“ไทย…จะได้อะไรจากจีน” 

เมื่อวานนี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน นายหวัง อี้ เดินทางเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 4 – 5 ก.ค.โดยพบปะหารือกับนาย ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือของไทยและจีนแบบรอบด้าน

ภายหลังทั้งสองได้แถลงข่าวร่วมกัน นายดอน กล่าวว่า ไทยและจีนพร้อมมองไปข้างหน้าร่วมกัน ทั้งรับรู้ว่าจะต้องเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาในหลายๆประการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกเพื่อขนส่งสินค้าและลดอุปสรรคการค้าระหว่างกัน

ประเด็นที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรของเรา มีอะไรบ้าง จับประเด็นจากการแถลงข่าวของรองนายกรัฐมนตรีของไทย นาย ดอน ปรมัตถ์วินัย คือ การหารือกันอย่างมากคือด้านเศรษฐกิจ ที่มีการดำเนินการครั้งล่าสุดจากที่ได้พบกันที่อานฮุย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการขนส่งสินค้าที่เกิดการเน่าเสีย ที่นาย หวังอี้ ได้ช่วยผลักดันตั้งแต่คราวที่แล้ว ทำให้การขนส่งสินค้าอย่างทุเรียน มังคุด และอีกหลายๆอย่าง ได้ดำเนินไปในลักษณะที่ได้ประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ทั้งกับผู้ผลิตฝั่งไทยและผู้บริโภคในจีน 

จากเรื่องนั้นก็ได้มีการหารือเพื่อมองไปข้างหน้าร่วมกัน รับรู้ว่าเราจะต้องทำอะไรหลายอย่างเพิ่มเติมเป็นต้นว่าจะจัดให้มีเจ้าหน้าที่มาประจำอยู่จุดตั้งต้นเพื่อให้การขนส่งผลไม้ไทยไปจีนสามารถดำเนินไปได้โดยที่ไม่ต้องมานั่งตรวจเช็คกัน ถ้าหากมีการตรวจสอบกันมาตั้งแต่ต้นทางเป็นต้น

ด้านนายหวัง อี้ กล่าวว่า “แม้สถานการณ์โลกวุ่นวายเปลี่ยนแปลงไปตลอด แต่สัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีความยั่งยืนโดยตลอด การพูดคุยกันของเรามีแต่มิตรภาพและความร่วมมือ และมีความเห็นชอบร่วมกันในหลายประการ เราเห็นพ้องกันว่าเราควรร่วมมือสร้างประชาคมสำหรับอนาคตของจีน-ไทย เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาในอนาคตสองประเทศ 

เราควรสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป ซึ่งเป้าหมายที่จะสร้างประชาคมร่วมกันในอนาคตนั้นจะมีความหมายอย่างที่เราบอกว่าจีนไทยไม่ใช่อื่นไกลเป็นพี่น้องกัน จะทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศคึกคักมากขึ้น เชื่อมั่นว่าจะทำให้ประชาชนทั้งสองประเทศจะมีความเชื่อมั่นต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมากยิ่งขึ้น”

นายหวัง อี้ ยังกล่าวย้ำด้วยว่า “ประการที่ 2 คือจะสร้างระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมจีน-ลาว-ไทย เรียกว่าเป็นสายแถบเชื่อมการพัฒนาที่เชื่อมโยงระหว่าง 3 ประเทศ ซึ่งสามารถลงทางใต้ไปถึงอีอีซีของไทย ขึ้นทางเหนือไปถึงระเบียงเศรษฐกิจของลาว จากนั้นก็เชื่อมขึ้นไปยังยูนนานของจีน และยังสามารถส่งสินค้าไปถึงยุโรปผ่านระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมโยงทางบกกับทางทะเล เป้าหมายของเราคือให้ใช้โลจิสติกส์เพื่อผลักดันการค้าการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้ง 3 ประเทศ สร้างสายแถบแห่งการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนทั้งสามประเทศได้ประโยชน์อย่างแท้จริง” 

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้สินค้าเกษตรของไทยสามารถนำเข้าไปยังตลาดที่มีขนาดใหญ่ของจีนได้โดยเร็ว และยังสามารถผ่านไปยังตลาดยุโรปได้อีกทางหนึ่ง ตนเชื่อมั่นว่าในอนาคตเราทั้ง 3 ประเทศจะสามารถสร้างความร่วมมือเพื่อเปิดช่องทางด่วนให้กับทุเรียนรวมถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ ของไทย”

2 ประเด็นหลักๆ หากมองลึกลงไปในถ้อยแถลง หนึ่ง สินค้าเกษตรของไทยเชื่อมโยงสามารถเชื่อมโยงผ่านไปจีนมากขึ้น และที่สำคัญ คือการสร้างความร่วมมือเพื่อเปิดช่องทางด่วนให้กับสินค้าเกษตรของไทยโดยเฉพาะทุเรียนรวมไปถึงสินค้าอื่นๆ

เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ของเกษตรกร เป็นข่าวดีในเรื่องของการส่งสินค้าที่เราร้องขอตลอดมา คือเรื่องของ Fast Track สินค้าเกษตรจากไทย ที่หลายหน่วยงานเรียกร้องรวมไปถึง สมาคมทุเรียนไทย ด้วย

เราจะเตรียมตัวกับการ Fast Track สินค้าเกษตรบ้านเราไปจีนอย่างไร น่าสนใจ เราจะควบคุมคุณภาพสินค้าจากต้นทางไปปลายทางไม่ให้เกิดปัยหาได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่รัฐ เอกชน และเกษตรกรต้องเตรียมให้พร้อม

ในขณะเดียวกัน…เกษตรกรก็เตรียมรับแรงกระแทกเช่นกัน