ขยายต่อโครงการ..ธ.ก.ส.เติมทุน 3,000 ล้าน หนุน “เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง” ลดต้นทุนการผลิต

เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เฮ ธ.ก.ส. เติมทุน 3,000 ล้านบาท หนุน “เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง “เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและแข่งขันในตลาดผ่านโครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเล รายละไม่เกิน 3 ล้านบาท ชำระคืนภายใน 10 ปี ดอกเบี้ย MRR / MLR ตามประเภทลูกค้า เพื่อเสริมสภาพคล่องในการลงทุน ทั้งการผลิตและส่งออกกุ้งให้กับเกษตรกร ช่วยลดปัญหาการก่อหนี้นอกระบบที่เป็นภาระหนัก

รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายสมเกียรติ กิมาวหา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เนื่องด้วยต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งด้านอาหาร พลังงานและปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคใน “กุ้งทะเล” ทำให้การผลิตและส่งออกกุ้ง ทั้งขนาดและปริมาณไม่เป็นไปตามความต้องการของตลาดจากปัญหาดังกล่าว

S 351690757 724x1024 1
ขยายโครงการ เติมเงินเพิ่ม 3,000 ล้าน หนุนเกษตรกรเลี้ยงกุ้ง

รัฐบาลจึงวางนโยบายในการแก้ไขปัญหาในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมกุ้งทะเลอย่างยั่งยืนด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อหน่วยและลดต้นทุนการผลิตด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับปรุงโครงสร้างฟาร์ม เป็นต้น ธ.ก.ส. จึงได้ขยายโครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ

การแข่งขันในอุตสาหกรรมกุ้งทะเลอย่างยั่งยืน ปี 2564 (เพิ่มเติม) เพื่อสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งให้เข้าถึงเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ป้องกันการก่อหนี้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงอย่างไม่เป็นธรรม อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบอาชีพและการแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตอื่น

สำหรับเงื่อนไขผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นเกษตรกรหรือนิติบุคคลผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลในพื้นที่จังหวัดที่เหมาะสมในการเลี้ยงกุ้งทะเล 35 จังหวัด

โดยการลงทุนลดต้นทุนการผลิตเช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์(Solar Cell) ระบบควบคุมเครื่องเติมอากาศอัจฉริยะ(Smart Energy) การติดตั้งอุปกรณ์ช่วยประหยัดพลังงานสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเลหรือการปรับปรุงโครงสร้างฟาร์มหรือบ่อเลี้ยงกุ้งทะเล โดยจำกัดวงเงินรายละไม่เกิน 3 ล้านบาท วงเงินรวม 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้กู้รายคน MRR ต่อปี และสำหรับผู้กู้นิติบุคคล MLR ต่อปีโดยเรียกเก็บจากผู้กู้ MRR – 3 หรือ MLR – 3 ตามประเภทของผู้กู้(ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.50 ต่อปี และ MLR เท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี)

และกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชดเชยดอกเบี้ยให้ธนาคารในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี กำหนดการชำระคืนภายใน 10 ปีนับจากวันที่ทำสัญญา ระยะเวลาจ่ายสินเชื่อตั้งแต่บัดนี้ถึง 20 พฤษภาคม 2569

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว สนับสนุนสินเชื่อไปแล้วกว่า 12 ล้านบาท สำหรับลูกค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป