อย่าให้ใครกล่าวหาว่า “กฏหมายไทย” อ่อน เหมือนทุเรียน

ต้องชม “ชุดปฏิบัติการพิเศษจันทบุรี” ที่เมื่อคืนนี้ไปตรวจ “ทุเรียนอ่อน” ที่โรงคัดบรรจุเนินสูง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กลางดึก พบทุเรียนกองอยู่ในล้ง และกำลังอยู่บนรถคอก เต็มลำ 2 ลำ และมีรถกระบะอีกประปราย

แต่เมื่อตรวจสอบเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งทุเรียนบนรถคอก 2 ตัวอย่าง น้ำหนักแห้งเพียง 16% และ 23% จึงนำมาสู่กระบวนการสั่งคัดแยกทุเรียนอ่อนออก และพ่นสี ห้ามจำหน่าย แต่ที่น่าแปลกใจ คือ ทำได้แค่

“ พ่นสี และตักเตือนห้ามทำอีก ” ?

คำถามจาก ชลธี นุ่มหนู อดีต ผอ.สวพ.6 และอดีตหัวหน้าทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย ผู้บังคับใช้กฏหมายในขณะปฏิบัติงานอยู่ ถึงขนาดส่งเสียงไปถึงผู้เกี่ยวข้องทุกคน คือ เหตุใดทำไมไม่สอบสวน ไปจนถึงสวน ที่ อ.ขลุง ซึ่งถูกกล่าวอ้าง รวมถึงสายตัดทุกคน เพราะพฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้เห็นถึงขบวนการค้าทุเรียนอ่อน ที่ยังมีอยู่ และทั้งหมดต้องรู้เห็นเป็นใจร่วมกัน ไม่เช่นนั้นจะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น

ปฏิบัติการตรวจจับทุเรียนอ่อน ที่เกือบจะเป็นล็อตใหญ่ เมื่อคืน(28/4/68) นี้ เพราะนอกจากรถคอก 2 ลำ จอดในล้ง ยังมีรถคอกจอดรอริมถนนเตรียมที่จะเข้าล้งอีกราว 6-7 ลำ พร้อมทุเรียนเต็มทุกลำ ก่อนจะรีบขับหลบหนีออกไป เพราะเห็น จนท. กำลังตรวจอยู่ ทำให้เห็นว่า ขบวนการนี้ ไม่ได้เกรงกลัวคำสั่งจังหวัดจันทบุรี ที่ สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการตั้งจุดสกัดป้องปราม และตรวจสอบทุกเรียนอ่อน ตั้งแต่ ระดับ ชุมชน / หมู่บ้าน / ตำบล / อำเภอ หรือแม้แต่จังหวัด เลยแม้แต่น้อย

คำถาม ที่ถูกตั้งขึ้น คือ ผ่านมาได้อย่างไร / รอดหู รอดตา จนท. ตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน มาได้อย่างไร?

เพราะทุเรียนล็อตนี้จากรถทุกคัน ไม่มีใบ GAP สวน แนบมาด้วยเลยสักคัน หรือสักใบ แล้วใครคือ นายทุน “ ว ” ที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นเจ้าของทุเรียนทั้งหมด กลับติดต่อไม่ได้ ไม่ยอมรับสายเจ้าหน้าที่ เพราะถูกตั้งข้อสงสัยมากว่า หากทุเรียนมาอย่างถูกต้อง เหตุใดจึงไม่ยอมแสดงตัวเป็นเจ้าของ

ที่น่าสนใจมากสุด คือ ขณะนี้มีทะเบียนรถคอกที่มาจากภาคใต้ เยอะมาก (ย้ำว่า คนที่ทำดี / ตามกติกา มีเยอะ) เหล่านี้ได้มีการตรวจสอบ / ลงทะเบียน เพื่อง่ายในการตรวจสอบหากเกิดปัญหา หรือไม่? เหมือนสมัยนึง ที่กำหนดให้ลงทะเบียนนักคัด นักตัด รถขน เพื่อง่ายในการตรวจสอบ และยกระดับห่วงโซ่อาชีพทุเรียนไทยให้มีมาตรฐาน ไม่ทราบว่า โครงการเหล่านี้ ยังมีอยู่หรือไม่ ?

ปัญหาการค้าทุเรียนอ่อน ห่างหายไปนาน เสมือนไม่มีทุเรียนอ่อนออกสู่ท้องตลาด แต่ชาวสวน และคนกินปลายทางรู้ดี ว่า เป็นอย่างไร

สำคัญสุด ปฏิบัติการเมื่อคืนนี้เป็นความลับ ไปตามพิกัดพลเมืองดีที่แจ้ง จนทราบว่ามี การค้าทุเรียนอ่อน กว่า 2 ตัน อยู่จริง สะท้อนอะไรกับผู้เกี่ยวข้อง ถึงต้องให้พลเมืองดีชี้พิกัดให้

แม้จะตรวจยึดทุเรียนอ่อนได้เมื่อคืนนี้ และทำได้เพียง แค่ “ พ่นสี และแจ้งเตือน ” จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่า กฏหมายไทยทำอะไรไม่ได้เลยหรือ ทั้งๆที่มีคำสั่งจังหวัดให้อำนาจทุกหน่วยราชการใช้กฏหมายตัวเองที่เกี่ยวข้อง เพื่อปราบปรามการค้าทุเรียนอ่อนให้ได้

ลองดู ตัวอย่าง

กฏหมายกระทรวงพาณิชย์

-พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 18(2) มาตรา 24 มาตรา 25 มาตรา 26 และอื่นๆ

-พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค

หาก กฏหมายเหล่านี้ ใช้ไม่ได้จริง ลองใช้

-การตรวจสารเสพติดในสถานประกอบการ

-การเข้าเมือง และการขอนุญาตทำงานของแรงงานในสถานประกอบการ

-การจัดตั้งทะเบียนบริษัท

-นอมินีต่างชาติ

และอื่นๆ

เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้เคยใช้ได้ผลดีกับการป้องปราม และการแก้ปัญหาทุเรียนอ่อน และทุเรียนสวมสิทธิ์ มาแล้วช่วงหนึ่ง

493266233 1472276537426057 7763604192774603022 n