ทึ่ง พบกับนวัตกรรมใหม่ “หลอดพลาสติกชีวภาพผสมเส้นใยกัญชง”

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ. หรือ DIPROM) เปิดเผยว่า ได้ร่วมหารือกับ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจี (BCGEconomy Model) ผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยมีบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด หรือ GC ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตเม็ดพลาสติก ที่จะมาต่อยอดการวิจัยพัฒนาสูตรการผลิตพลาสติกชีวภาพ จาก“พืชกัญชง”ในเชิงพาณิชย์สู่เศรษฐกิจชีวภาพ

n42 4
เส้นใยกัญชง

โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จะรับบทบาทในการจัดหา “เส้นใยกัญชง”เพื่อเป็นวัสดุในการวิจัย พร้อมส่งเสริมการเข้าถึงสำหรับธุรกิจที่สนใจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทย และยังขยายผลไปสู่การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในด้านการบริหารการผลิต การแปรรูป รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเส้นใยสั้น หรือเส้นใยชีวภาพที่เหลือทิ้ง ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าวัสดุและลดปริมาณขยะในภาคอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

การผนึกความร่วมมือดังกล่าว ยังเป็นการเดินหน้านโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) ซึ่งได้ออกแบบงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม พร้อมทั้งแก้ปัญหาได้ตรงจุดให้กับอุตสาหกรรมพืชกัญชงและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกทั้งยังช่วยภาคเกษตรอุตสาหกรรมในการจัดหาวัตถุดิบในเชิงพื้นที่ และขยายช่องทางการเข้าถึงสำหรับภาคอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทย

นายวริทธิ์ นามวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีมูลค่าเพิ่ม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด หรือ GC เปิดเผยว่า GC ในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตลอดจนเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพลำดับต้น ๆ ของโลก พร้อมให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดจากเศษวัสดุเหลือทิ้งจาก “เส้นใยกัญชง” ซึ่งนับเป็นเส้นใยชีวภาพที่มีศักยภาพในการนำไปใช้งาน

ความร่วมมือในครั้งนี้ GC จะสนับสนุนเม็ดพลาสติกชีวภาพเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพร่วมกับ“เส้นใยกัญชง” อาทิ “หลอดพลาสติกชีวภาพที่มีส่วนผสมของเส้นใยกัญชง” ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในอนาคต ที่จะช่วยลดขยะเส้นใยกัญชงเหลือทิ้งและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกัญ

ปัจจุบันพบว่าการประกอบการในภาคอุตสาหกรรม มีปริมาณกากอุตสาหกรรมชนิดไม่อันตรายเกิดขึ้น จำนวนมากกว่า 17 ล้านตันต่อปี ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมากในการดูแลและกำจัด หนึ่งในนั้น คือ ขยะพลาสติกที่มีจำนวน 4.8 ล้านตัน/ปี ที่จะมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณมากขึ้น

หลังกระบวนการแปรรูปเพื่อนำเส้นใยไปใช้ประโยชน์จะเกิด “เส้นใยสั้น” ซึ่งเป็นสิ่งเหลือทิ้งจากกระบวนแปรรูปเฉลี่ยไร่ละประมาณ 400 กิโลกรัม ปัจจุบันมีการขออนุญาตเพาะปลูกจำนวนกว่า 631.9 ไร่ ปลูกได้กว่า 2 รอบต่อปี ดังนั้น จะมีเส้นใยเหลือเป็นขยะในภาคอุตสาหกรรมกว่า 505,400 กิโลกรัมต่อปี และสอดคล้องกับมติของคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) ที่มีเนื้อหาสาระการห้ามใช้พลาสติก 4 ชนิด ได้แก่ ถุงหิ้ว โฟม แก้ว และหลอดพลาสติกในปี 2565 นี้