ระวัง “หนอนกระทู้ผัก”-“ด้วงหมัดผัก” บุกพืชผักตระกูลกะหล่ำ

จากสภาพอากาศร้อนในตอนกลางวัน มีฝนตกและลมแรงในบางพื้นที่ เกษตรกรที่ปลูกพืชผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี กวางตุ้ง ผักกาดขาว และผักกาดหอม ขอให้เฝ้าระวังการเข้าทำลายของ “ด้วงหมัดผัก”

โดยตัวอ่อน “ด้วงหมัดผัก”จะกัดกิน หรือชอนไชเข้าไปกินอยู่บริเวณโคนต้นหรือรากของผัก ทำให้พืชผักเหี่ยวเฉา และไม่เจริญเติบโต ถ้ารากถูกทำลายมาก ๆ อาจจะทำให้พืชผักตายได้ โดยตัวเต็มวัยชอบกัดผิวด้านล่างของใบทำให้ใบเป็นรูพรุนและอาจกัดกินผิวลำต้น และกลีบดอกด้วย

278852440 319636360315585 3611086793884891934 n

วิธีลดการระบาดของ “ด้วงหมัดผัก” ให้ใช้วิธีเขตกรรม โดยไถตากดินไว้เป็นเวลานานพอสมควร เพื่อทำลายตัวอ่อน และดักแด้ที่อาศัยอยู่ในดิน ใช้ไส้เดือนฝอย Steinernema carpocapsae อัตรา 50 ล้านตัวต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นหรือราดลงดินก่อนปลูกหลังการให้น้ำและพ่นทุก 7 วันหลังปลูก

ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด เช่น ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โทลเฟนไพแรด 16% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรฟีโนฟอส 50% EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออะซีทามิพริด 20% SP อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล 85% WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

นอกจาก “ด้วงหมัดผัก”แล้วยังต้องเฝ้าระวังการเข้าทำลายของ “หนอนกระทู้ผัก” โดยหนอนระยะแรกเข้าทำลายเป็นกลุ่ม ในระยะต่อมาจะทำลายรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเป็นหนอนที่มีขนาดใหญ่ สามารถกัดกินใบ ก้าน หรือเข้าทำลายในหัวกะหล่ำ การเข้าทำลายมักเกิดเป็นหย่อม ๆ ตามจุดที่ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ และมักแพร่ระบาดได้รวดเร็วตลอดปี

การป้องกันกำจัด ให้ใช้วิธีเขตกรรม เช่น การไถตากดิน และการเก็บเศษซากพืชอาหาร เพื่อกำจัดดักแด้และลดแหล่งอาหารในการขยายพันธุ์ของ “หนอนกระทู้ผัก” และใช้วิธีกลโดยเก็บกลุ่มไข่และหนอนทำลายซึ่งจะช่วยลดการระบาดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ใช้เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส Bacillus thuringiensis (Bt) อัตรา 40-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (WDG, WG, WP) หรือ 60–100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (SC) พ่นทุก 3-5 วัน เมื่อพบการระบาด

หากมีการระบาดรุนแรงให้พ่นติดต่อกัน 2 ครั้ง หลังจากนั้นพ่นทุก 5 วัน จนกระทั่งหนอนลดปริมาณการระบาดใช้ชีวภัณฑ์เอ็นพีวี “หนอนกระทู้ผัก” อัตรา 40-50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7-10 วัน ควรพ่นเมื่อหนอนมีขนาดเล็กจะให้ผลในการควบคุมได้รวดเร็วกรณีหนอนระบาดรุนแรงพ่นอัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ติดต่อกัน 2 ครั้ง ทุก 4 วัน

หากมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีให้ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพตามคำแนะนำ เช่น คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อินดอกซาคาร์บ 15% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 6 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบการระบาด