กลุ่มชุมนุมสหกรณ์โคนมฯยื่นหนังสือที่ปรึกษาประธานสภาฯ ขอเร่งรัดปรับขึ้น”ราคาน้ำนมดิบ”

นายแพทย์สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจากกลุ่มชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เพื่อขอให้ประสานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทย โดยนายสมพงษ์ พัวพานเพชร ประธานชมรมสหกรณ์โคนมภาคกลาง จำกัด กล่าวว่า สืบเนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ได้รับความเดือดร้อนเรื่องราคาน้ำนมดิบที่มีราคาต่ำ ไม่สอดคล้องกับราคาสินค้าอาหารซึ่งเป็นต้นทุนที่ใช้เลี้ยงวัวแพงขึ้น

กลุ่มชุมนุมฯจึงมีการผลักดันให้ขึ้นราคาน้ำนมดิบจนขณะนี้ได้ผ่านขั้นตอนของกรรมการโคนมและผลิตภันฑ์นมเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน จึงขอความอนุเคราะห์ไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเร่งรัดขั้นตอนกระบวนการในเรื่องดังกล่าวเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมโดยเร็วด้วย

12658 g 20220804154707 1
ยื่นหนังสือที่ปรึกษาประธานสภาฯ ขอเร่งรัดปรับขึ้น”ราคาน้ำนมดิบ”

ด้านนายแพทย์สุกิจ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ กลุ่มสมาชิกสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทยประมาณ​ 130​ คน นำโดยนาย นัยฤทธิ์ จำเล ประธานที่ปรึกษาฯ​ แล​ะนายณัฐวัฒน์​ ทองงามขำ เดินทาง​ไปชุมนุม​ที่บริเวณ​กระทรวง​เกษตร​และ​สหกรณ์​ เพื่อ​เรียกร้อง​ให้​ภาค​รัฐ​เร่งรัด​เรื่อง​ปรับ​ราคา​น้ำนม​ให้​เข้า​ตาม​มติ​ ครม.

โดยนายนัยฤทธิ์ ได้​ให้สัมภาษ​ณ์กับ​สื่อมวลชน ​ระบุ​ว่า​ ตัวแทน​รัฐบาล​ได้​ติดต่อ​มา​ว่า​จะมี​การ​จัด​ประชุม​หารือ​ กลุ่มจึง​จัด​ตัวแทน​ 25 คน เพื่อ​เจรจา​หารือ​แนวทาง​การ​แก้ไขปัญหา​ว่า​ทาง​ภาค​รัฐ จะ​นำ​เรื่อง​เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี​ได้​วัน​ไหน​หรือ​ไม่​อย่างไร​ แต่​ถ้าผลการเจรจาหาข้อยุติไม่ได้​ จะยังคงชุมนุมต่อไป​จนกว่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจน​

โดยย้ำวัตถุประสงค์ที่มารวมตัวชุมนุม คือ ต้องการมาเร่งรัดปรับราคาน้ำนม ตามมติประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ด ที่ได้เห็นชอบ 3 มาตรการ ประกอบด้วย

-เห็นชอบปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ หน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบในปี 2565 จากกิโลกรัมละ 17.50 บาทเพิ่มขึ้น กิโลกรัมละ 2.25 บาท เป็นกิโลกรัมละ 19.75 บาท เห็นชอบปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโค หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ในปี 2565 จากกิโลกรัมละ 19 บาท เป็น 20.50 บาท ภาครัฐชดเชยให้ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ 0.75 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 270 ล้านบาท

ต่อมา​กลุ่ม​ตัวแทนมาเพิ่ม​จำนวน​ 40 คน​ จึงได้เข้าประชุม​หารือ​กับ​นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ ภายใน​ห้องประชุม​ 134​ กระทรวงเกษตรฯ ​ซึ่งกลุ่ม​ผู้ชุมนุมต้อง​การ​ให้เรื่องปรับ​ราคา​น้ำนม​ เข้า​ใน​วาระ​การประชุม​ ครม.​ภายใน​วัน​ที่​ 9​ สิงหาคมนี้

ขณะ​เดียวกัน​นายประยูร รับทราบ​ปัญหา​และ​เรื่อง​ดังกล่าว​แล้ว​ พร้อม​แจ้งว่า​ ขณะนี้เรื่อง​อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะสามารถนำเข้าที่ประชุม ครม.ได้ และ​ขอเวลาศึกษารายละเอียด 1-2 สัปดาห์

ทางกลุ่ม​ไม่​พอใจ​กับ​คำ​ตอบที่​ไม่สามารถรับปากได้ว่าจะนำเรื่องเข้า​ ครม.ในวันที่​ 9​ สิงหาคมนี้ได้จึงยืนยันที่จะชุมนุมต่อไป​ และ​ขอเจรจา​กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร​ฯ จนกว่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจน​

โดยก่อนหน้านี้นายนัยฤทธิ์ ระบุว่า โครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียนมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2535 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลยังประกาศประกันราคาน้ำนมดิบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั้งประเทศไทย ต่อมาจากภาวะวิกฤติโรค โควิด -19 ระบาดในประเทศไทย ทำให้ผู้บริโภคมีการบริโภคนมลดลงส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้รับความเดือดร้อนหลาย ๆ ด้าน

ขณะเดียวกันจากภาวะวิกฤตโรคระบาด ยังส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจผันผวนราคาน้ำมันแพง วัตถุดิบอาหารสัตว์มีการปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 30- 40% อาหารหยาบมีการปรับตัวสูงขึ้น ปุ๋ย-ยารักษาสัตว์มีราคาแพงขึ้นตามกลไกการตลาด

ขณะเดียวกันอาหารสำเร็จรูปก็มีการปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นตามนโนบายแห่งรัฐทำให้ต้นทุนการผลิตนมมีต้นทุนสูงขึ้น พร้อมกับค่าครองชีพมีการปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ

จึงส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประสบปัญหาขาดทุน ต้นทุนการผลิตสูง มีรายได้ไม่เพียงพอกับคำใช้จ่าย ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหลายรายต้องล้มเลิกกิจการเลี้ยงโคนม ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้รับความเดือดร้อน