ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์นวัตกรรมคาร์กิลล์ (Cargill Innovation Center) หรือ ศูนย์ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัท คาร์กิลล์มีท (ไทยแลนด์) จำกัด ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยและหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัด สวทช.และพันธมิตร เพื่อส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่วิทยาการผลิต แปรรูปอาหาร และเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ โดยมี น.สพ.สนัด วงศ์ทวีทอง รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยและนางสาวชมพูนุช อนุศาสน์สิทธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและคลัสเตอร์นวัตกรรม อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เข้าร่วมพิธี
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทฯ เลือกอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งดูแลโดย สวทช. เป็นพื้นที่ตั้งศูนย์นวัตกรรมคาร์กิลล์ และเชื่อมั่นในประสบการณ์ของการเป็นผู้ผลิตรวมถึงจัดจำหน่ายอาหารและสินค้าเพื่อการเกษตร ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศกว่า 50 ปี และในต่างประเทศกว่า 157 ปี โดยมีการส่งออกไปกว่า 16 ประเทศทั่วโลก เมื่อรวมกับประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในการทำวิจัย ของ สวทช.ที่มีศูนย์วิจัยแห่งชาติเช่น ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค)ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านของเกษตรและอาหารผนวกกับการเข้าถึงเครือข่ายพันธมิตรของทั้งสวทช.และอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จะทำให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นประโยชน์และตอบโจทย์ผู้บริโภคได้
นอกจากนี้การจัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมฯ”ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรม S-Curve ซึ่งเป็นนโยบายหลักเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรในประเทศไทย
นายวัชรพล ประสพเกียรติโภคา หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจคาร์กิลล์ประเทศไทยและกรรมการผู้จัดการธุรกิจโปรตีนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการจัดตั้งในครั้งนี้จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคยุคปัจจุบันในทิศทางที่ดีขึ้น
เดิมบริษัทฯ เคยมีศูนย์ฯ อยู่ที่จังหวัดสระบุรีแต่ด้วยพื้นที่จำกัดและการเข้าถึงบุคลากรนั้นทำได้ยาก จึงเปลี่ยนมาจัดตั้งที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อให้เข้าถึงบุคลากรที่มีความสามารถได้มากขึ้นและง่ายขึ้น
ซึ่งภายในศูนย์ฯประกอบด้วย ห้อง Sensory & Kitchen Studio ที่นำข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคมาวิเคราะห์และพัฒนาสูตรอาหารโดยนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์การอาหาร โดยเน้นถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ห้อง Kitchen ที่ใช้พัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มีรสชาติที่หลากหลายและถูกปากผู้บริโภคมากขึ้น และห้อง Pilot line ที่นำขั้นตอนการผลิตมาย่อส่วนลงเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมฯ ถือเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ค้าของบริษัทประสบความสำเร็จในธุรกิจ สร้างความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้ ร่วมกับการใช้ประสบการณ์กว่า 157 ปีจากคาร์กิลล์ทั่วโลกในการยกระดับผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ทางบริษัทยังยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจร่วมกันกับเกษตรกร ชุมชน หน่วยงานของรัฐและลูกค้าเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ตรงกับปณิธานของบริษัทที่ว่าเรื่องของการเติบโตด้วยวิถีปลอดภัย มีความรับผิดชอบ และยั่งยืน
นายธิติ ตวงสิทธิตานนท์ กรรมการผู้จัดการธุรกิจโปรตีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า คาร์กิลล์ไทยแลนด์ ถือเป็นอันดับต้นของประเทศไทยที่ส่งออกไก่ปรุงสุกทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี อังกฤษ โปแลนด์ และแคนนาดา เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยบริษัทดำเนินเกี่ยวกับธุรกิจโปรตีนเมื่อประมาณ 32 ปีที่ผ่านมา มีการจัดตั้งโรงงานที่ผลิตที่แรกในจังหวัดสระบุรี และเริ่มขยายธุรกิจไปที่จังหวัดนครราชสีมา และต่อมาได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ 2 แบรนด์ ได้แก่ Sun valley ผลิตภัณฑ์ไก่ปรุงสุกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น นักเก็ตไก่ ไก่ป๊อป ชิกเก้นสติ๊ก และปีกไก่กรอบ ที่วางจำหน่ายตามห้าง modern trade เช่น Super market Lotus Top market รวมถึงช่องทางออนไลน์ อย่าง Facebook Lazada Shopee และแบรนด์ PlantEver ซึ่งเป็นโปรตีนทางเลือกหรือ โปรตีนจากพืช ซึ่งการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมฯ นี้จะช่วยทำให้บริษัทเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ได้มากยิ่งขึ้น และช่วยต่อยอดได้ พัฒนาผลิตภัณฑ์ของทางบริษัทให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น
โดยในภูมิภาคเอเชีย มีการจัดตั้ง Cargill Innovation Center แล้ว 4 แห่ง ได้แก่ สิงค์โปร์ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง คุรุคราม (Gurugram) และล่าสุดที่ประเทศไทย ซึ่งนับเป็นศูนย์นวัตกรรมแห่งที่ 5 ของเอเชีย เพื่อสานต่อเป้าหมายหลักในการเป็นผู้ผลิตอาหารและสินค้าเกษตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค พร้อมส่งมอบไอเดียนวัตกรรมผ่านผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีความปลอดภัย มีความรับผิดชอบในทุกกระบวนการผลิตและสร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้หน่วยงานที่สนใจจะมีความร่วมมือกับคาร์กิลล์ สามารถติดต่ออุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 025647000 ต่อ 5555 หรือ อีเมล [email protected]