กะหล่ำดอก หรือ ดอกกะหล่ำ เชื่อว่าคนไทยทุกคนต้องรู้จัก และอาจไม่ต้องบรรยายถึงรูปร่างหน้าตาของผักยอดนิยมชนิดนี้โดยละเอียดอีก แต่บางคนอาจสงสัยว่า ตกลงเราจะควรเรียกชื่อผักชนิดนี้ว่าอะไรกันแน่คำตอบก็คือถูกต้องทั้ง 2 ชื่อ เพราะไม่ว่าเราจะสั่ง กะหล่ำดอก หรือดอกกะหล่ำ จากแม่ค้าผักในตลาด หรือจากร้านอาหารไหนๆ ก็ตาม เราจะได้กินผักชนิดเดียวกันแน่นอน เพราะในความเข้าใจของคนทั่วไปแล้วก็คือผักชนิดเดียวกัน เพียงแต่ในเอกสารที่เป็นทางการ จะนิยมใช้คำว่า กะหล่ำดอก มากกว่านั่นเอง

กะหล่ำดอก เป็นผักสากลที่นิยมกันทั่วโลก ในต่างประเทศที่ปลูกกันมากๆ เช่น ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่นหรือไต้หวัน ได้มีการพัฒนาพันธุ์ กะหล่ำดอกกันอยู่เสมอ เพื่อทำให้มีผลผลิตสูงขึ้น สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดีขึ้น เพื่อขยายการเพาะปลูกและขายเมล็ดพันธุ์ให้แก่ประเทศอื่นๆ ได้มากขึ้น จนทุกวันนี้มีกะหล่ำดอก เป็นร้อยสายพันธุ์ ทั้งพันธุ์เบา พันธุ์หนัก หรือพันธุ์ที่ปลูกได้ในเขตร้อนชื้นทั่วโลก
ในอดีต กะหล่ำดอก ที่ปลูกในบ้านเรา จะปลูกได้ผลผลิตดี เฉพาะบนที่สูงทางภาคเหนือเท่านั้น เพราะมีแต่พันธุ์ที่เหมาะกับอากาศเย็น แม้ทุกวันนี้จะมีกะหล่ำดอกพันธุ์ใหม่ๆ ที่ทนอากาศร้อนได้มากขึ้น แพร่หลายเข้ามาก็ตาม แต่ผลผลิตที่ได้ก็จะสมบูรณ์น้อยกว่า การปลูกในพื้นที่อากาศเย็นอยู่ดี เรียกได้ว่ายิ่งเย็นยิ่งดี ส่วนสภาพดินที่เหมาะสม คือดินร่วนเหนียวที่อุ้มน้ำดี แต่ระบายน้ำได้ไม่ท่วมขัง
กะหล่ำดอกนั้นเรานิยมกินเฉพาะส่วนยอดของลำต้น ที่มีลักษณะเป็นก้อนสีขาวนวล อัดตัวกันแน่นจนแข็งกรอบ ไม่อวบน้ำ ที่เรานิยมเรียกส่วนนี้ว่าดอกกะหล่ำ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นส่วนที่ให้กำเนิดช่อดอก เพราะถ้าปล่อยให้เติบโตต่อไปโดยไม่เก็บเกี่ยว ส่วนนี้จะมีช่อดอกยืดออกมาและติดเมล็ด ดอกกะกล่ำโดยทั่วไปจะหนัก 0.5-1.50 กิโลกรัม เส้นผ่าศูนย์กลาง10-20 เซนติเมตร แตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ ส่วนอายุการเก็บเกี่ยวโดยประมาณ 90-120 วัน นับจากเริ่มเพาะเมล็ด แต่ก็ขึ้นอยู่กับพันธุ์อีกว่าจะเป็นพันธุ์เบา หรือ พันธุ์หนัก

กะหล่ำดอก เป็นผักที่มีความยากในการปลูก พื้นที่ปลูกควรมีอากาศเย็นในตอนกลางคืนและมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์เกษตรกรผู้ปลูกจะต้องรู้วิธีการปลูก วิธีบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง และต้องอาศัยความชำนาญโดยเฉพาะการดูแลเรื่องน้ำ เพราะเป็นพืชที่ต้องการน้ำตลอดในช่วงของการเติบโต แต่ถ้าให้น้ำมากเกินไปจนดินแฉะอาจเกิดโรคดอกเน่าได้ แต่ถ้าขาดน้ำก็จะชะงักการเจริญเติบโต กระทบต่อการสร้างดอก ทำให้ดอกไม่แน่น เสียน้ำหนัก และส่งผลทำให้กะหล่ำดอกขายได้ราคาไม่ดี เกษตรกรจึงต้องหมั่นดูแลเรื่องความชื้นของดินในแปลงปลูกอยู่เสมอ หากเราใส่ใจเต็มที่ ราคาที่เราขายได้ก็พุ่งสูงตามไปด้วย
ขั้นตอนการเพาะกล้ากะหล่ำดอกให้ต้นสมบูรณ์ สามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้
1. การเพาะกล้าในถาดหลุมเพาะกล้า จะเริ่มจากโรยวัสดุเพาะกล้า หรือขุยมะพร้าวให้ทั่วถาด จากนั้นทำการหยอดเมล็ดพันธุ์หลุมละเมล็ด ข้อดีคือ สามารถรู้จำนวนกล้าที่ทำการเพาะ ช่วยให้ประหยัดเมล็ดพันธุ์ และช่วยทำให้กล้าเจริญเติบโตสม่ำเสมอกัน
2. การเพาะกล้าในแปลงปลูก เริ่มจากการแบ่งพื้นที่เพาะกล้า จากนั้นทำการโรยขุยมะพร้าว ตามด้วยเมล็ดพันธุ์ และใช้ฟางคลุมเพื่อรักษาความชื้น วิธีนี้จะไม่ยุ่งยาก และช่วยลดขั้นตอนการเพาะกล้า แต่จะใช้จำนวนเมล็ดพันธุ์เยอะ
ในระยะเพาะกล้า แนะนำให้รดน้ำทุกวัน และเมื่อกล้าอายุ 10-15 วัน ให้บำรุงธาตุอาหารด้วยปุ๋ยอัตรา 15 กรัม ละลายในน้ำ 20 ลิตร โดยจะใส่ 2 ครั้ง ระยะห่าง 7-10 วัน ช่วยให้ต้นกล้าแข็งแรง โตไว และต้นมีความเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอ เมื่อกล้าอายุ 25-30 วันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะในการย้ายกล้าลงแปลงปลูก
หลังย้ายกล้าลงปลูก กะหล่ำดอกจะเจริญเติบโตเร็ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ การบำรุงธาตุอาหารเพื่อให้ต้นกะหล่ำดอกสมบูรณ์ ใบใหญ่ ดอกใหญ่ หน้าดอกแน่น กลมนูน น้ำหนักดี
“กะหล่ำดอก” เป็นพืชทางเลือกที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะปลูกเป็นพืชหลัก พืชหมุนเวียน หรือเลือกปลูกเป็นพืชเสริม หลังจากทำไร่-ทำนาเพื่อเสริมรายได้ โดยกะหล่ำดอกนั้น เป็นพืชที่มีตลาดรองรับ หากผลผลิตมีคุณภาพ น้ำหนักดี ก็ขายได้ราคา หัวใจสำคัญอยู่ที่การใส่ใจในทุกขั้นตอนการปลูก โดยเฉพาะการเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะกับฤดูกาล การจัดการแปลงปลูก และการบำรุงธาตุอาหาร เพื่อให้ดอกใหญ่ หน้าดอกแน่น กลมนูนสวย ได้น้ำหนัก และที่ขาดไม่ได้คือการเลือกปุ๋ยที่มีคุณภาพ