได้ความสุข” จากผึ้งจิ๋วนี้

ที่มา สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร