เทคนิคเตรียมความพร้อมต้นมังคุดก่อนออกดอก

มังคุด จะออกดอกได้มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 ปัจจัยคือ

ความสมบูรณ์ของต้น หมายถึงมังคุดต้องมีอาหารสะสมที่เพียงพอสำหรับการออกดอก

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คือช่วงแล้งที่ทำให้ต้นมังคุดเกิดสภาวะเครียดไปกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนภายในต้นแล้วมีการสร้างตาดอกขึ้นมา

อายุตายอด คืออายุของใบคู่สุดท้ายที่แตกออกมาต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 10 สัปดาห์

ปัจจัยทั้ง 3 ตัวนี้เป็นปัจจัยร่วมที่มีความสัมพันธ์กัน เช่นถ้าต้นสมบูรณ์มากความต้องการช่วงแล้งเพื่อเกิดความเครียดก็สั้นลง หรือถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมและต้นสมบูรณ์พออายุตายอดก็ไม่จำเป็นต้องมากกว่า 10 สัปดาห์เป็นต้น

317327985 478890044390215 7144346842571184822 n
เตรียมความพร้อมต้นมังคุดก่อนออกดอก

นอกจากนี้เราควรจะต้องทราบอีกว่ามังคุดเป็นพืชที่มีพัฒนาการช้า การที่จะทำให้มังคุดออกดอกติดผลสม่ำเสมอทุกปีจะต้องมีการเตรียมความพร้อมของต้นมาอย่างต่อเนื่อง มิฉะนั้นจะเกิดปัญหามังคุดดกปีเว้นปี เป็นแบบนี้มาตลอด

ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมต้นมังคุดประกอบด้วยการตัดแต่งกิ่ง การใส่ปุ๋ย การกระตุ้นการแตกใบอ่อน และการดูแลรักษาใบให้สมบูรณ์ มีแต่ขั้นตอนดังนี้

การตัดแต่งกิ่งมังคุด

มังคุดเป็นพืชที่มีใบหนาทึบหากไม่ตัดแต่งกิ่งเลยแสงแดดจะไม่สามารถส่องเข้าไปในทรงพุ่มได้ ก็จะทำให้กิ่งแขนงในทรงพุ่มที่ไม่ได้รับแสงแดดค่อยๆแห้งตาย สุดท้ายจะเหลือแต่กิ่งแขนงที่อยู่บริเวณปลายกิ่ง ทำให้ปลายกิ่งหนักถ่วงกิ่งลง ส่งผลให้หลังกิ่งที่อยู่ติดลำต้นเดาะ แตก และหักในที่สุด ซึ่งเราจะเห็นว่ามังคุดต้นโบราณกิ่งล่างจะหายหมดถึงเวลาเก็บลูกต้องใช้บันไดพาดขึ้นไปแทนเพราะไม่ได้มีการตัดแต่งกิ่งควบคุมทรงพุ่มนั้นเอง

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเราจึงควรตัดแต่งกิ่งโดยเลือกตัดกิ่งที่อยู่ทิศตะวันออก-ตก เปิดช่องหน้าต่างให้แสงแดดส่องเข้าไปในทรงพุ่มได้ เมื่อได้รับแสงแดดก็จะกระตุ้นให้แตกกิ่งแขนงจำนวนมากให้เราเลือกเลี้ยงไว้ตามความเหมาะสม จากนั้นก็ให้ตัดกิ่งแขนงที่ปลายกิ่งออกเพื่อลดการถ่วงน้ำหนักที่ปลายกิ่ง และทำให้ใบมังคุดได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ กิ่งแขนงในทรงพุ่มที่เลี้ยงไว้สามารถออกดอกติดผลได้ในฤดูกาลนี้และมักมีคุณภาพผิวที่สวยกว่าผลที่โดนแดดนอกทรงพุ่ม

ส่วนของยอดที่สูงเกินความสามารถในการจัดการควบคุมคุณภาพ ควรตัดลงมาให้เราทำงานสะดวกทั้งการฉีดพ่นปุ๋ยยาและการเก็บเกี่ยว เราจะไม่ปล่อยให้มังคุดต้นสูงใหญ่แบบว่าเวลาจะเก็บผลต้องห่อข้าวขึ้นไปกินบนต้นด้วยและก็ไม่อยากได้ยินข่าวชาวสวนตกต้นมังคุดเข้าโรงพยาบาลบ่อย ๆ

ควบคุมการแตกใบของมังคุด

การทำสวนมังคุดเราจะต้องควบคุมวัฏจักรการแตกใบของมังคุดให้เป็นรุ่นเดียวกันทั้งสวน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและง่ายต่อการจัดการให้ออกดอกพร้อมกัน เราไม่ควรปล่อยให้มังคุดแตกใบอ่อนตามยถากรรม มังคุดเป็นพืชที่มีพัฒนาการช้าในรอบปีมักจะแตกใบอ่อนแค่ชุดเดียว ใบคู่สุดท้ายเมื่อมีอายุมากกว่า 14 สัปดาห์ก็จะแตกใบอ่อนชุดใหม่ ดังนั้นเราจะต้องจัดการให้มังคุดแตกใบอ่อนแล้วมีอายุใบมากกว่า10 สัปดาห์ให้ตรงพอดีกับช่วงฝนแล้ง

ภาคตะวันออก ฝนมักจะแล้งประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนหรือหลังจากวันลอยกระทงไปแล้ว ถ้านับย้อนลงไปให้ครบ 10 สัปดาห์แสดงว่าเราจะต้องบังคับมังคุดให้แตกใบอ่อนในช่วงกลางเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนกันยายน

ถ้ามังคุดแตกใบอ่อนเร็วเกินไป อายุใบมากกว่า 14 สัปดาห์แต่ยังมีฝนอยู่มังคุดก็จะแตกใบอ่อนชุดที่ 2 ทำให้เราต้องเสียเวลารอให้ใบชุดที่ 2 แก่ก่อนจึงจะบังคับออกดอกได้ และถ้าปล่อยให้แตกใบอ่อนช้าเกินไป ก็เช่นเดียวกันพอถึงช่วงแล้งแต่ใบยังอ่อนอยู่บังคับออกดอกไม่ได้ต้องรอใบแก่เหมือนกัน ทำให้พลาดโอกาสในการเก็บมังคุดขายต้นฤดูแพง ๆ

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าควรจะจัดการมังคุดให้แตกใบอ่อนช่วงไหน ก็ขอให้ปรับตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่มีช่วงแล้งต่างกัน ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องเร่งใส่ปุ๋ยเหมือนไม้ผลชนิดอื่น อาจจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อพื้นฟูและปรับปรุงโครงสร้างของดินใต้ทรงพุ่มไปก่อน ทั้งนี้เพราะก่อนที่เราจะเก็บมังคุดหมดต้นเราต้องเดินเวียนรอบต้นเกือบ 2เดือนทำให้ดินแน่น จึงควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์อย่างสม่ำเสมอ ส่วนปุ๋ยเคมีให้ใส่ก่อนบังคับมังคุดให้แตกใบอ่อนประมาณ 1เดือน เน้นใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง

ส่วนในเรื่องของ การกระตุ้นการแตกใบอ่อนของมังคุด ก็เป็นปัจจัยสำคัญ

ทำไมต้องกระตุ้นการแตกใบของมังคุดด้วย

1.เพื่อบังคับให้มังคุดแตกใบอ่อนในช่วงเวลาที่เราต้องการ

2.เป็นการสร้างวัฎจักรของการแตกใบให้มังคุดในสวนมีอายุใบคู่สุดท้ายใกล้เคียงกัน ทำให้ง่ายต่อการจัดการต่าง ๆ และง่ายต่อการกระตุ้นการออกดอกพร้อมกันทั้งสวน

3.ประหยัดต้นทุนในการดูแลรักษาใบอ่อน เพราะถ้ามังคุดในสวนแตกใบอ่อนไม่พร้อมกันเราอาจต้องฉีดพ่นเพื่อป้องกันกำจัดแมลงที่ทำลายใบอ่อนหลายครั้งทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

กระตุ้นการแตกใบอ่อนเมื่อไหร่ดี

มังคุดจะออกดอกต้องมีอายุใบไม่น้อยกว่า 10 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นให้นับย้อนลงมาจากช่วงที่เราคาดว่าฝนจะแล้งให้ได้ 10 สัปดาห์เช่นภาคตะวันออกฝนแล้งกลางเดือนพฤศจิกายนก็ควรกระตุ้นใบอ่อนช่วงปลายเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนกันยายน

การเตรียมต้นมังคุดก่อนการกระตุ้นการแตกใบอ่อน

หลายสวนกระตุ้นการแตกใบอ่อนแล้วไม่ได้ผลเท่าที่ควร เป็นเพราะไม่ได้ความพร้อมของต้นไว้ก่อน ดังนั้นก่อนกระตุ้นการแตกใบอ่อนควรจัดการต้นมังคุดให้พร้อมด้วยการตัดแต่งกิ่ง ตรวจเช็คสภาพดินแล้วปรับค่าความเป็นกรดด่างของดินให้เหมาะสม ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ และก่อนกระตุ้นใบอ่อนประมาณ 1เดือนให้ใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เช่น 15-0-0 15-7-18 เป็นต้น

วิธีการกระตุ้นการแตกใบอ่อนมังคุด

1.ถ้าภาพรวมของมังคุดในสวนมีอายุใบใกล้เคียงกันและใบแก่จัด ให้ใช้ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ถ้าเป็นปุ๋ยเกล็ดสำหรับพ่นทางใบใช้อัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือชนิดปุ๋ยเม็ดใช้อัตรา100-200 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทางใบให้ทั่วต้น

2.ถ้าภาพรวมของมังคุดในสวนมีอายุใบต่างกันมากให้ใช้ #ไทโอยูเรีย อัตรา 30-50 กรัม+น้ำตาลทางด่วนหรือฮิวมิค แอซิค ในอัตราเท่ากัน/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทางใบให้ทั่วต้น ต้องย้ำเตือนว่าถ้าใช้ไทโอยูเรียเพียงอย่างเดียวจะเกิดพิษทำให้ใบมังคุดร่วงได้ จึงต้องผสมน้ำตาลทางด่วนหรือฮิวมิค แอซิค ด้วยทุกครั้งเพื่อลดความเป็นพิษและไทโอยูเรีย เป็นสารกระตุ้นการแตกตาของพืช มีอันตรายต่อผู้ใช้จึงควรมีการป้องกันและฉีดพ่นให้ถูกวิธีเหมือนการใช้สารเคมีทั่วไป การใช้ไทโอยูเรียสามารถกระตุ้นให้มังคุดแตกใบอ่อนพร้อมกันภายใน1สัปดาห์

ที่มา สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6