ปิดห้องคุย EP2 “กฎหมายที่ดินอ่อนที่สุดคือ ส.ป.ก.”

เอาแบบชัดถ้อยชัดคำกับแบบนี้หละครับ กับท่านเลขา ส.ป.ก. ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข

เมื่อตั้งโจทย์ความอ่อนของกฎหมายของส.ป.ก. ท่านเลขาบอกว่า ต้องดูที่มาที่ไปของกฎหมาย ส.ป.ก. มีวัตถุประสงค์ เพื่อ…นำที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อหรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดินซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือมีที่ดินเกินสิทธิเพื่อจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเอง หรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพและสถาบันเกษตรกร

กระจายสิทธิการถือครองให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต 

ตลอดจนการผลิตและการจำหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้นซึ่งรวมถึงการเข้าไปพัฒนาที่ดินที่เป็นการดำเนินการอื่น ๆตามกระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และสอดคล้องกับสภาพการณ์”

นี่คือรากเหง้าคือที่มาที่ไปของกฎหมายของ ส.ป.ก.

คำถามต่อมาคือ ส.ป.ก.ซื้อขายเป็นว่าเล่น เปลี่ยนมือไม่รู้กี่รอบ 48 ปี ฟ้องเอาที่คืนได้กี่ราย

“จากข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2544 ถึงปี พ.ศ. 2564 พบว่า มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จำนวน 402 คดีเป็นการเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง จำนวน 278 คดี ประกอบด้วย

1.การเพิกถอนการจัดที่ดิน จำนวน 165 คดี

2.การเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ใช้ที่ดิน จำนวน 13 คดี

3.การเพิกถอนคำสั่งให้สิ้นสิทธิ จำนวน 64 คดี

4.การเพิกถอนคำสั่งไม่อนุญาต จำนวน 10 คดี

5.การเพิกถอนคำสั่งสอบสวน จำนวน 2 คดี

6.การเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ดิน จำนวน 14 คดี

7.กรณีอื่น ๆ จำนวน 10 คดี

ส่วนดำเนินคดีแพ่งและอาญา ในปี 2566 มีการดำเนินคดี/บังคับคดีกับผู้กระทำความผิดเข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 39 คดี รวมทั้งที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลหรือที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว”

ท่านเลขาส.ป.ก.เสียงดังฟังชัดครับ “ส.ป.ก.ไม่เคยละเว้นมีการดำเนินคดีกับผู้ครองครองที่ดินผิดกฎหมายมาโดยตลอด ในส่วนของมาตรการป้องกันการบุกรุก การครอบครองที่ดินที่ไม่ยินยอมเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปที่ดิน มีแนวทาง 4 แนวทางคือ 

1. มีตรวจสอบการใช้ที่ดินผิดปกติ โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ / ภาพดาวเทียมรายละเอียดสูง

2. มีการตรวจสอบการถือครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน กรณีพบความผิดปกติเกษตรกรทำผิดระเบียบและการครอบครองที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผ่านการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา

3. มีการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบกฎหมาย สั่ง ณ วันที่ 5 กรกฎาคมพุทธศักราช 2559 กำหนดมาตรการในการให้ ส.ป.ก. ยึดฟื้นที่คืน และหากพื้นที่ที่ยึดคืนมาได้มีสิ่งปลูกสร้างติดอยู่บนพื้นที่ ได้กำหนดให้บรรดาสิ่งปลูกสร้างในบริเวณพื้นที่เป้าหมายที่ไม่เป็นอุปสรรคกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว แต่หากสิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นอุปสรรคกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทำการยึด รื้อถอน ทำลาย หรือกระทำการอื่นใดกับสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โดยผู้ครอบครองที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มีหน้าที่ชดใช้หรือออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ อันเป็นกลไกในลักษณะเดียวกับการใช้มาตรการบังคับทางปกครองของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

4. มีการดำเนินคดีแพ่ง อาญา เพื่อขับไล่บุคคลผู้กระทำความผิดพร้อมเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากการตรากฎหมายของ ส.ป.ก. นั้นมีเจตนารมณเพื่อตองการ ช่วยเหลือเกษตรกรได้มีที่ดินทำกินเลี้ยงชีพความเข้มข้นของกฎหมายที่ใชบังคับจึงไม่รุนแรงเหมือนกับหน่วยงานอื่นและหากจำเป็นต้องใช้สิทธิตามกฎหมายก็จะอาศัย กระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเป็นหลัก

ทั้งนี้ ส.ป.ก. ได้ดำเนินการกับผู้ครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามคำสั่ง คสช. (ม.44) กรณีพื้นที่เป้าหมายแปลงที่ดินที่มีผู้ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.เกินกว่า500 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมาย 431 แปลง เนื้อที่ 441,054 ไร่ ใน 27 จังหวัด มีผู้ยื่นคัดค้าน จำนวน 326,865 ไร่ มีเอกสารคำคัดค้านฟังขึ้นจำนวน 289,428 ไร่ และคำคัดค้านฟังไม่ขึ้น 15,416 ไร่ ยึดคืนมาได้151,572 ไร่ และคืนที่ดินให้แก่ผู้ยื่นคัดค้านที่มีหลักฐานตามประมวลกฎหมายที่ดินและหลักฐานการครอบครองเดิม 109,531ไร่ ส่วนที่เหลือ 179,591 ไร่นั้น ส.ป.ก.ได้นำมาพัฒนาต่อไป

IMG 4870

กรณีการเปลี่ยนมือ มาตรการป้องกันการเปลี่ยนมือ/การใช้ประโยชน์ที่ดิน อยู่ 2 แนวทางคือ 

1. มีตรวจสอบการถือครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยตรวจสอบสิทธิและการทำประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินทุกรายทุกแปลงในแต่ละปี เพื่อเป็นไปตามระเบียบเข้าทำประโยชน์ ฯ พ.ศ. 2540 ผ่านการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้ได้รับการจัดที่ดิน โดยคณะกรรมการๆ มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นในการใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้ได้รับการจัดที่ดินในแต่ละพื้นที่และเมื่อพบข้อสงสัยว่าผู้ได้รับการจัดที่ดินไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือผู้ได้รับการจัดที่ดินเสียชีวิตและมีบุคคลอื่นทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. โดย ส.ป.ก.จังหวัดจะประสานผู้ปกครองท้องที่นัดหมายผู้ได้รับการจัดที่ดินให้มาชี้แจงข้อเท็จจริง 

และหากไม่มาจะดำเนินการ จะดำเนินการดังนี้

1.แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จังหวัด เป็นคณะทำงานติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริงแปลงที่ดิน

2.เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปล ง เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน และรายงานผลการตรวจสอบ เช่น รูปถ่ายแปลงที่ดิน ข้อมูลแปลงข้างเคียง ข้อมูลจากผู้ปกครองท้องที่ เป็นต้น

3.สรุปข้อเท็จจริงว่า ผู้ได้รับการจัดที่ดินปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด/ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อดำเนินการตามระเบียบเข้าทำประโยชน์ฯ 2540 ต่อไป

โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กำหนดแผนการตรวจสอบ 5.4 ล้านไร่ และที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2561-2565 มีการตรวจสอบไปแล้ว 30.7 ล้านไร่

2. มีตรวจสอบการใช้ที่ดินผิดปกติ โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ / ภาพดาวเทียมรายละเอียดสูง

มาถึงเรื่องที่หลายคนสนใจคือ มาตรการ/บทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิดของผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินจากส.ป.ก.

กรณีเกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดิน ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการสั่งให้กับเกษตรกรสิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดิน ตามหนังสือที่ กษ 1204/ว 1109 ลงวันที่ 2 ตุลาคม2557 และระเบียบเข้าทำประโยชน์  

ส.ป.ก.จังหวัดดำเนินการนำเสนอ คปจ. เพื่อมีมติให้เกษตรกรนั้นลิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามข้อ 11 แห่งระเบียบระเบียบเข้าทำประโยชน์ฯ 2540 ทั้งนี้หากพบว่าเกษตรหรือผู้กระทำความผิดยังคงอยู่ในพื้นที่ อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองในการสั่งให้ชำระค่าปรับ บังคับหรือดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป

กรณีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสนับสนุนเกี่ยวเนื่อง

คปจ. มีมติไม่อนุญาตให้ประกอบกิจการ หรือ เพิกถอนการอนุญาตไม่ให้ประกอบกิจการ หากผู้กระทำความผิดยังคงฝ่าฝืน อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองในการสั่งให้ชำระค่าปรับบังคับการ เป็นต้นหรือฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป

ทั้งนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2564 มีเกษตรกรถูกสั่งให้สิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน จำนวนทั้งสิ้น 931 ราย

ท่านเลขาบอกว่า ไม้ตายของส.ป.ก.คือ คำสั่งคสช.(ม.44) ที่ใช้จัดการกับผู้ถือครองรายใหญ่ที่ทำผิดกฎหมายและได้นำที่ดินมาพัฒนาและมอบให้เกษตรกรตามกฎหมาย

“ผมอยากเห็นพี่น้องในพื้นที่ส.ป.ก. อยู่ดี มีสุข มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ทำตรงนี้ได้ ทุกคนจะหวงแหนที่ดิน อนาคต ส.ป.ก.จะเป็นโฉนดหรือคุ้มครองไว้เพื่อเกษตรกรรม เป็นไปได้ทั้งหมดครับ แต่สิ่งสำคัญ เกษตรกรได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์ เราพร้อมที่จะเดินตามนโยบายรัฐ”

เดินออกจากห้องท่านเลขาด้วยคำถามมากมายอนาคตข้างหน้าของส.ป.ก.จะเป็นอย่างไร มอง 5 ปี 10 ปีข้างหน้า กฎหมายต้องเปลี่ยนหรือต้องปรับไหม คำพูดสั้นของท่านเลขา “ทำไมเกษตรกร ส.ป.ก.จะรวยไม่ได้” ยังคงก้องอยู่ 

ส.ป.ก. เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งครับ ที่ปัญหาซ้อนกันหลายอย่าง การได้มาที่ดินของส.ป.ก. ไม่ได้มาแค่ที่ดินเปล่าๆ แต่มาทั้งเกษตรกร มาทั้งปัญหา ผืนดิน 40 ล้านไร่ ถูกออกแบบให้ใช้เพื่อเกษตรกรรม คนที่มีสิทธิครอบครองที่ดินคือเกษตรกร 

วันนี้บ้านเมืองเปลี่ยนไป เกษตรกร เกษตรกรรม มีความหลากหลาย เจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดินในวันนั้นกับวันนี้ เปลี่ยนไปหรือไม่ ถึงเวลาที่จะยกเครื่องใหญ่หรือยัง 

คำตอบไม่ได้อยู่ที่ส.ป.ก. แต่อยู่ที่ผู้บริหารบ้านเมือง อยู่ที่สภาฯจะกล้าพอที่เดินไปข้างหน้า หรือ กล้าพอที่จะรับเผือกร้อนๆหรือไม่

IMG 4871 scaled