วันที่ 7 มกราคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ได้ทราบรายงานจากกรมปศุสัตว์ว่ายอดส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่ใช้เป็นอาหารของไทยในปี 2565 มูลค่าส่งออกสูงถึง 2.8 แสนล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2566 ยอดส่งออกอาจสูงถึง 3 แสนล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทย ช่วง 11 เดือนของปี 2565 มีมูลค่ารวม 274,822 ล้านบาท คาดการณ์ว่าทั้งปีจะส่งออกได้มูลค่า 280,326 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 19.60 มีปริมาณส่งออกกว่า 2.42 ล้านตัน และสัตว์มีชีวิตอีก 24 ล้านตัว/ฟอง
ทั้งนี้แบ่งการส่งออกเป็น
1) เนื้อสัตว์แช่แข็ง มูลค่า 142,156 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ส่งออกมูลค่า 1.12 แสนล้านบาท หรือ 26%
2) สินค้าที่มาจากสัตว์หรือไม่ได้มาจากสัตว์ (Non-frozen) เพิ่มขึ้นจาก 23,135 ล้านบาท เป็น 25,650 ล้านบาท หรือ 11 %
3) อาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) เพิ่มขึ้นจาก 70,991 ล้านบาท เป็น 90,228 ล้านบาท หรือ 27%
4) อาหารปศุสัตว์ เพิ่มขึ้นจาก 10,471 ล้านบาท เป็น 11,641 ล้านบาท หรือ 11%
5) สัตว์มีชีวิต (ไก่,หมู) ลดลงเหลือ 5,147 ล้านบาท จากปีก่อนที่ส่งออกมูลค่า 13,345 ล้านบาท ลดลง 62%
6) ซากสัตว์ (Non-edible) เพิ่มขึ้นจาก 3,638 ล้านบาท เป็น 5,504 ล้านบาท หรือ 51% โดยถือว่าในปี 2565
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่ากรมปศุสัตว์คาดการณ์ว่า ในปี 2566 การส่งออกสินค้าปศุสัตว์อาจสูงถึง 300,000 ล้านบาท โดยมีสินค้าหลักคือ เนื้อไก่ ที่มีปริมาณความต้องการบริโภคของตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน และสหภาพยุโรป ทำให้การผลิตและการส่งออกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3%
นอกจากนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า อาหารสัตว์เลี้ยงของไทยมีโอกาสเพิ่มทั้งในประเทศและตลาดโลก เนื่องจากอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคฐานตลาดผู้เลี้ยงสัตว์ และมีกระบวนการการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ได้ควบคุมคุณภาพมาตรฐานระบบ GMP และระบบ HACCP ในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก เยอรมนี และสหรัฐฯ
“นายกรัฐมนตรีชื่นชม และขอบคุณการทำงานของทุกหน่วยงาน และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ที่ใส่ใจดูแล ควบคุม คุณภาพ และปัจจัยการผลิตสินค้า จนถึงมาตรการส่งออกสู่ท้องตลาด ให้ได้มาตรฐาน ทำให้สินค้าปศุสัตว์เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับทุกหน่วยงานให้ช่วยกันพัฒนาศักยภาพ ดูแลทุกกระบวนการ เพื่อคุณภาพที่ดีของสินค้า และเป็นภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือที่สำคัญของสินค้าไทย” นายอนุชาฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการที่ประเทศไทยเคยตั้งเป้าเป็นครัวของโลกด้านเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ณ ปัจจุบัน สามารถกล่าวได้ว่าประเทศไทยค่อนข้างมีความพร้อม เพราะทั้งภาครัฐและเอกชนมีนโยบายและความร่วมมือไปในทิศทางเดียวกัน โดยภาครัฐทำหน้าที่วางมาตรฐานการผลิตอาหารคุณภาพ ขณะที่ภาคเอกชนทำหน้าที่พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเพื่อแข่งขันในตลาดโลกไม่ใช่แข่งแต่ประเทศในภูมิภาคนี้เท่านั้น
ตัวอย่างการส่งออกเนื้อไก่ของไทยซึ่งปัจจุบันส่งออกเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยตลาดใหญ่ คือ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (EU) ก็ได้เข้ามาตรวจสอบระบบการผลิตของไทย ตลอดห่วงโซ่การผลิต ไม่ได้ตรวจสอบเฉพาะสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกเท่านั้นแต่ตรวจมาตรฐานการผลิตทั้งประเทศเพราะสินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออกกับบริโภคภายในประเทศจะต้องทำในรูปแบบและวิธีการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอของคุณภาพผลผลิต อันจะสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค สำหรับการผลิตไก่เนื้อของประเทศไทย ณ วันนี้ สามารถกล่าวได้ว่าเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
ดังนั้น ถ้าไทยต้องการเป็นครัวของโลกอย่างแท้จริง ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตต้องมีเป้าหมายเดียวกันและมีความร่วมมือกันอย่างจริงจังทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงต้องมีการพัฒนาเกษตรกรและทุกภาคส่วนที่อยู่ในกระบวนการผลิตให้มีความตื่นตัวและผลักดันไปในทิศทางเดียวเช่นกัน