รู้ยัง.. การป้องกันและจัดการลดผลกระทบจาก”ใบอ่อนทุเรียน”

ใบอ่อน เป็นผู้ใช้อาหารหรือ Sink ที่มีประสิทธิภาพสูง มีความสามารถในการดึงดูดอาหารได้ดีกว่าดอก ผลอ่อน ดังนั้นเมื่อทุเรียนแตกใบอ่อนระยะดอกก็จะทำให้ดอกร่วง ถ้าแตกใบอ่อนระยะผลอ่อนก็จะทำให้ผลอ่อนร่วง ถ้าแตกใบอ่อนช่วงสัปดาห์ที่ 5 หลังดอกบานจะทำให้อาหารไม่พอที่ทุเรียนจะนำไปสร้างเนื้อและเมล็ดก็จะทำให้ผลทุเรียนมีรูปทรงบิดเบี้ยวได้ และถ้าแตกใบอ่อนในระยะที่ทุเรียนใกล้เก็บเกี่ยวก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของเนื้อทำให้สีเนื้อขาวไม่ขึ้นสี เนื้อแกน หรือเกิดอาการเต่าเผา (เต่าเผาเป็นอาการผิดปกติโดยส่วนปลายของเนื้อทุเรียนที่หุ้มเมล็ด อยู่เป็นสีน้ำตาลไหม้ เนื้อแกนเป็นอาการที่เนื้อทุเรียนแข็ง มีสีซีดผิดปกติ และมีรสขม อาจเป็นบางส่วนหรือเป็นทั้งผล )

316111410 476065044672715 2582603379333698959 n
ใบอ่อนทุเรียน

การป้องกันและลดผลกระทบจากการแตกใบอ่อนทุเรียน

1.ป้องกันการแตกใบอ่อนในระยะ”ดอกหัวกำไล”ด้วยการฉีดพ่นสารควบคุมการเจริญเติบโตที่ยับยั้งการทำงานของจิบเบอเรลลิน(เป็นฮอร์โมนพืชที่มีโครงสร้างโมเลกุลขนาดใหญ่ ควบคุมการเจริญเติบโตและมีอิทธิพลต่อกระบวนการทางพัฒนาการรวมทั้งการยืดของข้อ การงอก การพักตัว การออกดอก การแสดงเพศ การชักนำการสร้างเอนไซม์) เช่นสารแพคโคลบิวทราโซลหรือสารเมพิควอตคลอไรด์

2.หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง ในระยะทุเรียนออกดอกหรือติดผลอ่อน

3.จัดการให้ผู้สร้างอาหารและผู้ใช้อาหารในต้นทุเรียนให้มีความสมดุลกัน เช่น การไว้ดอกหรือผลปริมาณมากเพื่อถ่วงไม่ให้อาหารเหลือเฟือจนเกิดการแตกใบอ่อน หรือกรณีแตกใบอ่อนขึ้นมาแล้วก็ต้องตัดแต่งดอกหรือผลออกเพื่อลดการแข่งขันแย่งอาหาร เป็นต้น

ทั้งนี้แต่ละสวนต้องพิจารณาปรับใช้ตามความเหมาะสมของสภาพต้นทุเรียนของตนเอง

การจัดการใบอ่อน

การจัดการใบอ่อน มี 2 แนวทาง

1.ยับยั้งใบอ่อน เมื่อสังเกตทุเรียนเริ่มจะแตกใบอ่อนระยะ “หางปลา” ฉีดพ่นด้วยโปแตสเซี่ยมไนเตรต(13-0-46) อัตรา 150-300 กรัม/น้ำ 20 ลิตร กรณีเหมาะสำหรับต้นทุเรียนที่มีพื้นใบเดิมสมบูรณ์เพียงพอแล้ว

2.ควบคุมพัฒนาการของใบอ่อน กรณีที่ทุเรียนแตกใบอ่อนเลยระยะหางปลาไปแล้ว ไม่สามารถยับยั้งได้ให้เร่งใบอ่อนให้แก่เร็วเปลี่ยนสถานภาพจากผู้ใช้อาหารให้กลายเป็นผู้สร้างอาหารโดยเร็ว โดยการฉีดพ่นอาหารเสริมทางใบสูตรทางด่วนร่วมกับเมพิควอตคลอไรด์ (ชื่อการค้าเช่น เฟอร์ติพลัส ,ออก้าดี ) เมพิควอตคลอไรด์ถ้าใช้อัตราสูงจะยับยั้งการแตกใบอ่อนแต่ถ้าใช้อัตราต่ำ จะเร่งใบให้แก่เร็วขึ้น

สูตรทางด่วน ประกอบด้วย

น้ำตาลสำเร็จรูป อัตรา 20-30 ซีซี

ฮิวมิค อัตรา 20-30 ซีซี

ปุ๋ยเกล็ด สูตร 20-20-20 อัตรา 50 กรัม

ผสมกับยากันราและสารจับใบ ในน้ำ 20 ลิตร

ฉีดพ่นทางใบทุก 7-10 วันจนใบเริ่มแก่

การวางตำแหน่งผล.. สำคัญไฉน

และรู้หรือไม่ว่า…ทุเรียนแม้ว่าจะผ่านการผสมเกสรมาอย่างดีแต่เมื่อถึงเวลาติดผลก็ยังคงหลุดร่วงอีก มีหลายสาเหตุที่ทำให้ผลทุเรียนหลุดร่วง เช่น การเข้าทำลายของโรค การจัดการน้ำที่ไม่เหมาะสม และที่สำคัญคือการจัดการอาหารในต้นทุเรียน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 พวก คือ

1.ผู้ทำหน้าที่สร้างอาหารหรือ Source ได้แก่ ใบที่มีสีเขียวที่รับแสงแดดมาสังเคราะห์แสงสร้างอาหารซึ่งอาหารที่พืชสร้างคือสารประกอบพวกคาร์โบไฮเดรต

2.ผู้ทำหน้าที่ใช้อาหารหรือ Sink ได้แก่ ใบอ่อน ดอก ผล ราก

หลักการสำคัญ คือ จัดการให้ผู้สร้างอาหารและผู้ใช้อาหารมีความสมดุลกัน เช่น ถ้ามีดอกมากก็ต้องตัดแต่งดอก ถ้าติดผลมากเกินไปก็ต้องตัดแต่งผลออก ควบคุมการแตกใบอ่อนที่จะมาแข่งขันแย่งอาหารกับดอกและผล


316675617 476671844612035 6713025985470352649 n

ในภาพเป็นงานทดลองของศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี โดยทดลองผลทุเรียน 2 แบบ

แบบแรก (ตามรูปข้างบน )ไว้เป็นกลุ่มใหญ่เหมือนในภาพที่ปลายกิ่งและไว้ผลเดี่ยว 1 ผลที่โคนกิ่ง

แบบสอง (ตามรูปล่าง)สลับกับแบบแรก โดยไว้เป็นกลุ่มที่โคนกิ่งและไว้ผลเดี่ยวที่ปลายกิ่ง

316829593 476671917945361 2962224648082337509 n 1

ผลการทดลองพบว่าเมื่อเวลาผ่านไปประมาณสัปดาห์ที่ 5 หลังดอกบานผลเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่งเริ่มหลุดร่วง สัปดาห์ที่ 8 ร่วงหมดเลยแต่ผลเดี่ยวที่โคนกิ่งกลับโตอย่างรวดเร็ว ผลใหญ่เป็นไอ้เข้ ในขณะเดียวกันการไว้ผลแบบที่ 2 ปรากฎว่าผลทุเรียนอยู่ได้ทั้งหมด

จากการทดลองแสดงถึงการดึงดูดและเคลื่อนย้ายอาหารในต้นทุเรียน การไว้ผลแบบที่ 1 ผลที่เป็นกลุ่มปลายกิ่งมีจำนวนมาก ใบที่กิ่งนั้นสร้างอาหารไม่พอเลี้ยง จำเป็นต้องดึงดูดอาหารมาจากกิ่งอื่น แต่ระหว่างทางเกิดท่อรั่วผลเดี่ยวที่โคนกิ่งดักกินอาหารก่อน อาหารส่งมาไม่ถึงก็ร่วงหมดไป แต่ผลเดี่ยวได้อาหารเต็มที่โชคดีไป ส่วนแบบที่ 2 ที่ปลายกิ่งมีเพียงผลเดียวอาหารที่ใบของกิ่งนั้นสร้างเพียงพอต่อการเลี้ยงดู แถมยังมีเหลือแบ่งให้กลุ่มผลที่โคนกิ่งอีก และกลุ่มผลที่โคนกิ่งสามารถดึงอาหารมาจากกิ่งอื่นได้ จึงอยู่ได้ทั้งหมด

เราสามารถนำผลการทดลองนี้ไปปรับใช้ในการวางตำแหน่งผล การตัดแต่งผลได้

จดบันทึกวันดอกบานทำให้ทราบวันเก็บเกี่ยว

ดอกทุเรียนชุดใหญ่ของภาคตะวันออกเริ่มบานปลายเดือนธันวาคมจดจำกันง่ายๆคือวันคริสมาสต์-ปีใหม่แต่ปีนี้ทุเรียนออกดอกหลายรุ่น เพื่อมิให้ผิดพลาดขอให้ชาวสวนทุเรียนจดบันทึกวันดอกบาน ทำเครื่องหมายแยกรุ่นไว้ให้ชัดเจน อาจหาวัสดุเหลือใช้ในสวนเช่นกระป๋องกาแฟ กระป๋องเบียร์ ขวดน้ำพลาสติก กระสอบปุ๋ยตัดเป็นชิ้นๆ เขียนวันดอกบานด้วยปากกาเมจิกPermanant การจดบันทึกวันดอกบานจะทำให้เราทราบกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนได้คร่าวๆรู้ว่าทุเรียนจะเริ่มแก่เมื่อไหร่

ที่มา -สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6