มารู้จัก “วานิลลา” พืชปลูกง่าย สร้างรายได้

“วานิลลา” เป็นพืชตระกูลกล้วยไม้ (Orchidaceae) ต้นเป็นเถาเลื้อย มีดอกเป็นช่อ เป็นพืชประเภทเครื่องเทศที่มีการใช้ประโยชน์โดยการนำมาหมักและบ่มให้เกิดกลิ่น นำไปสกัดสารที่ให้กลิ่นและปรุงแต่งรสอาหาร โดยเฉพาะไอศกรีม ช็อกโกแลต ขนมหวาและลูกกวาด นอกจากนี้ยังนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยาและน้ำหอม

ชาวสเปนเป็นผู้นำ “วานิลลา” เข้าไปในยุโรปในราวปี พ.ศ. 2224 เพื่อใช้ทำช็อกโกแลต คำว่า “วานิลลา” มาจากภาษาสเปนว่า “ไบย์นิยา” (vainilla ) แปลว่า ฝักเล็ก ๆ จากนั้นมีการนำ วานิลลา เข้าไปในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และอินโดนีเซีย ในราวปี พ.ศ. 2368 และปลูกในตาฮิติ ปี พ.ศ. 2391

1
วานิลลา

จากนั้น “วานิลลา”ก็กลายเป็นพีชปลูกของหลายประเทศ เช่น มาดากัสการ์ เม็กซิโก ตาฮิติ อินเดีย ศรีลังกา และอินโดนีเซีย

2010 12 20 114628
วานิลลา

สำหรับประเทศไทยไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้นำ “วานิลลา” เข้ามาปลูก สันนิษฐานว่าได้พันธุ์มาจากอินโดนีเซียและนำมาปลูกไว้ที่สถานีทดลองพืชสวนพริ้ว (ปัจจุบันคือศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี) ยังพบว่ามีการปลูกไว้ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาสัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2521 โดยปลูกให้เลื้อยเกาะเป็นร่มเงาในเรือนเพาะชำ

วานิลลา เริ่มปลูกและได้ผลดรั้งแรกที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรในปีพ.ศ. 2534 และมูลนิธิโครงการหลวง ได้ทดลองปลูกวานิลลา ในเชิงการค้าในปี พ.ศ. 2545 โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)ผลผลิตที่ได้นำมาบ่มและจำหน่ายเป็นสินค้าในนามมูลนิธิโครงการหลวงจนถึงปัจจุบัน

วานิลลา มีพันธุ์มากกว่า 200 พันธุ์ สำหรับประเทศไทยมี “วานิลลา “พื้นเมืองขึ้นกระจายอยู่ 5 สายพันธุ์คือ 1. พลูช้าง หรือตองผา Vanilla siamensis Rolfe ex Kownie 2. เอาะลบ Vanilla albida Blume 3. สามร้อยต่อใหญ่ หรือ งด Vanilla pilifera Holttum และ 4.เถางูเขียว Vanilla aphylla Blume. 5.เถากล้วยไม้ V. griffithii Rchb

ส่วนชนิดที่นิยมนำมาปลูกเพื่อเป็นการค้ามีอยู่ 3 ชนิด 1) V.planifolia Andrews ได้รับความนิยมนำมาปลูกเป็นการค้ามากที่สุด 2) V. pompona Schiede (วานิลลอน) ปลูกในอมริกากลางต้านทานโรคเน่าใด้ดีกว่าทุกพันธุ์ 3) V. tahitensis J.W. Moore (วานิลลาตาฮิติ )

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

“วานิลลา” เป็นพืชเถาเลื้อยอายุการให้ผลผลิตหลายปี เถาจะเลื้อยพันไปบนค้างหรือไม้ยืนต้นอื่น ๆ โดยธรรมชาติจะอาศัยรากเป็นตัวยึดเกาะลำต้น มีลักษณะเป็นเถายาวสีเขียว ทรงกระบอก อวบน้ำ ขนาดของลำต้นขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของเถา เมื่อโค้งงอจะหักง่าย ในธรรมชาติอาจเจริญเติบโตได้สูงถึง 10-15 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ปล้องความยาว 5-15 เซนติเมตร ลำต้นมีการแตกแขนงบ้างเล็กน้อย มีปากใบทำให้สามารถสังเคราะห์แสงได้ สำหรับการปลูกในเชิงการค้านิยมจัดเถาให้มีความสูงพอเหมาะเพื่อความสะดวกในการผสมเกสรและการเก็บเกี่ยว

ใบ มีลักษณะแบน อวบน้ำ รูปไข่ ปลายแหลม (Oblong-elliptic) จนถึงรูปหอก (Lanceolate) ปลายใบแหลม โคนใบค่อนข้างกลม ใบกว้าง 2-8 เซนติเมตร ความยาวใบ 8-25 เซนติเมตร เส้นใบขนานเส้นกลางใบ ก้านใบสั้น และมีร่องด้านบนใบ

ราก ระบบรากมี 2 ประเภท คือ รากอากาศหรือรากยึดเกาะ เป็นรากเดี่ยวเจริญออกจากลำต้นบริเวณด้านตรงข้ามกับใบ สีขาวอวบน้ำ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร ทำหน้าที่ยึดเกาะ และรากบริเวณโคนต้นจะอยู่บริเวณผิวดินในส่วนที่มีอินทรียวัตถุสูง

ช่อดอก เกิดจากตาซอกใบ เป็นช่อมักไม่แตกกิ่งสาขายาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร ไม่มีก้านช่อดอกย่อย มีดอก 4-15 ดอก/ช่อ ดอกไม้เป็นที่ดึงดูดของแมลงจึงช่วยผสมเกสร ฝักดอกจะบานตอนเช้าเวลาที่พร้อมจะผสมเกสร คือระหว่าง 08.00-10.00 ถ้ามีผู้ที่มีความชำนาญจะประสบความสำเร็จในการผสม 80-95 % ภายหลังผสมติดแล้ว รังไข่จะเจริญอย่างรวดเร็ว

ดอก สีเหลืองอมเขียวกลีบดอกหนา ดอกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เชนติเมตร ก้านดอกสั้นหรือแทบไม่มี กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ รูปร่างยาวรี ขนาดกว้าง 1.3 เซนติเมตร ยาว 5.5 เซนติเมตร กลีบดอกมี 3 กลีบ สองกลีบด้านบนมี ลักษณะคล้ายกลีบเลี้ยง อีกกลีบหนึ่งเปลี่ยนเป็นรูปปากแตร จะมีกลีบดอกสั้นกว่ากลีบดอกอื่น

ปลายปากแตร แยกเป็น 3 ส่วน และขอบหยักไม่สม่ำเสมอ มีเกสรตัวผู้ 1 อัน ประกอบด้วย อับละอองเกสรตัวผู้อยู่ 2 อัน

ส่วนของเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียจะแยกออกจากกันโดยมีเยื่อบาง ๆ กั้นอยู่ เรียกว่า โรสเทลลั่ม (Rosetellum) เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ละอองเกสรตัวผู้ไม่สามารถถ่ายลงไปผสมกับเกสรตัวเมียได้

ฝัก ลักษณะคล้ายทรงกระบอกแคบ โป่งตรงปลายฝัก มี 3 มุม ความยาวฝัก 9.5-14.5 เซนติเมตร ความกว้าง 1.2- 1.4 เซนติเมตร การเจริญเติบโตของฝักวานิลลาจะเป็นไป อย่างรวดเร็วภายใน 2 สัปดาห์ หลังการผสมติดจากนั้นการเจริญเติบโตจะค่อนข้างคงที่ ภายในแบ่งเป็น 3 ช่อง ด้านในมีเมล็ดสีดำอยู่จำนวนมาก เมื่อฝักแก่จะแตกตามความยาวฝัก

ที่มา ข้อมูล ศูนย์วิจัยพีชสวนจันทบุรี สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร