“ผิดเป็นครู…มาตรฐานทุเรียนไทย”…เจาะกลางใจ โดย”ขุนพิเรนทร์

ประเด็นเล็กๆแต่ให้ความรู้สึกที่หลากหลาย การทำงานมีผิดพลาด พลาดแล้วมีคนชี้ทาง ยอมรับและแก้ไขนี่คือ ความงดงามของพี่น้องกรมวิชาการเกษตร

“ทุเรียนแสนล้าน” ก่อนที่จะถูกนำส่งไปขายยังต่างประเทศจะผ่านการประทับตราจากหน่วยงานของรัฐอย่างส่งจีนต้องเป็นสวน GAP ผ่านล้งที่ได้มาตรฐาน GMP และที่สำคัญมีการสุ่มตรวจโดยหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่เพื่อให้ทุเรียนอ่อนหรือทุเรียนด้อยคุณภาพเล็ดลอดออกไปให้ได้น้อยที่สุด

การตรวจแป้ง เป็นข้อกำหนดที่ออกมา เป็นการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การมองด้วยตา หรือสัมผัสด้วยใจอย่างเดียวแต่ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ เป็นกติกาที่เกิดขึ้น 

พันธุ์กระดุม เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนต้องได้ 27 % ขึ้นไป พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี 30% ของน้ำหนักแห้งขึ้นไป พันธุ์หมอนทอง 32% ของน้ำหนักแห้งขึ้นไป หากตรวจพบเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่าที่ประกาศให้ถือว่าเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) 

ประเด็นเล็กๆแต่ไม่ต่างจากกระสุนปืนเอ็ม 16 คือ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงพื้นที่ให้กำลังใจเกษตรในพื้นที่ภาคใต้ทั้งเมืองทุเรียนอย่างชุมพร และเลยไปดูพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีข่าวก่อนหน้านั้นเรื่องทุเรียนอ่อน พอท่านอธิบดีไป ในพื้นที่เลยจัดเต็มทั้งพบพี่น้องชาวสวน ล้ง และ ตรวจวัดแป้งโชว์คุณภาพทุเรียน

ปัญหาอยู่ตรงนี้หละครับ การวัดแป้งของทุเรียนหลายตัวอย่างมีค่าเปอร์เซ็นแป้งสูงลิ่ว บางตัวอย่างระดับ50% “ขุนพิเรนทร์” เห็นรายละเอียดแล้วความอยากกินทุเรียนแบบนั้นผุดขึ้นมากลางใจ พร้อมกับต่อมอิจฉาคนจีนที่ได้กินทุเรียนแก่จัด

แต่เดี๋ยวก่อน….ค่าวัดแป้งทุเรียนที่ได้เกิดความผิดพลาดขึ้น เมื่อ “มือปราบทุเรียนอ่อน” ชลธี นุ่มหนู อดีตผอ.สวพ.6 ที่วันนี้ออกจากราชการเป็นชาวสวนเต็มตัว เห็นผลการวัดค่าแป้ง พร้อมกับท้วงติงน้องๆเบาๆไปว่า…อ่านค่าผิด ไม่ได้หักถ้วยกระดาษ

สั้นๆแต่สะเทือนไปทั้งกรมวิชาการเกษตร

CC9724B4 9F31 466B 878A 748866BA70D0

ทำไมขุนพิเรนทร์คิดแบบนั้น การทำงานมีผิดพลาด คนที่ไม่ทำงานนั่นหละถึงไม่ผิดพลาด แต่การพลาดครั้งนี้เป็นการปล่อยไก่เพราะโชว์ผู้บริหารสูงสุดของกรม

การโพสต์สั้นๆของอดีตผอ.สวพ.6 เป็นพี่สอนน้อง แต่สะท้อนความไม่จัดเจนของหน่วยงานในพื้นที่ ไอ้ขุนคิดสองสามอย่าง อยากแรกคือตื่นเต้น ความตื่นเต้นทำให้ขาดความละเอียด รอบคอบ อย่างที่สองคือพลาดเพราะไม่ชำนาญงานหรือไม่มีความจัดเจน 

อย่างที่สามคือ….. ที่จุดๆคือไอ้ขุนไม่อยากจะคิดแบบนั้น 

แต่เมื่อผิดพลาดออกมาแบบนี้ น้องๆของอดีตมือปราบทุเรียนอ่อนรีบขอโทษและขอบคุณผอ.ชลธี พร้อมทั้งปรับแก้ข้อมูลให้ถูกต้อง ภาพนี้งดงามครั้บ และน่าจะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของทีมตรวจทุเรียนอ่อนของภาคใต้เหมือนกัน 

ทุเรียนทุเรศ 2 ตู้ที่เป็นข่าวตีกลับจากมุกดาหารและนครพนม เป็นหนึ่งตัวอย่างที่จะจารึกไว้กับความปล่อยปละละเลยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทุเรียนใต้ ทุเรียนด้อยคุณภาพขนาดนั้นปล่อยไปได้อย่างไร

อย่าเถียง “ขุนพิเรนทร์” เลยครับว่าแค่ “สองตู้” เพราะถ้าเถียง “ขุนพิเรนทร์” จะถามกลับเหมือนกันว่า…ท่านแน่ใจได้อย่างไรว่าที่ส่งออกไปแล้วจะไม่มีเหมือนทุเรียนทุเรศ 2 ตู้นั้น และวันนี้กรมวิชาการเกษตร หรือแม้กระทั่งฟรุ้ทบอร์ดได้สอบสวนเชิงลึก หรือดำเนินการขยายผลกับเรื่องนี้อย่างไร

นี่คือปัญหาใหญ่ของระบบราชการและการเมืองที่ไม่อยากให้เป็นข่าว กลัวกระทบกับบรรยากาศการส่งออก คือ ปิดได้ปิด สุดท้ายปัญหาก็ซุกไว้ใต้พรม แล้วพร่ำพรรณาความสำเร็จกันต่อไป แต่เมื่อไหร่นำลดตอผุด คนเหล่านั้นก็ไม่อยู่ในระบบกันแล้ว แต่เคราะห์กรรมที่วิ่งตามมาระยะยาวคนรับเต็มๆคือเกษตรกร

คำถามตัวใหญ่…คือ ทุเรียนใต้วันนี้ไม่จากต่างแดนสนธยา ถ้าเรายอมรับและร่วมมือร่วมใจ เหมือนตะวันออก ความเชื่อมั่นจะกลับมาแน่ อย่าลืมทุเรียนเกิดที่ใต้ ดังที่ตะวันออก วันนี้เทคนิคการผลิตทุเรียนตะวันออกที่ผลิตเพื่อส่งออกไปไกลกว่าทุเรียนใต้หลายปี 

“ขุนพิเรนทร์” เป็นเขยใต้ย่อมหวังดี ไม่มีหรอกที่จะกล่าวหาหรือด้อยค่าเรียนใต้ เพราะอยากให้ได้ดีมีตังค์กันทุกคน วันนี้ก็อยู่ในกลุ่มไลน์ทุเรียนใต้และยิ้มแก้มปริทุกครั้งเมื่อเห็นชาวสวน/ล้ง/นักวิชาการหรือข้าราชการในพื้นที่ตั้งใจจะทำ “เรียน” ให้มีคุณภาพ

ต่อไปภายภาคหน้าจะไม่ได้เรียกทุเรียนใต้ทุเรียนตะวันออกเพราะเป็นทุเรียนไทยเหมือนกัน จะไม่ต้องมองมาตรฐานสวพ.6/สวพ.7 แตกต่างกันเพราะเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ร่มกรมวิชาการเกษตร

อีกอย่าง…เกือบจะลืม เรื่องงานโชว์ผู้บริหารเมื่อออกพื้นที่ เป็น “ขุนพิเรนทร์” นะ จะวัดให้ท่านอธิบดีดูเลยโชว์ให้เห็นจะๆ ทุเรียนอ่อนเป็นแบบไหน ไปสอยมาจากต้นก็ได้ ทุเรียนอ่อนวัดค่าออกมาเป็นแบบนี้เนื้อทุเรียนเป็นแบบไหน 

ส่วนทุเรียนแก่วัดค่าออกมาได้เท่าไหร่ เนื้อสีอะไร จะจืดจะเหลืองอ่อนๆหรือเหลืองทองก็ได้เห็นกันไป ไม่ต้องกลัวว่าคนจะว่าเจอทุเรียนอ่อน แต่เราโชว์ให้เห็นศักยภาพของหน่วยงานในพื้นที่ว่าเรามีความรู้ความสามารถแยกทุเรียนอ่อนแก่ สร้างความเชื่อมั่นให้กับปลายทางคือผู้บริโภคได้

บางครั้งเราไม่ต้องโชว์แต่ทุเรียนแก่ให้นายเห็นก็ได้ครับ เพราะไอ้ขุนมันคิดแบบนี้หละ ถึงเป็นที่มาของขุนพิเรนทร์ เพรามันคิดพิเรนทร์

ส่วนประเด็น…ความสำเร็จของทุเรียนที่พี่จ้อนชวนแชร์ในกลุ่มไลน์วังโตนด เรื่องเล่าข่าวเกษตร ก็ลงเกือบทุกวัน โดยเฉพาะความรู้ความสามารถของฟรุ้ทบอร์ดที่พี่จ้อน อลงกรณ์ พลบุตร เอาจริงกับการส่งออกผลไม้ 

นานๆขุนพิเรนทร์เขียนแหย่บ้างก็อย่าได้ใส่ใจ เพราะยังงัย ไอ้ขุนก็ให้ความเคารพพี่จ้อนอยู่แล้ว เป็นFC พี่จ้อนมาหลายปี ตั้งแต่เป็น”มิสเตอร์เอทานอล” “มิสเตอร์โกโก้” และอยากมอบ ฉายาให้พี่จ้อนใหม่เป็น “มิสเตอร์ผลไม้ไทย” ด้วยซ้ำ 

เพราะวันนี้พี่จ้อนคือ “พหูสูตร” แห่งวงการผลไม่ไทยไปแล้ว