- ต้นมะเขือเปราะ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย จัดเป็นไม้พุ่ม ที่มีความสูงของต้นประมาณ 2-4 ฟุต มีอายุได้หลายฤดูกาล
- ใบมะเขือเปราะ ใบมีขนาดใหญ่ ออกเรียงตัวแบบสลับ
- ดอกมะเขือเปราะ ออกดอกเดี่ยว ดอกมีขนาดใหญ่ เป็นสีม่วงหรือสีขาว
- ผลมะเขือเปราะ ลักษณะของผลมีรูปร่างกลมแบนหรือเป็นรูปไข่ ผลเป็นสีขาวอมเขียว และอาจเป็นสีขาว สีเขียว สีเหลือง หรือสีม่วง ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ปลูก ผลเมื่อแก่แล้วจะมีสีเหลือง ส่วนเนื้อในผลเป็นสีเขียวเป็นเมือก มีรสขื่น
มะเขือเปราะ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะเขือขัยคำ มะเขือคางกบ มะเขือจาน มะเขือแจ้ มะเขือแจ้ดิน มะเขือดำ (ภาคเหนือ), มะเขือหืน (ภาคอีสาน), มะเขือขื่น มะเขือเสวย (ภาคกลาง), เขือพา เขือหิน (ภาคใต้), มั่งคอเก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หวงกั่วเชี๋ย หวงสุ่ยเชี๋ย (จีนกลาง) เป็นต้น
สรรพคุณของมะเขือเปราะ
- ที่ประเทศอินเดียจะใช้น้ำต้มจากผลมะเขือเปราะเป็นยารักษาโรคเบาหวาน
- ผลใช้เป็นยาลดไข้ (ผล)
- ใช้เป็นยาแก้ไข้พิษร้อน กระทุ้งพิษไข้ ใช้เป็นยาขับน้ำชื้น
- ผลตากแห้งนำมาบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งใช้ปรุงเป็นยาแก้ไอ ส่วนการแพทย์อายุรเวทของอินเดียจะใช้รากมะเขือเปราะเป็นยารักษาอาการไอ (ราก, ผล)
- รากใช้เป็นยาแก้หอบหืด หลอดลมอักเสบ (ราก)
- ใช้แก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้ราก 15 กรัม นำมาต้มเอาน้ำอมในปาก (ราก)
- ช่วยขับลม (ราก)[1]
- ช่วยในการย่อยอาหาร และช่วยในการขับถ่าย (ผล)[1]
- ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะอาหาร
- ผลมีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิ (ผล)
- รากมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)
- ช่วยกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ (ผล)
- ใช้เป็นยาแก้อัณฑะอักเสบ ด้วยการใช้ 15 กรัม, หญ้าแซ่ม้า 15 กรัม และต้นทิ้งถ่อน นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)
- ใบสดใช้ภายนอกนำมาตำพอกแก้พิษ แก้ฝีหนอง (ใบสด)
- ช่วยลดการอักเสบ (ผล)
- ช่วยแก้อาการปวดบวม ปวดหลัง ฟกช้ำดำเขียว
- ใช้เป็นยาช่วยขับลมชื้น แก้อาการปวดข้อเนื่องจากลมชื้นติดเกาะ แก้ไขข้ออักเสบ มือเท้าชา ด้วยการใช้ผลสดประมาณ 70-100 กรัม นำมาตุ๋นกับไตหมูรับประทาน (ผล)
ฤดูปลูก เพาะกล้าเดือนตุลาคม ย้ายปลูกเดือนพฤศจิกายน
การเพาะกล้ามะเขือเปราะ
1.ให้เตรียมดินละเอียดพร้อมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในอัตรา 2:1 และใส่ดินผสมดังกล่าวลงในถาด พลาสติกเพาะกล้า
2.ใช้เศษไม้เล็กๆ (ขนาดเท่าไม้จิ้มผลไม้) กดลงไปในดินที่บรรจุอยู่ในถาดพลาสติกเพาะกล้า ขนาดความลึก 0.5 ซม.
3.นำเมล็ดมะเขือเปราะหยอดลงในหลุมปลูก หลุมละ 1-2 เมล็ด
4.กลบดินผิวหน้าเมล็ดไปจากถาดพลาสติกเพาะกล้า
5.หลังเพาะนาน 7-10 วัน มะเขือเปราะเริ่มงอก หมั่นรดน้ำต้นกล้ามะเขือเปราะทุกวันๆ ละ 1-2 ครั้ง ในช่วงเข้าและเย็นจนกระทั่งต้นกล้ามะเขือเปราะมีอายุ 25-30 วัน จึงย้ายกล้ามะเขือเปราะลงปลูกในกระถางหรือแปลงปลูก
การเตรียมดินและการปลูก
ปลูกในแปลง
ควรเตรียมดินปลูก โดยใช้จอบขุดย่อยดิน หน้าดินลึก 15-20 ซม. และย่อยดินให้ละเอียด ใส่ปุ๋ยคอกหรือใส่ปุ๋ยหมัก หว่านและคลุกเคล้าให้เข้ากับดินในแปลง ขุดหลุมลึกประมาณ 15 – 20 ซม. ระยะปลูก 50 X 50 ซม. ย้ายกล้าที่มีอายุ 1 เดือน ลงหลุมปลูก กลบดินให้พูนสูง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
ปลูกในกระถาง
ผสมดินปลูกในกระถาง โดยใช้ดินร่วนละเอียดผสมกับปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 2:1 ย้ายกล้าที่มีอายุ 1 เดือน ลงกระถางปลูก กลบดินให้แน่น แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
การดูแลรักษา (เก็บผลสด)
1.รดน้ำทุกวัน และในช่วงการติดผลต้องระมัดระวังในน้ำอย่างสม่ำเสมอ
2.หลังย้ายปลูกแล้ว 7-10 วัน ให้ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตราต้นละ 1/4 ช้อนชา ควรโรยปุ๋ยห่างโคนต้นประมาณ 2-3 เซนติเมตรและรดน้ำทันที
3.ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตราต้นละ 1/4 ช้อนชาทุกๆ 15 วัน
4.หลังย้ายปลูกนาน 45-60 วัน มะเขือเปราะเริ่มทยอยผลผลิต สามารถเก็บผลผลิตไปบริโภคได้
5.หลังจากที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตมะเขือเปราะไปแล้วประมาณ 2 เดือน ควรตัดแต่งกิ่งออกบ้าง เพื่อทำให้ลำต้นมะเขือเปราะเจริญเติบโตแตกกิ่งก้านใหม่ที่มีความแข็งแรง จะให้ผลผลิตรุ่นใหม่ได้อีก
การดูแลรักษา (เก็บเมล็ดพันธุ์)
- ระยะเริ่มออกดอก ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่
- ระยะติดผลขนาดเล็ก ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่
- หลังเก็บเกี่ยวครั้งแรก ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่
- ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ เดือนละครั้ง ตลอดระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต
การเก็บเกี่ยว เมื่ออายุประมาณ 90 วัน หลังปลูก เริ่มเก็บเกี่ยว สังเกตสีผลมีสีเหลือง นำผลไปบ่มในร่ม 1 สัปดาห์จนผลนิ่ม เพื่อให้เมล็ดแก่เต็มที่ จึงนำไปทำความสะอาด เพื่อแยกเอาเมล็ดออกจากผล
การทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ ทุบผลให้แตก แยกเปลือกผลและเมล็ดออกจากกัน หมักเมล็ดไว้ 1 คืน แล้วล้างเมล็ดให้สะอาด และตากแดด 2-3 วัน จนเมล็ดแห้ง ตรวจสอบคุณภาพเมล็ด โดยการทดสอบความงอก เมล็ดต้องมีความงอกมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในภาชนะที่แห้งปราศจากความชื้น เก็บในโรงเก็บควบคุมอุณหภูมิ โดยมีการปรับอุณหภูมิ ให้อยู่ระหว่าง 4-15 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ ให้คงความงอกได้นานผลผลิตเมล็ดพันธุ์ ในพื้นที่ 1 ไร่ จะให้ผลผลิตประมาณ 80-100 กิโลกรัม