การใช้เทคโนโลยีการผลิตมันเทศ พืชใช้น้ำน้อย

มันเทศ เป็นพืชหัวที่ปลูกง่าย ปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นดินเหนียว ดินร่วน ดินร่วนปนทราย และดินทรายริมแม่น้ำก็สามารถปลูกมันเทศได้ ดินที่เหมาะสมที่สุดเป็นดินร่วมปนทรายระบายน้ำดี มันเทศเป็นพืชที่ต้องการน้ำเพื่อการเจริญเติบโตค่อนข้างน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับข้าวหรือพืชไร่บางชนิด

มันเทศ ต้องการน้ำเฉพาะช่วงแรกของการเจริญเติบโตเท่านั้น ถ้ามันเทศมีเถาเลื้อยคลุมแปลงหรือเริ่มลงหัวแล้วถึงแม้มันเทศจะขาดน้ำบ้างก็อยู่ได้ ในประเทศไทยเรานั้นสามารถปลูกมันเทศได้ทั่วทุกภาคและปลูกได้ตลอดปี ขั้นตอนต่าง ๆในการใช้เทคโนโลยีการผลิตมันเทศหลังนาอย่างถูกต้องและเหมาะสม ประกอบด้วย 8 ขั้นตอน มีรายละเอียดดังนี้

319987138 870089664173768 7286904114682124105 n
การใช้เทคโนโลยีการผลิตมันเทศ

ขั้นตอนที่ 1 การเลือกพื้นที่และพันธุ์มันเทศ ( 3 – 4 สัปดาห์ก่อนปลูก )

การเลือกพื้นที่ มันเทศเป็นพืชหัวที่ขึ้นได้ในดินหลายชนิดไม่ว่าเป็นดินเหนียว ดินร่วน ดินร่วนปนทราย และดินทรายริมแม่น้ำ แต่การปลูกมันเทศในดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดีมันเทศจะมีการลงหัวได้ดีกว่าชนิดอื่น ตลอดทั้งสะดวกในการเตรียมแปลงและการเก็บเกี่ยวได้ง่ายอีกด้วย

นอกจากนี้ควรเลือกพื้นที่ปลูกมันเทศที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำจะสะดวกในการให้น้ำ เพราะมันเทศ ต้องการน้ำในการเจริญเติบโตในช่วงแรกพันธุ์ ในการจะเลือกปลูกมันเทศเกษตรกรควรพิจารณาความต้องการของตลาดแต่ละท้องถิ่น และมีการคัดเลือกปลูกมันเทศเฉพาะพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง หัวมีคุณภาพดีตรงกับความต้องการของตลาด และปรับตัวได้เหมาะสมแต่ละท้องถิ่น

319905588 1236281120285167 467073153603375830 n
การใช้เทคโนโลยีการผลิตมันเทศ

ขั้นตอนที่ 2 การเตรียมดินและเตรียมแปลงปลูก ( 2 – 3 สัปดาห์ก่อนปลูก )

การเตรียมดิน มันเทศเป็นพืชที่มีระบบรากอยู่ใต้ดินเป็นที่สะสมอาหารขยายตัวเป็นหัว ในการเตรียมแปลงนั้น ควรไถดะตากดิน 10-20 วัน เพื่อทำลายวัชพืช แล้วจึงไถแปร หรือไถพรวน ยกแปลงปลูกมันเทศให้สูงขึ้นเป็นรูปสามเหลี่ยม สูง 45-50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว 100 เซนติเมตร

ขั้นตอนที่ 3 การเตรียมท่อนพันธุ์ ( 1 สัปดาห์ก่อนปลูก )

การคัดเลือกท่อนพันธุ์มันเทศ การปลูกมันเทศโดยทั่ว ๆ ไป จะนิยมปลูกโดยใช้ส่วนลำต้นที่เป็นเถาเลื้อยไปตามดิน มาตัดเป็นท่อน ๆ ยาว 25-40 เซนติเมตร แตกต่างกันแต่ละท้องถิ่น แต่การปลูกโดยใช้ส่วนเถาช่วงยอดยาว 30 เซนติเมตร มันเทศจะมีการลงหัวได้ดีกว่าส่วนอื่น ๆ ที่ต่อจากช่วงยอดมาหาโคนต้นเรื่อย ๆ พบว่าการปลูกมันเทศด้วยท่อนพันธุ์ส่วนยอด จะมีการเจริญเติบโตและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วกว่าส่วนอื่น ๆ

และที่สำคัญเถาส่วนยอดของมันเทศจะมีไข่หรือตัวอ่อนของแมลง (ด้วงงวงมันเทศ) อยู่น้อยกว่าส่วนโคนต้น ฉะนั้น ในการปลูกมันเทศเพื่อให้ผลผลิตสูง หัวมีคุณภาพดี ควรมีการคัดเลือกท่อนพันธุ์เฉพาะส่วนยอดยาว 30 เซนติเมตร มาปลูกเท่านั้น การเตรียมยอดพันธุ์มันเทศ หลังจากตัดยอดมันเทศมาใหม่ ๆ ไม่ควรจะนำยอดมันเทศเหล่านั้นไปปลูกลงแปลงทันที เพราะว่ายอดพันธุ์มันเทศที่ตัดมาใหม่นั้น ยังไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของแปลงปลูกเนื่องจากยังไม่มีราก จะมีผลทำให้มันเทศชะงักการเจริญเติบโต และตั้งตัวลงหัวได้ช้า ฉะนั้นเกษตรกรผู้ปลูกมันเทศเป็นการค้าควรจะนำยอดพันธุ์มันเทศดังกล่าวมาเก็บรวบรวมกันไว้ในที่ร่มเงาหรือใต้ต้นไม้ รดน้ำให้ความชื้น 1-2 วัน พอสังเกตเห็นมีรากงอกตามข้อก็นำยอดพันธุ์มันเทศทั้งหมดไปปลูกลงแปลงได้ มันเทศจะมีการเจริญเติบโตและลงหัวได้เร็วขึ้น ในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้ท่อนพันธุ์ประมาณ 5,400 – 6,670 ยอด ทั้งนี้ขึ้นกับระยะปลูก ถ้าปลูกถี่จะใช้ยอดพันธุ์มาก

ขั้นตอนที่ 4 การจัดการในการปลูก ( สัปดาห์ที่ปลูก )

การปลูก ปลูกมันเทศบนสันร่องที่เตรียมไว้จำนวน 1 ต้นต่อหลุม ใช้ระยะปลูก ระหว่างต้น 30 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100 เซนติเมตร จะใช้ยอดพันธุ์ประมาณ 5,400 ยอดต่อไร่

การให้น้ำ ในกรณีที่ดินมีความชื้นน้อยควรมีการให้น้ำทันทีหลังปลูก

ขั้นตอนที่ 5 การจัดการในระยะการเจริญเติบโต ( 1 – 4 สัปดาห์หลังปลูก )

การใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่ออายุได้ 1 เดือน โดยวิธีการโรยบนสันร่องก่อนการให้น้ำ

การให้น้ำ ในระยะแรกของการปลูกมันเทศ ควรให้น้ำ 1 ครั้งเมื่ออายุได้ 3 – 4 สัปดาห์หลังปลูก

การตลบเถามันเทศ โดยปกติเถามันเทศจะมีการเลื้อยไปตามดินคลุมแปลง ในกรณีปลูกมันเทศโดยอาศัยความชื้นในดินไม่ควรมีการตลบเถามันเทศขึ้นหลังแปลง เพราะจะทำให้มันเทศชะงักการเจริญเติบโต แปลงปลูกมันเทศแห้งเร็ว มันเทศลงหัวได้น้อย ส่วนการปลูกมันเทศที่มีการให้น้ำควรมีการตลบเถาขึ้นหลังแปลง เพื่อให้มันเทศมีการลงหัวได้ดีขึ้น

การกำจัดวัชพืช ในระยะนี้ควรมีการกำจัดวัชพืชในแปลงมันเทศโดยใช้แรงงานคน 1-2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณวัชพืช

การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช โรคมันเทศที่สำคัญ ในระยะนี้ได้แก่ โรคหัวเน่า โรคใบจุด และโรคยอดหงิกและใบด่าง แมลงศัตรูมันเทศที่สำคัญ ในระยะนี้ได้แก่ ด้วงงวงมันเทศ เพลี้ยอ่อน หนอนเจาะเถามันเทศ หนอนกระทู้ผัก ต้องคอยหมั่นสำรวจแปลง

ขั้นตอนที่ 6 การจัดการในระยะสร้างหัว ( 5 – 12 สัปดาห์หลังปลูก )

การใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 50-80 กิโลกรัมต่อไร่ โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ที่อายุ 2 เดือน และ 3 เดือน โดยวิธีการโรยบนสันร่องก่อนการให้น้ำ การให้น้ำ ควรให้น้ำมันเทศอย่างสม่ำเสมอ เดือนละ 1 ครั้ง หลังการใส่ปุ๋ยการกำจัดวัชพืช ในระยะนี้ควรมีการกำจัดวัชพืชในแปลงมันเทศโดยใช้แรงงานคน 1-2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณวัชพืช

319856589 1555846461496066 28095020705809616 n
การใช้เทคโนโลยีการผลิตมันเทศ

ขั้นตอนที่ 7 การจัดการในระยะเก็บเกี่ยว ( 13 สัปดาห์หลังปลูกเป็นต้นไป )อายุเก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยวมันเทศจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับพันธุ์ และสภาพแวดล้อม โดยทั่วไปจะเก็บเกี่ยวมันเทศเมื่ออายุได้ 90-150 วัน หลังจากการปลูก ถ้าไม่ทราบอายุการเก็บเกี่ยวของมันเทศแต่ละพันธุ์อาจใช้วิธีการสังเกตดูที่ผิวดินบริเวณโคนต้น ถ้ามีรอยดินแตกแยกและมองเห็นหัวมันเทศแสดงว่ามันเทศเริ่มแก่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ หรือจะใช้วิธีทดลองขุดดู 2-3 หลุม สังเกตการลงหัวของมันเทศมีมากน้อยเพียงใด หัวเล็กหรือใหญ่ มีแมลงทำลายเสียหายหรือไม่ หรือจะใช้มีดตัดส่วนหัวดูยางที่ไหลออกมาจากหัว ถ้ามียางน้อยไหลช้า แห้งเร็ว เริ่มขุดเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

319903902 887648102261156 6068056159303396005 n
การใช้เทคโนโลยีการผลิตมันเทศ

วิธีการเก็บเกี่ยว เครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ขุดเก็บเกี่ยวมันเทศโดยทั่วไป จะใช้จอบขุดชนิดสองเขา หรือการใช้รถแทรกเตอร์ ซึ่งมีทั้งรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ และรถไถเดินตามปรับจานไถหรือปรับไถหัวหมูให้สามารถขุดมันเทศได้ ในปัจจุบันนี้เกษตรกรที่ปลูกมันเทศเป็นการค้า จะนิยมใช้รถแทรกเตอร์ขนาดเล็กติดไถหัวหมูเก็บเกี่ยวมันเทศมากกว่าวิธีอื่นๆ

320034807 858550832009566 7887111563221620060 n
การใช้เทคโนโลยีการผลิตมันเทศ

การขุดเก็บเกี่ยวมันเทศแต่ละครั้ง ควรเก็บเกี่ยวด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้หัวมันเทศบอบช้ำ มีบาดแผล ไม่ควรทิ้งหัวมันเทศอยู่ในแปลงกลางแจ้งที่มีแสงแดดมากเป็นเวลานาน มันเทศอาจจะเน่าเสียหายได้ง่าย หลังจากนั้นควรนำหัวมันเทศที่ขุดได้ทั้งหมดไปเก็บไว้ในที่ร่มเงามีการระบายอากาศได้ดี ไม่ควรกองมันเทศสุมกันเป็นจำนวนมาก และก่อนที่จะนำมันเทศไปจำหน่าย ควรมีการคัดแยกหัวเน่า แมลงทำลายและตัดแต่งหัวส่วนที่ได้รับความเสียหาย ล้างน้ำทำความสะอาด บรรจุถุงพลาสติกชนิดเจาะรูระบายอากาศ ถุงละ 10 กิโลกรัม

ขั้นตอนที่ 8 การแปรรูปผลผลิต

มันเทศสามารถนำมาแปรรูปได้หลากหลายชนิด เช่น

1. แปรรูปเป็นอาหาร เช่น มันต้ม มันนึ่ง มันฉาบ มันทอด

2. เถามันเทศสามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ เช่น โค กระบือ

3. แปรรูปสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม สามารถแปรรูปได้หลายชนิด เช่น ขนมขบเคี้ยว แป้งมันเทศ เส้นก๋วยเตี๋ยว และแอลกอฮอล์