สศท. 3 ประชุม “แนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม กรณีศึกษาเนื้อโคขุนโพนยางคำ”

นางสาวอุษา โทณผลิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3(สศท. 3 อุดรธานี) เป็นประธานการประชุมหารือ เรื่อง“การศึกษาแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมกรณีศึกษาเนื้อโคขุนโพนยางคำ” ณ ห้องประชุมสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง โพนยางคำ จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

โดยมีนางสาวเพ็ญศรี สาวัตถี ผู้อำนวยการส่วนแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจการเกษตร และนางสาวณรินทร์ภัทร เลขะพันท์รัชต์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ นำเสนอ(ร่าง) แนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม กรณีศึกษา เนื้อโคขุนโพนยางคำ (จังหวัดสกลนคร) ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป สถานการณ์การผลิตและการตลาด กลุ่มเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตและการตลาดที่ใช้ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทน และการวิเคราะห์ศักยภาพปัจจัยภายในและภายนอกของสินค้าเนื้อโคขุนโพนยางคำ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด

296249492 415631320599005 7409681855819128675 n
ประชุมหารือแนวทางพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

โดยมีหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการและเกษตรกร ในจังหวัดสกลนคร อาทิ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานสหกรณ์จังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สำนักงาน ธ.ก.ส. สำนักงานโครงการชลประทาน สำนักงานปฎิรูปที่ดินจังหวัด รองประธานกรรมการคนที่ 1 สหกรณ์ฯ โพนยางคำ จำกัด (นายสุชิน วันนาพ่อ) ผู้จัดการสหกรณ์ฯ (นายพรพิทักษ์ แก้วมะ) ประธานสภาเกษตรกรและรองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ดร.ประภากรณ์ แสงวิจิตร) ได้ร่วมให้ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ (GI) ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม : เนื้อโคขุนโพนยางคำ

เช่น เครื่องสแกนพันธุกรรมของโคขุนมีชีวิตหรืออยู่ในระยะการขุน เพื่อตรวจสอบลักษณะความนุ่มของเนื้อและไขมันแทรก เพื่อวางแผนการผลิตให้ได้เนื้อไขมันแทรกในระดับ 3.5 (เกรดพรีเมี่ยม) การสนับสนุนและพัฒนาเครื่องผสมอาหารสัตว์ (TMR) เทคโนโลยีคอกขุนแบบ real time เทคโนโลยีแยกน้ำเชื้อ เป็นต้น

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงร่างแนวทางดังกล่าวให้เกิดความสมบูรณ์และครบถ้วน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนในการกำหนดนโยบาย แผนงาน/โครงการพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์หรือสินค้า GI ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน สามารถเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันทางการตลาด ตลอดจนเป็นแนวทางในการพัฒนาเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ที่มีความชัดเจนของจังหวัดต่อไป

สำหรับ “โคขุนโพนยางคำ” เป็นเนื้อโคคุณภาพสูงจากหมู่บ้านโพนยางคำ ตำบลโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โคเป็นโคเนื้อลูกผสมไทย-ฝรั่งเศส โดยมีการตกลงจัดตั้งเป็นสหกรณ์โพนยางคำขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ แม้จะมีราคาสูงกว่าเนื้อโคปกติก็ตาม


โคขุนโพนยางคำ มีที่มาจากโคเนื้อลูกผสมไทย-ฝรั่งเศส เกิดจากการผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อจากพ่อ-แม่พันธุ์โคเนื้อ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ชาโรเลย์ส (Charolais) ถิ่นกำเนิดประเทศฝรั่งเศส เป็นสายพันธุ์หลัก, พันธุ์ซิมเมนทอล (Simmental) ถิ่นกำเนิดประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ และพันธุ์ลิมูซีน (Limusin) ถิ่นกำเนิดประเทศฝรั่งเศส

หลังจากลูกโคสายเลือดผสมมีอายุประมาณ 2 ปีแล้ว ก็จะเข้าสู่วิธีการ “ขุนโค” โดยจัดการถ่ายพยาธิ ฉีดวัคซีน และตอนก่อนที่จะนำเข้าคอก ทางสหกรณ์ใช้เทคนิคการให้โคฟังเพลงเพื่อให้วัวกินอาหารได้มาก โดยเชื่อว่าเนื้อวัวที่ได้จะนุ่มเลี้ยงด้วยอาหารธรรมชาติเป็นหลัก แบ่งเป็นอาหารหยาบที่ใช้หญ้าหรือฟาง เสริมด้วยอาหารสูตรพิเศษที่ใช้ธัญพืชในการผลิต ซึ่งเชื่อกันว่าเนื้อโคจะมีกลิ่นหอมและรสหวานยิ่งขึ้นและที่คอกวัวนั้นมีการดูแลความสะอาดเป็นอย่างดี ทำความสะอาดพื้น เก็บมูล อาบน้ำวัว แปรงขัดขน ให้วัวกินอาหารได้มากขึ้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวช่วยย่นระยะเวลาการขุนโคจากเดิมประมาณ 1 ปี ลงเหลือ 8-9 เดือน

เมื่อขุนโคเสร็จแล้วก็นำมาชำแหละในโรงฆ่ามาตรฐาน แล้วนำไปเก็บบ่มนาน 7 วัน ก่อนจะมีการให้คะแนนไขมันแทรก แล้วตัดแบ่งชิ้นส่วนและกำหนดเรียกชื่อตามแบบฝรั่งเศส 17 ส่วน ใช้มาตรฐานของฝรั่งเศส


ปัจจุบัน “โคขุนโพนยางคำ”ได้รับความนิยมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลาดเนื้อโคชำแหละในบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร มีตัวแทนจำหน่ายต่างประเทศที่จังหวัดปทุมธานี มีสหกรณ์จำหน่ายในจังหวัดสกลนคร ปัจจุบันสามารถผลิตโคได้ 5ตัวต่อวัน ชำแหละสัปดาห์ละ 2 วัน จากความสำเร็จของโคขุนโพนยางคำ ทำให้มีการแอบอ้างโดยร้านค้าหลายแห่ง ซึ่งถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค โคขุนโพนยางคำจริงจะมีป้ายรับรองมาตรฐานของสหกรณ์ติดอยู่หน้าร้านอาชีพโคเนื้อในปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้น และรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน ชาวบ้านผู้เลี้ยงโคขุนคนหนึ่งบอกว่า ตนได้กำไรจากการเลี้ยงโคขุนโพนยางคำปีละกว่า 300,000-350,000 บาท


กองอำนวยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป.กลาง) ซึ่งตั้งขึ้นที่บ้านโพนยางคำ ต้องการจะพัฒนาพันธุ์โคเนื้อของไทยให้เป็นอาหารขายได้ จึงได้ของบประมาณจากรัฐบาลจัดหาน้ำเชื้อโคพันธุ์เนื้อจากต่างประเทศมาผสมเทียมโดยไม่คิดมูลค่าให้แก่สมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงโคในภาคอีสาน แต่ยังประสบปัญหาไม่มีตลาดรองรับเนื้อโคพันธุ์ลูกผสม กรป.กลางจึงได้ขอความร่วมมือจากประเทศฝรั่งเศส และมีการตั้งลงจัดตั้งสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง บ้านโพนยางคำขึ้นในปี พ.ศ. 2523 ซึ่งทางรัฐบาลฝรั่งเศส โดยสถานเอกอัครราชทูตได้ให้การสนับสนุนด้านการฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ไทย ตลอดจนสนับสนุนด้านเงินทุนเป็นค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลียและบริษัท เนสเล่ (ประเทศไทย) จำกัด อีกด้วย