สงครามรัสเซีย–ยูเครน ส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลก หลายประเทศประกาศหยุดและจำกัดการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญ ล่าสุดอินเดียจำกัดการส่งออกน้ำตาลเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี
โดยรัฐบาลอินเดีย ออกแถลงการณ์จำกัดการส่งออกน้ำตาลเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี(25 พ.ค.65) เพื่อชะลอราคาน้ำตาลภายในประเทศที่ขยับขึ้นต่อเนื่อง
รัฐบาลแถลงการณ์ ระบุว่า อินเดียจะจำกัดการส่งออกน้ำตาลที่ระดับ 10 ล้านตันในฤดูกาลนี้ โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ต.ค.2565 บริษัทส่งออกของอินเดีย จะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาล ก่อนที่จะทำการส่งออกน้ำตาลไปยังต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้รัฐบาลอินเดีย ยังมีแผนจำกัดการส่งออกที่ระดับ 8 ล้านตัน แต่ตัดสินใจเพิ่มการส่งออกเป็น 10 ล้านตัน เนื่องจากมีการปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลภายในประเทศ
ทั้งนี้ สมาคมโรงฟอกน้ำตาลอินเดียได้ปรับตัวเลขคาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลในปีนี้สู่ระดับ 35.5 ล้านตันจากเดิมที่ระดับ 31 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์กันว่า หลังจากที่จำกัดการส่งออกน้ำตาลที่ระดับ 10 ล้านตันในฤดูกาลนี้จะทำให้อินเดียมีสต็อกน้ำตาลราว 6 ล้านตัน ณ วันที่ 1 ต.ค.2565 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาล 2565/66 โดยจะเพียงพอสำหรับความต้องการบริโภคในช่วงเทศกาลในไตรมาส 4/65
ขณะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งขึ้นทันที หลังอินเดียประกาศจำกัดการส่งออกน้ำตาลเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี
ทั้งนี้ ราคาสัญญาน้ำตาลที่มีการซื้อขายในตลาดลอนดอนพุ่งขึ้นกว่า 1% ขานรับมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำตาลของอินเดีย โดยอินเดียเป็นประเทศที่ผลิตน้ำตาลมากที่สุดในโลก และส่งออกสูงเป็นอันดับ 2 รองจากบราซิล
ขณะที่มีข้อมูลของสถาบัน Peterson Institute for International Economics หรือ PIIE ระบุว่า ปัจจุบัน มีประเทศที่มีนโยบายห้ามส่งออกอาหาร เช่น
อาร์เจนตินา : น้ำมันถั่วเหลือง, กากถั่วเหลือง สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
แอลจีเรีย : พาสต้า, เมล็ดข้าวสาลี, น้ำมันพืช, น้ำตาล สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
อียิปต์ : น้ำมันพืช, ข้าวโพด สิ้นสุดวันที่ 12 มิถุนายน 2565 และข้าวสาลี, แป้งสาลี, น้ำมันพืช, ถั่วเลนทิล, พาสต้า, ถั่ว สิ้นสุดวันที่ 10 มิถุนายน 2565
อินโดนีเซีย : น้ำมันปาล์ม, น้ำมันปาล์มจากเมล็ดปาล์ม สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
อิหร่าน : มันฝรั่ง, มะเขือม่วง, มะเขือเทศ, หัวหอม สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
คาซัคสถาน : ข้าวสาลี, แป้งสาลี สิ้นสุดวันที่ 15 มิถุนายน. 2565
โคโซโว : ข้าวสาลี, ข้าวโพด, แป้งสาลี, น้ำมันพืช, เกลือ, น้ำตาล สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
ตุรกี : เนื้อวัว, เนื้อแกะ, เนื้อแพะ, เนย, น้ำมันประกอบอาหาร สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
ยูเครน : ข้าวสาลี, ข้าวโอ๊ต, ข้างฟ่าง, น้ำตาล สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
รัสเซีย : น้ำตาล, เมล็ดทานตะวัน สิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2565 และข้าวสาลี, แป้งเมสลิน, ข้าวไรย์, ข้าวบาร์เลย์, ข้าวโพด สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565
เซอร์เบีย : ข้าวสาลี, ข้าวโพด, แป้งสาลี, น้ำมันพืช สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
ตูนิเซีย : ผัก, ผลไม้ สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
คูเวต : ผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่, ธัญพืช, น้ำมันพืช สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
ขณะที่ธนาคารโลก ได้ประกาศแผนรับมือวิกฤติความมั่นคงด้านอาหารโลก โดยจะอัดฉีดงบประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าสู่โครงการในปัจจุบันและโครงการใหม่ ซึ่งงบประมาณดังกล่าวจะครอบคลุมด้านเกษตรกรรม, โภชนาการ, การคุ้มครองทางสังคม, น้ำ และการชลประทาน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารตลอดช่วง 15 เดือนข้างหน้า
นอกจากนี้งบประมาณดังกล่าว ยังครอบคลุมการส่งเสริมการผลิตอาหารและปุ๋ย เพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบอาหาร สนับสนุนด้านการค้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนให้ความช่วยเหลือครัวเรือนและผู้ผลิตกลุ่มที่เปราะบาง
โดยธนาคารโลกจะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆในการจัดตั้งโครงการใหม่ๆ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 15 เดือนข้างหน้า เพื่อรับมือวิกฤติความมั่นคงด้านอาหาร รวมถึงกระตุ้นให้ประเทศต่างๆพยายามร่วมกันเพื่อเพิ่มปริมาณพลังงานและผลผลิตปุ๋ย ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มอัตราการเพาะปลูกและปริมาณผลผลิต รวมถึงยกเลิกนโยบายระงับการส่งออกและนำเข้า
ขอบคุณข้อมูล(บางส่วน) : เพจ FB ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ / อินโฟเควสท์