“ส้ม” เป็นผลไม้ที่เราต่างคุ้นเคยกันมายาวนาน เรียกขานจนติดปาก มีสารพัดส้มที่เราคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็น ส้มโอ ส้มเกลี้ยง ส้มเขียวหวาน ส้มจี๊ด ที่หลายคนอาจจะอยากรู้จักเรื่องราวความเป็นมาของคำว่า “ส้ม” ว่าเป็นเช่นไร
คำว่า “ส้ม ” นั้น อาจจะหมายถึงพืชในวงศ์ส้ม หรือที่ภาษาอังกฤษว่า Genus Citrus หรือบางคนอาจจะหมายรวมไปถึงพืชในวงศ์ที่เกี่ยวข้องกัน ที่เรียกกันว่า Citrus Relatives อย่างกลุ่ม มะขวิด มะไฟจีน หรือ ต้นแก้ว แต่ขอกล่าวถึงเฉพาะเรื่องของ”วงศ์ส้ม”เท่านั้น
“ส้ม”เป็นพืชที่พบว่ามีแหล่งดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชีย สำหรับประเทศไทยเรานั้นพบว่ามีเอกสารที่กล่าวถึงส้มมาตั้งแต่ 300 ปีที่แล้ว จากหนังสือ A New Historical Relation With The King of Siam ที่ มองซิเออร์ เดอลาลูแบร์ ได้รายงานไว้ มีทั้งส้มแก้ว ส้มโอ และส้มมะกรูด ส่วนกลุ่มของส้มเขียวหวานนั้นคาดว่าจะเกิดการแพร่กระจายพันธุ์มากับกลุ่มชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากกว่าศตวรรษมาแล้ว
พืชในสกุลส้มถูกจัดแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มส้มเกลี้ยง ที่แบ่งเป็นกลุ่มส้มเกลี้ยงรสหวานอย่าง ส้มเช้งและส้มเกลี้ยง และ กลุ่มที่มีรสเปรี้ยวและรสขม อย่างส้มซ่า เป็นต้น กลุ่มที่สองคือ ส้มเปลือกล่อน ที่เกษตรกรทั่วเอเชียนิยมปลูกกันมาก และจัดเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของเอเชีย ส้มในกลุ่มนี้ ได้แก่ ส้มเขียวหวานและส้มโชกุนที่คนไทยเรานิยมรับประทานกันนั่นเอง กลุ่มถัดมาคือกลุ่มส้มโอและเกรพฟรุต ซึ่งส้มโอก็จัดว่าเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทยเรา ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ขาวใหญ่ ทองดี หรือทับทิมสยาม และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่มีรสเปรี้ยวจัด อย่างมะนาวฝรั่ง และส้มมือ เป็นต้น
สำหรับการผลิตส้มในประเทศไทยเรานั้น จะเห็นว่ามีการผลิตส้มเขียวหวานเป็นส่วนใหญ่ โดยมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ในแถบจังหวัดแถบภาคกลางและภาคเหนือ พันธุ์ส้มที่ปลูกในบ้านเรานั้น มีหลายพันธุ์ บางพันธุ์เราอาจจะไม่คุ้นชื่อเพราะในปัจจุบันมีการปลูกน้อยมาก เช่น ส้มแหลมทอง ที่มีลำต้นและทรงพุ่มที่ใหญ่ เนื้อในผลหวานฉ่ำ แต่ให้ผลน้อย จึงทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพันธุ์อื่นที่ให้ผลผลิตดีกว่า แต่พันธุ์ที่เรารู้จักและคุ้นหูกันไม่น้อยคือ พันธุ์บางมด ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบบางมดตามชื่อ แต่ปัจจุบันแหล่งผลิตใหญ่จะอยู่แถบรังสิต นครนายก เป็นส้มที่มีเปลือกล่อนและบาง รสชาติของเนื้อผลหวานปนเปรี้ยวเล็กน้อย เนื้อผลฉ่ำน้ำ ชานนิ่ม เป็นที่นิยมของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจุบันนั้นมีการพัฒนาผลิตส้มเขียวหวานปลอดโรคเพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกมากขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรของพี่น้องเกษตรกรเพื่อให้อาชีพเกษตรกรมีความยั่งยืน