กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชที่ชื่นชอบอากาศร้อนชื้น นิยมปลูกในภาคกลางของประเทศไทย เพราะเป็นพืชที่ให้ผลดีในสภาพอากาศร้อนชื้น อีกทั้งยังทนต่อโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากพืชบางชนิด ปลูกง่ายและดูแลไม่ยาก แถมยังเป็นที่ต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย เพราะสามารถใช้ในการแปรรูปเป็นกระเจี๊ยบผงที่ใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร ทำให้รสชาติของอาหารดีขึ้น จึงทำให้เป็นพืชที่สร้างรายได้ เป็นจำนวนมาก เพราะสามารถให้ผลฝักที่ดกได้ตลอดชั่วอายุของต้น
กระเจี๊ยบเขียว เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุเพียง 1 ปี มีลำต้นสีเขียวอ่อน เล็กและมีขนขึ้น บริเวณลำต้น มีสีน้ำตาลแต่งแต้มบริเวณลำต้น ใบของกระเจี๊ยบเขียวมีลักษณะคล้ายใบบัวแต่ขอบใบจะหยักเล็กน้อยและมีเส้นของใบชัดเจนกว่า ดอกของกระเจี๊ยบเขียวนั้นจะมีดอกสีเหลืองอมขาวและต้นกระเจี๊ยบเขียวยังให้ฝักที่มีสีเขียว โดยผลฝักนั้นจะมีหัวเหลี่ยมรอบ ๆ ผลประมาณสี่เหลี่ยมถึงเก้าเหลี่ยมแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ที่นำมาปลูก
โดย กระเจี๊ยบเขียว ที่นำมาปลูกในไทยนั้นได้แก่พันธุ์ Hit 9701 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่อยู่ในประเทศอินเดียและทนต่อโรคได้ดี ทั้งเนื้อฝักยังมีเส้นใยน้อยและติดผลง่าย ให้ผลผลิตได้เยอะอีกด้วย และยังมีพันธุ์ที่ไทยได้ปรับปรุงจนได้พันธุ์ที่เหมาะสมที่จะปลูกในประเทศไทยที่มีลักษณะสีเขียวสดและทนต่อโรคได้ดี ให้ฝักจำนวนเยอะแล้ว ก็ยังมีคุณภาพและน้ำหนักดีอีกด้วย
แต่ต้องระวังศัตรูสำคัญของ กระเจี๊ยบเขียว นั่นคือ เพลี้ยจักจั่นฝ้าย โดยเพลี้ยจักจั่นฝ้าย จะเข้าทำลายในช่วงต้นพืชยังเล็ก ทำให้ต้นไม่เจริญเติบโตหรือตายได้ โดยทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ มีผลทำให้ใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและงอลง ใบจะเหี่ยวแห้งและแห้งกรอบในที่สุด ดังนั้นในช่วงที่พืชยังเล็กควรหมั่นตรวจนับแมลง หากพบตัวอ่อนเพลี้ยจักจั่นฝ้ายเฉลี่ยมากกว่า ๑ ตัวต่อใบ ควรทำการป้องกันกำจัด
วิธีป้องกันกำจัด
ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด ได้แก่ สารฟิโพรนิล ๕% เอสซี อัตรา ๒๕ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ไทอะมีทอกแซม ๒๕% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๕ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน ๑๐% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๑๕ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด ๗๐% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๕ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ โคลไทอะนิดิน ๑๖% เอสจี อัตรา ๑๕ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร เริ่มพ่นสารเมื่อพบตัวอ่อนเพลี้ยจักจั่นฝ้ายเฉลี่ยมากกว่า ๑ ตัวต่อใบ
และต้องระวังโรคระบาด คือโรคเส้นใบเหลือง ซึ่งจะทำให้ กระเจี๊ยบเขียว ใบด่าง เส้นใบมีสีเหลือง ยอดเหลือง ใบและยอดม้วนงอ ต้นเตี้ยแคระแกร็น ฝักมีสีเหลือง ติดฝักน้อยและฝักไม่สมบูรณ์
วิธีป้องกันกำจัด
๑. ใช้กระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ต้านทานโรค เช่น พันธุ์ OK 9701 และพันธุ์พิจิตร ๑
๒. เชื้อไวรัสสาเหตุโรคพืช ยังไม่มีสารป้องกันกำจัดโดยตรง แต่ป้องกันการระบาดของโรคได้โดยกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ ซึ่งเป็นพาหะนำโรค โดยใช้สารฆ่าแมลง บูโพรเฟซิน ๒๕% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๑๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด ๑๐% เอสแอล อัตรา ๒๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน ๒๐% อีซี อัตรา ๓ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
๓. ไม่ปลูกพืชที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อ ได้แก่ พืชตระกูลแตง เช่น แตงกวา ฟักทอง มะระ และบวบ ตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วแขก ตระกูลมะเขือ เช่น มะเขือเทศ มะเขือเปราะ มะเขือยาว พริก และยาสูบ และพืชชนิดอื่น ได้แก่ งา กะเพราขาว ตำลึง ฝ้าย หงอนไก่ บานไม่รู้โรย และทานตะวัน ใกล้แปลงปลูกกระเจี๊ยบเขียว
๔. กำจัดวัชพืชในแปลง และรอบแปลงปลูก โดยเฉพาะวัชพืชที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อไวรัสสาเหตุโรค เช่น สาบแร้งสาบกา กะเม็ง หญ้าขน ลำโพง โทงเทง และขี้กาขาว เพื่อลดแหล่งสะสมเชื้อไวรัสและแมลงพาหะ
๕. ตรวจแปลงปลูกสม่ำเสมอ ถ้าพบต้นที่เป็นโรค ถอนแล้วนำไปทำลายนอกแปลงปลูก
๖. แปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก และไม่ปลูกกระเจี๊ยบเขียวซ้ำ ควรปลูกพืชหมุนเวียนชนิดอื่น ที่ไม่ใช่พืชอาศัยของเชื้อไวรัส