หมากพืชเศรษฐกิจ ดาวรุ่ง หรือ ดาวร่วง

ในรอบสองปี “หมาก” เป็นพืชที่ถูกยกเป็นดาวรุ่ง เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่สร้างงานสร้างเงินสร้างรายได้ให้กับประเทศ หลายคนคาดเดากันว่า ตลาดหมากอาจจะพุ่งแรงแตะระดับหมื่นล้านในอนาคต

ตลาดหมาก น่าสนใจรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า หมากถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจ ปี 2562 มีมูลค่าการส่งออก 2,029.17 ล้านบาท ปี 2563 มีมูลค่าการส่งออก 2,316.55 ล้านบาท ปี 2564 ขยับขึ้นสูงถึง 5,236.20 ล้านบาท และขยับลดลงในปี 2565 อยู่ที่ 2,554.49 ล้าน

มาดูสถิติการส่งออกหมากไปยังต่างประเทศกัน ย้อนหลัง 3 ปี 

เมียนมา  ปี 2563 มูลค่า 1,714.17 ล้านบาท ปี 2564 มูลค่า 4,433.39 ล้านบาท ปี 2565 มูลค่า 1,395.11 ล้านบาท 

เวียดนาม ปี 2563 มูลค่า 34.74 ล้านบาท ปี 2564 มูลค่า 286.83 ล้านบาท ปี 2565 มูลค่า 475.25 ล้านบาท

บังกลาเทศ ปี 2563 มูลค่า 357.15 ล้านบาท ปี 2564 มูลค่า 265.22 ล้านบาท ปี 2565 มูลค่า 305.14 ล้านบาท

อินเดีย ปี 2563 มูลค่า 40.55 ล้านบาท ปี 2564 มูลค่า 53.05 ล้านบาท ปี 2565 มูลค่า 187.58 ล้านบาท

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปี 2563 มูลค่า 25.96 ล้านบาท ปี 2564 มูลค่า 16.81 ล้านบาท ปี 2565 มูลค่า56.32 ล้านบาท

92B4EEFB 3BCD 4797 A357 754D4621F9B7

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลี ระบุว่า แรงงานอินเดียยังนิยมบริโภคหมาก และในเชิงธุรกิจ ใช้หมากเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมฟอกหนัง ฟอกเส้นใย ทำยารักษาโรค

รวมถึงการใช้บริโภคในลักษณะของสมุนไพร คือ นำไปสกัดจะได้ไขมัน เมือก ยางและสารอัลคาลอยด์ ชื่อARECOLINE มีแทนนินสูง สามารถใช้ในทางอุตสาหกรรม เช่น ใช้ทำสีต่าง ๆ ใช้ย้อมแหและอวน ซึ่งทำให้นิ่มและอ่อนตัวและยืดอายุการใช้งานได้นาน เส้นด้ายไม่เปื่อยเร็ว

นอกจากนี้ สามารถใช้สกัดทำยารักษาโรค เช่น ยาสมานแผล ยาขับพยาธิในสัตว์ ยาแก้ท้องเดิน ท้องเสียยาขับพิษ ยาทาแก้คันน้ำมันนวด ยาขับปัสสาวะ และยาแก้ปากเปื่อย เป็นต้น

ชาวสวนหมากรวยแบบเงียบๆมาหลายปี แต่ในปี 2564 ตลาดหมากพุ่งแรงแบบก้าวกระโดดจนสร้างกระแสหมากฟีเวอร์ชาวสวนหลายคนหันมาปลูกหมากกันมากขึ้น

ข้อมูลการส่งออกย้อนหลัง 5 ปี มูลค่าการส่งออกหมากอยู่ราวๆ 2,000 ล้าน/ปี มีเพียงปี 2564 เท่านั้นที่สูงถึง 2 เท่าคือ 5,256 ล้านบาท 

วันนี้ข้อมูลการปลูกหมากยังไม่ชัดเจนว่ามีพื้นที่เท่าไหร่ มีการขยายตัวมากขึ้นแค่ไหน แต่จากการติดตามข่าวเรื่องหมากในช่วงต้นปี 2566 นี้มีความแปลกอยู่พอสมควร

ปีนี้ตลาดหมากซบเซา ราคาดิ่งเหลือกิโลกรัมละ 10 บาทจากราคา 30 บาท ในปี 2565 ยิ่งเปรียบเทียบกับช่วงปี 2564 ที่พ่อค้าวิ่งซื้อแบบไม่อั้นมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

หากฝ่ายรัฐลองวิเคราะห์ข้อมูล 3 ปี คือ 2563-2565 น่าจะรู้คำตอบว่าในปี 2564 ที่มีการนำเข้าหมากไทยของต่างประเทศแบบไม่อั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร หากแกะรหัสนี้ออกได้ เราจะรู้คำตอบทั้งหมด

วันนี้ชาวสวนหมากที่รวยแบบเงียบๆมานานเริ่มส่งเสียงออกมาบ้างแล้วหละครับ หลังจากทำเงินเงียบๆมาหลายปี พอดังขึ้นมาคนหันมาปลูกกันเยอะ 

จนมีคำพูดว่า…บางทีก็อยากให้รัฐให้สื่ออยู่เงียบๆบ้างก็ดี ดังปุ๊ปแห่กันปลูก พอขาลงแห่กันโค่นปลูกอย่างใหม่

หมากเดิมทีเป็นพืชแนวกันลม ปลูกประดับสวน เป็นพืชเสริมมากกว่าพืชหลัก วันดีคืนดี เล่นเป็นพืชหลักเป็นพืชเศรษฐกิจ

จะเกิดอะไรกับหมาก จะรุ่งจะร่วง ห้ามกระพริบตา..