รู้จัก..สายพันธุ์มะพร้าวไทย

มะพร้าว เป็นพืชที่คนทั่วโลกยกย่องให้เป็นต้นไม้แห่งชีวิต (Tree of life) เพราะทุกส่วนของต้นมะพร้าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะทำเป็นของเล่น ข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน สร้างบ้านจากไม้มะพร้าว ซึ่งมะพร้าวนั้นเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีความเชื่อ วัฒนธรรม และพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวตั้งแต่เกิดจนตาย นำมาแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลาย ทั้งอาหารคาว-หวาน และยังมีประโยชน์มากมาย

ภาพในความทรงจำหลายคนอาจนึกถึงต้นมะพร้าวในลักษณะลำต้นสูง ใบเป็นแฉก ลูกกลมแข็ง มีสีเขียว มีน้ำหวานอยู่ภายใน แต่ในธรรมชาติของมะพร้าวนั้นมีหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ได้มีเพียงลูกกลม ๆ สีเขียว แบบที่ขายทั่วไปเท่านั้น

ลักษณะทั่วไปของมะพร้าว

มะพร้าวเป็นไม้ยืนต้น มีระบบรากฝอยขนาดเท่า ๆ กันแผ่กระจายออกรอบต้น ลำต้นเดียว ไม่แตกแขนง มีรอยแผลจากการหลุดร่วงของใบตลอดลำต้น สามารถคำนวณอายุของต้นมะพร้าวได้จากรอยแผลนี้ โดยใน 1 ปี มะพร้าวจะสร้างใบประมาณ 12 – 14 ใบ จึงทำให้สามารถคาดเดาอายุของต้นมะพร้าวได้ ใบเป็นใบประกอบ มีใบขนาดใหญ่และยาว ดอกออกเป็นช่อ (จั่น) มีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในช่อเดียวกัน โดยมะพร้าวที่ปลูกในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

มะพร้าว

1.มะพร้าวต้นสูง โดยปกติมะพร้าวต้นสูงจะผสมข้ามพันธุ์มีขนาดผลใหญ่ นิยมปลูกในทางอุตสาหกรรม เป็นมะพร้าวแก่ นิยมนำเนื้อมะพร้าว น้ำกะทิ กาบมะพร้าว กะลา มาแปรรูปในระบบอุตสาหกรรม เช่น น้ำมันมะพร้าว มะพร้าวแห้ง เป็นต้น แต่ละส่วนของลูกมะพร้าวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะนำมาทำเป็นกาบมะพร้าว มะพร้าวสับ ขุยมะพร้าว ถ่านจากกะลา เป็นต้น

2.มะพร้าวต้นเตี้ย มีการผสมเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียภายในต้นเดียวกันค่อนข้างสูง จึงไม่ค่อยกลายพันธุ์ มีขนาดผลเล็ก จะอยู่ในกลุ่มมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวน้ำหวาน และมะพร้าวตาล นิยมรับประทานผลสดหรือผลอ่อนประมาณ 6 เดือน เนื้อจะอ่อนนุ่ม มีรสหวาน บางสายพันธุ์มีกลิ่นหอม หรือนำมาแปรรูปน้ำตาลมะพร้าว เป็นต้น

มะพร้าวเป็นพืชที่มีเพียงสปีชีส์เดียว แต่มีความหลากหลายของสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์จะมีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกันไป มีทั้งสีเหลือง สีเขียว สีน้ำตาล รวมถึงขนาดรูปทรงของลูกมะพร้าวก็แตกต่างกัน

มะพร้าว 1
สายพันธุ์มะพร้าวไทย

สายพันธุ์มะพร้าวกะทิ

สายพันธุ์มะพร้าวกะทิหรือมะพร้าวแกง เป็นพันธุ์มะพร้าวที่มีเนื้อค่อนข้างหนา เนื้อแน่น ผลค่อนข้างใหญ่ เช่น

มะพร้าว 2

พันธุ์กะโหลก เป็นมะพร้าวพื้นเมืองที่มีผลขนาดใหญ่มากที่สุด เนื้อหนา พบบริเวณศูนย์วิจัยพืชสวน จังหวัดชุมพร

มะพร้าว 3

พันธุ์ปากจก เป็นมะพร้าวรูปร่างยาวรีเหมือนผลมะละกอ มีผลขนาดกลาง ข้อดีของมะพร้าวพันธุ์นี้ คือ มีเนื้อหนามาก บริเวณเนื้อสีขาวแทบจะไม่มีช่องให้อากาศอยู่เลย เหมาะสำหรับนำไปผสมพันธุ์เพื่อให้ได้มะพร้าวที่มีเนื้อหนาและน้ำมันสูง

มะพร้าว 4

พันธุ์มลายูสีเหลือง เป็นมะพร้าวที่ให้ผลผลิตเร็ว ผลมีสีเหลือง ต้นเตี้ย เนื้อหนา นิยมใช้เป็น แม่พันธุ์มะพร้าวลูกผสม เพราะรุ่นลูกเมื่อแทงยอดจะให้สีแตกต่างกันไป ใช้เป็นตัวบ่งบอกว่าเป็นลูกผสมหรือไม่ พบทางภาคใต้ และแถบประเทศ
มาเลเซีย

มะพร้าว 5

พันธุ์ทับสะแก ผลใหญ่ต้นสูง เนื้อหนา น้ำกะทิ มีกลิ่นหอม และเป็นพันธุ์พื้นเมืองของอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

มะพร้าว6

พันธุ์แม่น้ำ ขนาดผลค่อนข้างใหญ่ ให้จำนวนลูกดกมาก ต้นไม่สูงมากนัก อยู่แถบแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี

สายพันธุ์มะพร้าวอ่อน

สายพันธุ์มะพร้าวอ่อน เป็นสายพันธุ์ที่มีลูกค่อนข้างเล็ก เนื้อบาง น้ำมะพร้าวมีรสหวาน และมีกลิ่นหอมในบางพันธุ์ เช่น

มะพร้าว 7

พันธุ์น้ำหอม ผลมีขนาดเล็ก ก้นผลเรียงเป็นจีบ มีกลิ่นหอมใบเตย รสหวานอมเปรี้ยวนิยมนำมาทำมะพร้าวเผา แต่ไม่นิยมนำมาควั่น เพราะผลเล็กก้นแหลม ไม่สามารถตั้งได้

มะพร้าว 8

พันธุ์น้ำหวาน ผลมีขนาดใหญ่ ก้นมน นิยมนำมาทำมะพร้าวควั่นและวุ้นมะพร้าว มีความใกล้เคียงกับมะพร้าวน้ำหอม แต่จะไม่มีกลิ่น และมีความหวานมากกว่ามะพร้าวน้ำหอม

มะพร้าว 9

พันธุ์ทุ่งเคล็ด เป็นมะพร้าวพันธุ์เตี้ย ผลดก มีสีเขียว สายพันธุ์ดั้งเดิมเรียกตามชื่อตำบล ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

มะพร้าว 11

พันธุ์ไฟสีส้ม เป็นมะพร้าวแฟนซีผลดก มีขนาดใกล้เคียงกับมะพร้าวน้ำหอม ก้นเป็นจีบ พบในประเทศศรีลังกา แต่ไม่มีข้อมูลการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย เปลือกมีสีเหลืองทอง จัดอยู่ในประเภทมะพร้าวที่หายากอีกชนิดหนึ่ง

มะพร้าว 13

พันธุ์หมูสีเหลืองหอม เป็นมะพร้าวแฟนซีอีกชนิดหนึ่ง ผลมีสีเหลือง น้ำมะพร้าวหอมอร่อย เป็นพันธุ์พื้นเมืองทางภาคใต้ของประเทศไทย

มะพร้าว 15

พันธุ์ไฟผลเล็ก ผลอ่อนเมื่อผ่าออกจะมีสีชมพู หากได้ต้นมะพร้าวชนิดนี้มาปลูกให้สังเกตที่ปลายรากจะมีสีชมพูเช่นเดียวกัน

สายพันธุ์มะพร้าวอื่น ๆ

มะพร้าว 16

พันธุ์หมูสีหนู เป็นมะพร้าวต้นเตี้ย เก็บน้ำตาลได้ง่าย นิยมนำมาทำน้ำตาล และน้ำตาลจากดอกมะพร้าว ถือเป็นมะพร้าวที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง

มะพร้าว 20

พันธุ์ทะนาน เป็นมะพร้าวที่กะลาค่อนข้างหนาและแข็งแรง นิยมใช้ทำภาชนะตวงข้าว มาตราตวงโบราณ 20 ทะนาน เท่ากับ 1 ถัง

มะพร้าว 17

พันธุ์ซอ เป็นมะพร้าวที่กะลามีลักษณะพิเศษ คือ มีโหนกนูน 3 จุด เมื่อนำมาตัดและฉลุ จะมีความสวยงาม ปัจจุบันหาได้ยาก จึงมีมูลค่าสูงมาก

สายพันธุ์มะพร้าวหายาก

มะพร้าว 19

มะพร้าวตาเดียว โดยทั่วไปมะพร้าวจะมี 2 ตา เพื่อใช้สำหรับงอกต้นอ่อน แต่มะพร้าวตาเดียวมีเพียง 1 ตา และสามารถงอกได้ตามปกติ นิยมนำมาทำเครื่องรางของขลัง

มะพร้าวมหา

มะพร้าวมหาอุตม์ มะพร้าวชนิดนี้จะไม่มีตา ซึ่งหาได้ยากกว่ามะพร้าวตาเดียว เพราะไม่สามารถงอกออกมาเป็นต้นได้ จึงต้องขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ นิยมนำมาทำเครื่องรางของขลัง หายาก และมีราคาสูง

จะเห็นได้ว่ามะพร้าวไม่ได้มีเพียงแค่ลูกกลม ๆ สีเขียวที่รับประทานกันอยู่ในปัจจุบันเท่านั้นแต่มีหลากหลายทั้งขนาด รูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกัน มีสีสันหลากหลายกว่าที่ได้พบเห็นทั่วไป ทั้งพันธุ์มะพร้าวพื้นถิ่น พันธุ์มะพร้าวแฟนซี พันธุ์มะพร้าวหายาก ซึ่งถือเป็นมรดกทางพันธุกรรมที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน