อ.เจษฎา โพสต์ ยัน อาหารจีเอ็มโอ รับประทานได้ ไม่เป็นอันตราย ไม่ส่งต่อยีนให้กับลูกหลาน

อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์  ชี้อาหารจาก “จีเอ็มโอ” ไม่เป็นอันตราย รับประทานได้ และไม่ส่งต่อยีนให้กับลูกหลาน ระบุคนไทยถูกหลอกให้กลัวกันมาหลายสิบปี

วันที่ 2 มกราคม 2567 รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ว่า “อาหารจากจีเอ็มโอ ไม่ได้อันตราย และไม่ได้ส่งต่อยีนให้กับลูกหลานด้วย” 

415734717 2949924291804852 4554368028435090787 n

มีการแชร์คลิปวิดีโอที่มาจากผู้ใช้ ติ๊กต๊อก ท่านหนึ่งที่ให้ข้อมูลผิดๆ กับสังคม (อีกแล้ว) โดยมีชื่อคลิปว่า “ผลกระทบของอาหาร GMO” และมีเสียงบรรยายทำนองว่า “ถ้าเรากินอาหารจีเอ็มโอ อาหาร(จากสิ่งมีชีวิต)ตัดต่อพันธุกรรมทั้งหลายแหล่ เราไม่เป็นอะไรหรอก แต่ถ้าเมื่อไหร่เราไปมีลูก ยีนที่ผิดปรกติในตัวเรานั้นจะไปโผล่ในลูกพวกผลไม้ไม่มีเมล็ด เพราะมันตัดต่อเอาเมล็ดออกไป ดังนั้น ต้องระวังตัวไว้ ถ้ากินอาหารจีเอ็มโอมากๆ”

ซึ่งไม่เป็นความจริงเลยนะครับ อาหารและผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจาก GMO หรือสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ อย่างการตัดต่อดีเอ็นเอนั้น ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา มีการตรวจสอบกันอย่างเข้มงวดมาโดยตลอดว่ามีความ “เทียบเท่า” กับสิ่งมีชีวิตต้นแบบของมัน ไม่ได้เกิดการสร้างสารพิษใหม่ใดๆ ก่อนที่จะนำออกจำหน่าย

แล้วอาหารที่เรากินเข้าไป มันจะถูกย่อยละเอียดจนหมดครับ ยีนใดๆ ที่ถูกใส่เข้าไปในจีเอ็มโอนั้น ก็จะถูกย่อยเป็นระดับดีเอ็นเอ ระดับนิวคลีโอไทด์ ให้ร่างกายดูดซึมไปใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ว่าจะยังอยู่ในรูปของยีน ที่จะทำให้ร่างกายเราผิดปรกติ หรือไปโผล่ที่ลูกหลานให้เกิดความผิดปรกติขึ้น

ส่วนเรื่อง”ผลไม้ไม่มีเมล็ด” เช่น กล้วย องุ่น ส้ม แตงโม ฯลฯ ที่จำหน่ายกันอยู่นั้น พวกนี้ใช้วิธีผสมพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์ด้านจำนวนโครโมโซม ให้มันเกิดความเป็นหมัน ทำให้เมล็ดฝ่อไปเอง ไม่ได้เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรม ตัดต่อดีเอ็นเอด้วยเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่แต่อย่างไร (อ่านเรื่องแตงโมไร้เมล็ดที่https://www.facebook.com/OhISeebyAjarnJess/posts/pfbid021VSKqYVWN9gXheenRW7Eu3UoVcHoS7cvCcoPYgE7PtiwLRPxr4RSnBPrN9vk4eZl)

เรื่อง GMO นี่ คนไทยเราถูกหลอกให้หวาดกลัว “ผี” กันมาหลายสิบปีแล้ว ทั้งที่ไม่ได้มีหลักฐานถึงอันตรายต่อสุขภาพของเราแต่อย่างไร เป็นแค่การคาดเดาและป้ายสีเอาเอง ตามที่กลุ่มเอ็นจีโอต่างชาติ เข้ามาสร้างและฝังความหวาดกล้วเอาไว้ เพื่อประเด็นหลักคือ “ไม่ให้เกิดการเพาะปลูกในประเทศ” ทำให้เราทำได้แค่ “นำเข้า” มากินมาใช้กัน แต่ละปีก็เป็นจำนวนมหาศาล หลายพันล้านบาทต่อปีครับ .. ทั้งที่จริงๆ แล้ว เค้าก็ปลูกกันไปหลายประเทศทั่วโลกแล้ว (ดูภาพประกอบ)

415002153 2949924338471514 1632462608670321338 n

ขอนำข้อมูลเรื่อง “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) และความปลอดภัยทางชีวภาพ” ของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สวทช. ในส่วนที่เกี่ยวกับ อาหารจากจีเอ็มโอ มาเผยแพร่ให้อ่านกันครับ

1. #จีเอ็มโอ(GMOs)คืออะไร มีอันตรายหรือไม่ ?

ตอบ จีเอ็มโอ (GMOs – Genetically Modified Organisms) คือสิ่งมีชีวิต (พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์) ที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม โดยใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม (เทคนิคการตัดต่อยีน) เพื่อให้มีคุณสมบัติหรือคุณลักษณะตามที่ต้องการอย่างจำเพาะเจาะจง เช่น ต้านทานแมลงศัตรูพืช ต้านทานโรค คงทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม หรือเพิ่มสารโภชนาการบางชนิด เช่น วิตามิน กรดไขมันชนิดที่มีประโยชน์

โดยปกติ ก่อนที่จะมีการนำจีเอ็มโอมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเพื่อการบริโภค หรือเพาะปลูกก็ตาม จะต้องมีการศึกษาทดลองจีเอ็มโอเหล่านั้นในหลายๆ ด้านเพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ เนื่องจากสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีความหลากหลายทางพันธุกรรม และมีบทบาทในสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันไป

และที่สำคัญคือก่อนที่จะนำจีเอ็มโอ หรือผลผลิตจากจีเอ็มโอ แต่ละชนิดออกไปสู่ผู้บริโภค จะต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยอาศัยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา ได้แก่ อณูชีวโมเลกุล โภชนาการ พิษวิทยา และการก่อภูมิแพ้ เป็นผู้ประเมินฯ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอเหล่านั้น มีความปลอดภัยเทียบเท่ากับสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันที่มีอยู่ในธรรมชาติ

ดังนั้น จึงถือได้ว่าผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอทุกชนิด ทั้งที่นำมาบริโภคเป็นอาหาร หรือนำมาเพาะปลูกเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์มีความปลอดภัย

—————–

4. #อาหารประเภทใดบ้างที่มีส่วนประกอบเป็นจีเอ็มโอ ?

ตอบ อาหารที่อาจมีส่วนประกอบของจีเอ็มโอ ที่มีอยู่ในปัจจุบันและพบได้ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น แคนาดา และอื่นๆ ได้แก่ อาหารประเภทถั่วเหลือง ข้าวโพด มันฝรั่ง มะเขือเทศ มะละกอ และผักบางชนิด เป็นต้น

ซึ่งอาหารเหล่านี้ ได้ผ่านขั้นตอนการประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเข้มงวดมาแล้ว ตามเกณฑ์และมาตรฐานสากล จึงสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้

—————-

9. #หากเราเปรียบเทียบการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของจีเอ็มโอกับอาหารทั่วไป ผลที่มีต่อร่างกายจะมีความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร ?

ตอบ อาหารที่มีจีเอ็มโอเป็นส่วนประกอบ จะต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยโดยใช้ “หลักการเทียบเท่า” (substantial equivalence) ตามมาตรฐานสากล CODEX และได้รับอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล ก่อนนำออกจำหน่ายแก่ผู้บริโภค

เช่น ในประเทศไทยกำหนดไว้ว่า ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปทุกประเภทต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นจีเอ็มโอ ซึ่งผ่านกระบวนการประเมินความปลอดภัย และได้รับการรับรองจาก อย. แล้วนั้น มีคุณสมบัติหรือลักษณะไม่แตกต่างจากอาหารชนิดเดียวกันที่ไม่มีส่วนประกอบของจีเอ็มโอ

ตามปกติแล้ว คุณค่าทางโภชนาการที่ได้รับจากการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของจีเอ็มโอและอาหารทั่วไปประเภทเดียวกันนั้น มีความเทียบเท่ากัน เว้นแต่กรณีที่มีการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการบางอยางเข้าไปในจีเอ็มโอที่เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดังนั้น อาหารที่มีจีเอ็มโอชนิดนั้นเป็นส่วนประกอบ ก็จะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าอาหารปกติ

—————-

10. #การบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นจีเอ็มโอ มีผลกระทบต่อร่างกายในทางลบหรือไม่ ?

ตอบ ตั้งแต่เริ่มมีผลิตภัณฑ์ที่ได้จากจีเอ็มโอชนิดแรก ออกวางจำหน่ายในท้องตลาดเมื่อปี พ.ศ. 2539 จนถึงขณะนี้ ไม่มีรายงานเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดขึ้นต่อร่างกายของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ที่บริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นจีเอ็มโอ ที่ได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยมาแล้ว

—————-

11. #ถ้ารับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นจีเอ็มโอในตอนนี้ จะเกิดผลเสียกับร่างกายในอนาคตหรือไม่ จะแน่ใจได้อย่างไร ?

ตอบ ตั้งแต่ที่มีการผลิตอาหารที่มีส่วนเป็นจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ และมีการบริโภคกันมาเกือบ 30 ปีแล้ว จนถึงขณะนี้ ไม่มีการรายงานว่า ผู้บริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นจีเอ็มโอเข้าไปแล้ว อาหารนั้นจะส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว เนื่องจากการพัฒนาพันธุ์พืชโดยใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมนั้นมีความจำเพาะสูง ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงจึงมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับวิธีพัฒนาพันธุ์แบบดั้งเดิม

นอกจากนี้แล้ว ข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่ได้จากการประเมินความปลอดภัยนั้น จะต้องพิสูจน์ได้ว่าสารพันธุกรรมและผลผลิตที่เกิดขึ้น มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วย

—————-

12. #จริงหรือไม่ที่อาหารที่มีส่วนประกอบเป็นจีเอ็มโอมีสารก่อให้เกิดมะเร็ง หรือทำให้เป็นมะเร็ง ?

ตอบ ไม่มีรายงานใดที่แสดงให้เห็นว่าอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นจีเอ็มโอ เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีตกค้าง สารพิษของจุลินทรีย์บางชนิด หรืออาหารที่ไหม้เกรียม จะมีโอกาสสูงที่ก่อให้เกิดมะเร็งในร่างกาย

—————-

13. #จริงหรือไม่ที่รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นจีเอ็มโอแล้วทำให้ร่างกายเปลี่ยนไปหรือพันธุกรรมของคนเปลี่ยนไป เพราะมีการเปรียบเปรยว่าอาหารจีเอ็มเป็นอาหารที่มีการตัดต่อพันธุกรรม เปรียบเสมือนอาหารผีดิบ ?

ตอบ แท้จริงแล้ว อาหารที่มีส่วนประกอบเป็นจีเอ็มโอไม่ใช่อาหารผีดิบแต่อย่างใด การที่มีการเรียกชื่ออาหารที่มีจีเอ็มโอเป็นส่วนประกอบว่าเป็นอาหารผีดิบนั้น เป็นเพราะความไม่เข้าใจถึงพื้นฐานทางวิชาการที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพัฒนาจีเอ็มโอ

ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ก็ไม่พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หรือข้อมูลทางการแพทย์ใดๆ ที่บ่งชี้ว่าการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นจีเอ็มโอ จะทำให้พันธุกรรมของมนุษย์เปลี่ยนไป

เนื่องจากในความเป็นจริง เมื่อมนุษย์บริโภคอาหารที่มีจีเอ็มโอเป็นส่วนประกอบ ส่วนประกอบทั้งหมดในอาหารจะถูกย่อยสลายโดยระบบย่อยอาหารของมนุษย์ เช่นเดียวกับอาหารที่ไม่มีจีเอ็มโอเป็นส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเป็นสภาพกรดในกระเพาะอาหาร หรือสภาพด่างในลำไส้ หลังจากนั้น ร่างกายจะนำสารอาหารทีได้จากการย่อยสลาย ไปใช้ประโยชน์

ข้อมูลจาก https://www.biotec.or.th/…/Facts%20about%20GMO-Public…

————–

ภาพประกอบ จาก https://www.reddit.com/media…